กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
มหกรรมหนังกลางแปลง “พลังเยาวชนพลเมืองรุ่นใหม่ทำดีเพื่อแผ่นดินเกิด”
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

ศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น เป็นองค์กรหนึ่งในการส่งเสริมสนับสนุนสร้างการเรียนรู้เพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นบนฐานความรู้ภูมิปัญญาและองค์ความรู้ใหม่ผ่านการทำโครงการวิจัยของชุมชนท้องถิ่น (Community Based Research) โดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนท้องถิ่น ทั้งเด็ก เยาวชน ผู้นำชุมชน องค์กรท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทุกระดับ มีข้อค้นพบสำคัญในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น คือ “พลังเยาวชนสร้างสรรค์”ที่มีอยู่ในทุกชุมชน ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการสานต่อเชื่อมงานการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้ เพียงผู้ใหญ่เปิดพื้นที่ เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้การทำกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อชุมชนท้องถิ่นตนเองบนฐานข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง

โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เปิดพื้นที่การเรียนรู้ของเยาวชน ได้คิดเอง ทำเอง และปฏิบัติการโครงการเพื่อชุมชนบนฐานความรู้ผ่านกระบวนการเติมพลังของพี่เลี้ยงหรือ Coach ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อให้เยาวชนสามารถดึงศักยภาพของตัวเองมาใช้เพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นศรีสะเกษ เพราะเราเชื่อว่า“การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการคิดและลงมือทำจริงบนฐานความรู้” โดยมีโจทย์สำคัญที่ท้าทายเพื่อหาคำตอบร่วมกัน คือ จะสร้างการเรียนรู้เพื่อสร้างสำนึกความเป็นพลเมืองให้กับเด็กเยาวชนในชุมชนท้องถิ่นศรีสะเกษได้อย่างไร และ พลเมืองศรีสะเกษจะเป็นพลังพลเมืองแห่งการตื่นรู้ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นบนฐานความรู้ภูมิปัญญาที่สร้างสรรค์ได้อย่างไร

­

กระบวนการสร้างการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองเยาวชนรุ่นใหม่จังหวัดศรีสะเกษนี้ ไม่เพียงเป็นการสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนเท่านั้น ยังเป็นการสร้างการเรียนรู้ กับพี่เลี้ยง ที่ปรึกษา ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน องค์กรท้องถิ่น ที่เป็นพลังพลเมืองผู้ใหญ่ ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กเยาวชน ได้เรียนรู้ พัฒนาตนเองผ่านการทำโครงการของเด็กเยาวชนในพื้นที่ไปพร้อมกัน เริ่มตั้งแต่กระบวนการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจร่วมกัน การพัฒนาข้อเสนอโครงการ การศึกษาข้อมูลความรู้ในชุมชน การปฏิบัติการรูปธรรมบนฐานข้อมูลความรู้ การสรุปบทเรียน และการสื่อสารสู่สาธารณะ ซึ่งในระหว่างกระบวนการสร้างการเรียนรู้นี้ มีการเติมเต็มเสริมสร้างแนวคิดสำนึกความเป็นพลเมือง เพื่อให้เด็กเยาวชนมีคุณลักษณะเยาวชนพลเมืองที่ดี สำนึกรักท้องถิ่น สานึกความเป็นพลเมือง คิดวิเคราะห์เชื่อมโยงได้ ใช้ข้อมูลความรู้ในการทำงาน รู้จักตนเอง มีทักษะการจัดการโครงการ มีการทำงานร่วมกันเป็นทีมรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น กล้าแสดงออกในทางที่สร้างสรรค์ รู้เท่าทันสื่อและเป็นแกนนำพัฒนาชุมชนท้องถิ่นแผ่นดินเกิดของตนเอง และการเสริมสร้างแนวคิดกระบวนการการทำงานพัฒนาเยาวชน (Active citizen) ของที่ปรึกษา/พี่เลี้ยงโครงการเยาวชนใน

พื้นที่ เพื่อให้ผู้ใหญ่ เปิดพื้นที่ เปิดโอกาสให้เด็กเยาวชนได้เรียนรู้จากการลงมือทำจริง ชีวิตจริง ในพื้นที่จริงของชุมชน ในลักษณะที่เด็กเยาวชนเป็นผู้ทำ ผู้ใหญ่เป็นผู้หนุนและร่วมสร้างคนพลเมืองรุ่นใหม่เพื่อชุมชนที่เข้มแข็งร่วมกัน

­

ผลจากกระบวนการเรียนรู้ในการดำเนินโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ปีที่ 3 นี้ ซึ่งมีกลุ่มเยาวชน อายุระหว่าง 14 –25 ปี ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ 6 อำเภอ จำนวน 147 คน เข้าร่วมดำเนินโครงการเพื่อชุมชนตนเอง โดยแบ่งออกเป็น 3 โซนพื้นที่ ประกอบด้วย 1) โซนขุนหาญ (อำเภอขุนหาญ)จำนวน 4 โครงการ 2) โซนปรางค์กู่-ขุขันธ์ (อำเภอปรางค์กู่ และอำเภอขุขันธ์) จำนวน 9 โครงการ และ 3) โซนห้วยเมืองสัย (อำเภอห้วยทับทัน อำเภอเมือง อำเภออุทมพรพิสัย) จำนวน 5 โครงการ และแบ่งเป็น 3 ประเด็นตามการทำโครงการเพื่อชุมชนของกลุ่มแกนนำเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ประกอบด้วย 1) ประเด็นโครงการด้านวัฒนธรรมภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นศรีสะเกษ 7 โครงการ 2) ประเด็นโครงการด้านสัมมาอาชีพชุมชนท้องถิ่นศรีสะเกษ 6 โครงการ 3) ประเด็นด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมชุมชนท้องถิ่นศรีสะเกษ 5 โครงการ ก่อเกิดเป็นพลังเยาวชนพลเมืองรุ่นใหม่ (Active Citizen) ที่เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนสังคมท้องถิ่นศรีสะเกษ และก่อให้เกิดกลไกกลุ่มแกนนำพลังพลเมืองเยาวชนรุ่นใหม่ที่ไม่นิ่งดูดายทั้งในระดับชุมชน โซนพื้นที่ และ รักและหวงแหนถิ่นฐานบ้านเกิด เป็นพลังสำคัญ เป็นพลังพลเมืองแห่งการตื่นรู้ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นบนฐานความรู้ภูมิปัญญาที่สร้างสรรค์ ร่วมสร้างสังคมท้องถิ่นศรีสะเกษให้น่าอยู่ร่วมกันทั้งในระดับชุมชน โซนพื้นที่ และระดับจังหวัด ในการอนุรักษ์ สืบทอด ภูมิปัญญาวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น เช่น การละเล่นดนตรีสะเองเสนงกวย การละเล่นดนตรีกันตรึม การสืบค้นจัดเก็บข้อมูลความรู้รู้ประวัติศาสตร์ชุมชนสร้างการเรียนรู้ผ่านเศษผ้า การสืบทอดภาษาท้องถิ่นชาวกวยโทร๊ะอึมเพิ๊ต การสืบค้นคุณค่าความเชื่อและความศรัทธาของชุมชนที่มีต่อปราสาทตาเล็งเพื่อหาจุดร่วมและสร้างพลังการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นศรีสะเกษร่วมกัน การฟื้นฟูภูมิปัญญาและการสืบทอดวิถีการหาอยู่หากินบนฐานทรัพยากรในชุมชน เช่น การเพาะพันธุ์และเลี้ยงปลาดุก การเลี้ยงไก่ไข่ การแปรูปหัวปลาเหลือทิ้งจากการทำปลาร้าเป็นหัวอาหารไก่ การทำมะพร้าวเผา การทำไม้กวาดจากทางมะพร้าว การทอเสื่อกก การทอผ้าไหมโซดละเว การทอผ้าไหมลายลูกแก้ว ซึ่งสามารถสร้างอาชีพและรายได้ของกลุ่มแกนนำเยาวชนแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวและชุมชนที่อยู่บนฐานระบบคุณค่าและนำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่นศรีสะเกษ และ การอนุรักษ์สืบทอดภูมิปัญญาการจัดการทรัพยากรป่าไม้ชุมชน การจัดการขยะในป่าชุมชน และการเรียนรู้สมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองด้านการดูแลรักษาสุขภาพของคนในชุมชนท้องถิ่นศรีสะเกษ ทั้งนี้ในการดำเนินการที่ก่อให้เกิดผลดังกล่าวได้มีภาคีเครือข่ายร่วมสร้างที่สำคัญทำบทบาทเป็นพี่เลี้ยง ที่ปรึกษา หรือโค้ชในการสร้างการเรียนรู้ร่วมที่มาจาก ผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง ครู/อาจารย์โรงเรียนในพื้นที่ และในมหาวิทยาลัย พระสงฆ์ ปราชญ์ผู้รู้ เจ้าหน้าที่องค์กรท้องถิ่น(อบต. เทศบาล) เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน รวม จำนวน 31 คน ซึ่งทำให้เกิดกลไกพี่เลี้ยงทำงานเยาวชนในระดับพื้นที่ ที่มีเป้าหมาย ในการหนุนช่วยกันและกันในการพัฒนาเยาวชนในพื้นทีศรีสะเกษร่วมกัน

­

มหกรรมหนังกลางแปลง “พลังเยาวชนพลเมืองรุ่นใหม่ทำดีเพื่อแผ่นดินเกิด” โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ปี 3 มีเป้าหมายสร้างการเรียนรู้ร่วมภาคีเครือข่ายในการพัฒนาแนวใหม่ที่มีเยาวชนเป็นฐานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยการสร้างการเรียนรู้ผ่านผลงานรูปธรรมการทำโครงการเพื่อชุมชนท้องถิ่นศรีสะเกษ ในรูปแบบนิทรรศการมีชีวิต เกมส์การเรียนรู้ การแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นศรีสะเกษ เวทีเสวนา และการฉายหนังกลางแปลง พลังและคุณค่าการทำโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ 15 เรื่อง โดยกลุ่มแกนนำเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ทั้งนี้เพื่อให้ภาคีเครือข่ายผู้เข้าร่วม ได้ร่วมคิด เปิดมุมมอง เข้าใจ เห็นความสำคัญในกระบวนการวิธีการพัฒนาพลเมือง

­

เยาวชนรุ่นใหม่ เกิดพลังการมีส่วนร่วมภาคีเครือข่ายในการเปิดพื้นที่ เปิดโอกาส สนับสนุนให้เยาวชนได้เรียนรู้ คิดเอง ทำเอง ผ่านการทำโครงการเพื่อชุมชนที่ต่อเนื่อง และสร้างกำลังใจให้เยาวชนเกิดความภาคภูมิใจ เห็นพลังและคุณค่าในตนเอง เชื่อมโยงตนเองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนท้องถิ่น เกิดสำนึกความเป็นพลเมือง ร่วมสร้างชุมชนสังคมท้องถิ่นศรีสะเกษให้น่าอยู่ร่วมกัน 

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

https://www.facebook.com/events/1566864333408153/1570093836418536/?notif_t=plan_mall_activity¬if_id=1512230200081389

"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ