ป่าชุมชนเฉลิมพระเกียรติบ้านควนยูง หมู่ที่ 4 ตำบลขุนทะเล อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีเนื้อที่ 52 ไร่ ภายในป่ามีระบบนิเวศน์หลากหลายทั้งพันธุ์ไม้ พันธุ์สัตว์ และ พืชสมุนไพร ซึ่งพันธุ์ไม้ที่พบมีทั้งไม้หายากและไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้หลุมพอ ไม้ยางนา ไม้ตะเคียน ไม้พะยูง บางต้นมีขนาดใหญ่ประมาณ 3-4 คนโอบ มีเส้นรอบวงตั้งแต่ 1.2 เมตร ถึง 5 เมตร สัตว์ที่พบในผืนป่ามีทั้งลิงกัง งู ผึ้ง กระรอก และนกอีกหลายสายพันธ์ พืชสมุนไพรหายากที่พบอีกกว่า 50 ชนิด ผืนป่าแห่งนี้ถือเป็นแหล่งผลิตและกักเก็บน้ำที่สำคัญของชุมชน เพราะน้ำจากป่าได้ไหลลงสู่สระน้ำขนาดใหญ่ของหมู่บ้าน
จากความสมบูรณ์ของผืนป่า ทำให้คนในชุมชนกว่า 4,000 ครัวเรือน ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยการอุปโภค บริโภค บางคนอาศัยหาของป่าขาย เช่น หน่อไม้ พืชผัก จับผึ้ง(น้ำผึ้ง) บางคนใช้ประโยชน์โดยการหาพืชสมุนไพรเพื่อนำไปรักษาโรค นอกจากนี้ป่าชุมชนบ้านควนยูงยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญให้เยาวชน และผู้สนใจทั้งในและนอกชุมชนได้มาศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
ด้วยเป็นพื้นที่ป่าใกล้เมือง ทำให้คนกลุ่มต่างๆ และหน่วยงานมีความสนใจจะใช้พื้นที่ป่าเพื่อสร้างประโยชน์ทั้งส่วนรวมและส่วนตน ซึ่งในปี 2553 มีบริษัทใหญ่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้นำเครื่องจักรพร้อมคนงานลงมายังพื้นที่ป่าเพื่อเตรียมไถกวาดผืนป่า สำหรับปลูกปาล์มน้ำมันตามโครงการปลูกพืชพลังงานทดแทน
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ก่อเกิดแกนนำกลุ่มอนุรักษ์รวมตัวกันเพื่อศึกษาติดตามสถานการณ์ปัญหาร่วมระดมความคิดเห็นของคนในชุมชน หลังจากนั้นจึงนำข้อคิดเห็นและสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นไปปรึกษากับท่านเจ้าอาวาสวัดศานติไมตรี เพราะถือได้ว่าท่านเจ้าอาวาสเป็นผู้ที่คนในชุมชนให้ความเคารพนับถือ และท่านเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติมาก ซึ่งท่านได้ให้แนวคิดกับกลุ่มแกนนำในเรื่องธรรมที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและเน้นย้ำว่าธรรมะคือธรรมชาติ เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันเราจึงควรช่วยกันดูแลรักษาป่าไว้
เมื่อได้แนวความคิดจากท่านเจ้าอาวาสและคนในชุมชนซึ่งส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการทำลายป่าผืนนี้ ดังนั้นทางกลุ่มแกนนำอนุรักษ์จึงได้ดำเนินการเพื่อยุติโครงการดังกล่าว โดยได้เข้าร่วมลงรายชื่อ และต่อรองขอเจรจากับนิคมสร้างตนเองขุนทะเลซึ่งรับผิดชอบดูแลผืนป่าอยู่ในขณะนั้น รวมถึงยื่นหนังสือไปยังหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อขออนุรักษ์พื้นที่ป่าแห่งนี้ และขอให้มีการยุติโครงการ แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ยังยืนยันว่าไม่สามารถยุติโครงการดังกล่าวได้ ดังนั้นประธานกลุ่มอนุรักษ์และแกนนำชุมชนจึงได้ดำเนินการเรียกร้องผ่านสื่อมวลชนและยื่นหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ของคนในชุมชนที่จะช่วยกันดูแลอนุรักษ์ป่าผืนสุดท้ายของชุมชนให้อยู่คู่ชุมชนและเรียกร้องให้หยุดการทำลายผืนป่าโดยขอให้ยุติโครงการดังกล่าว
จากกระบวนการต่อสู้เพื่อดูแลผืนป่าของกลุ่มแกนนำอนุรักษ์และคนในชุมชน ทำให้โครงการทำลายป่าผืนนี้ถูกระงับไป ปัจจุบันป่าชุมชนเฉลิมพระเกียรติบ้านควนยูง ได้อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 66 นิคมสร้างตนเองขุนทะเล ตลอดการดำเนินกิจกรรมการอนุรักษ์ป่าบ้านควนยูง กลุ่มแกนนำอนุรักษ์ได้มีโอกาสพาเยาวชน ซึ่งเป็นลูกหลานในชุมชนเข้าร่วมกิจกรรมด้วยบ่อยครั้ง ทำให้เยาวชนได้เห็นบทบาทการทำงานของกลุ่มแกนนำ และได้มีส่วนช่วยในการดำเนินงานของกลุ่มอนุรักษ์อยู่เสมอ จึงทำให้มีความสนใจอยากจะร่วมดูแลรักษาป่าของชุมชนไว้ให้อยู่คู่ชุมชนต่อไป
“กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ป่ายูงทอง” เป็นกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัด สุราษฎร์ธานี จัดตั้งกลุ่มขึ้นเมื่อปี 2554 เพื่อดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ป่าร่วมกับแกนนำอนุรักษ์ในชุมชน เช่น กิจกรรมศึกษาต้นไม้ในป่าชุมชน กิจกรรมปลูกป่า กิจกรรมบวชป่า กิจกรรมจัดทำเส้นทางเรียนรู้ในป่า กิจกรรมสำรวจพันธ์สมุนไพร กิจกรรมค่ายอนุรักษ์ป่า กิจกรรมค่ายเรียนรู้ป่าชุมชนกับโลกร้อน
. วัตถุประสงค์:
3.1 เพื่อให้คนในชุมชนทราบถึงจำนวน ชนิดของพันธ์ไม้ ประโยชน์และสรรพคุณของพันธ์พืชในป่าชุมชน
3.2 เพื่อให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าในเชิงเศรษฐกิจของป่าชุมชน