กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
ยุวชนจิตอาสา โรงเรียนวัดโพธิ์ทอง
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

 ยุวชนจิตอาสา โรงเรียนวัดโพธิ์ทอง

ตำบลโพธิ์เสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ความเป็นมาของกลุ่ม

เกิดจากนักเรียนศิษย์เก่ารุ่นพี่และรุ่นน้องได้จัดงานเลี้ยงรุ่นคืนสู่เย้าที่จบไปจากโรงเรียนวัดโพธิ์ วันที่ 2 สิงหาคม 2550 จากการพูดคุยกันในงานเลี้ยงรุ่นมีความคิดว่าน่าจะอุทิศเวลาว่างเพื่อการทำสิ่งที่ดีๆตอบแทนสังคมโดยการทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อสังคม และกิจกรรมแรกที่ทำคือเก็บยะในชุมชน กิจกรรมนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีอาจารย์ประพงษ์ ชูตรัง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโพธิ์ทอง ที่อุทิศเงินและแรงเพื่อให้เยาวชนได้ทำกิจกรรมจิตอาสา และเมือทางโรงเรียนวัดโพธิ์ทองได้มีกิจกรรมทุกครั้งศิษย์เก่าเหล่านี้ก็จะเข้าไปร่วมช่วยด้วยทุกครั้ง

จากนั้นในช่วงปี 2551 ทางโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้เยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส) ก็เข้ามาช่วยในเรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเยาวชน และในช่วงต้นปี 2552 ทางโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้เยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ได้เข้ามาร่วม ก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของพี่เลี้ยงที่จะมาทำกิจกรรมกับเยาวชนในชุมชน เนื่องจากพี่เลี้ยงที่ได้มาทำกิจกรรมกับเยาวชนในระยะที่ผ่านมาเมื่อเข้ามาทำกิจกรรมกับเยาวชนได้สักระยะหนึ่งก็จะหายไปหรือหยุดกิจกรรมไป ก็สืบเนื่องมาจากพี่เลี้ยงไม่มีเครื่องมือที่จะมาเล่นกับเยาวนมากพอจึงทำให้กิจกรรมของเยาวชนไม่มีความต่อเนื่อง

ทางโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้เยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค  จึงได้จับมือกับองค์การบริหารส่วนตำบลต่างๆได้จัดทำโครงการ “พัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนในการเป็นผู้จัดการเรียนรู้ในท้องถิ่น” โดยโครงการนี้จะคัดแกนนำเยาวชนไปพัฒนาศักยภาพต่อยอดความสามารถทางด้านเครื่องมือ ความคิดและด้านภายในจิตใจ เพื่อจะได้กลับมาพัฒนาถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง ซึ่งทาง สรส.ได้เห็นศักยภาพของนายณัฐวุฒิ  จิตรโภชน์ (น้องแต้ม)ซึ่งเป็นแกนนำของกลุ่มยุวชนจิตอาสาวัดโพธิ์ทอง จึงได้นำพามาเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ด้วย

 

“การสร้างพลังกลุ่ม การทำงานเป็นทีม ภาวะผู้นำ” ระหว่างวันที่ 19 - 21 มิถุนายน 2552

· การสร้างความไว้วางใจในหลากหลายมิติ ทั้งในแง่ความไว้วางใจต่อเพื่อนร่วมงาน ความศรัทธาต่อการเรียนรู้เพื่อเติบโตของตนเอง

· การสร้างระบบการสื่อสารที่สร้างสรรค์และเพียงพอ ศึกษาทั้งในแง่ปัญหา สาเหตุและทางออกรวมทั้งฝึกฝนทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพหลายทาง โดยเฉพาะทักษะการรับฟังอย่างลึกซึ้ง เพื่อจับประเด็นเนื้อหาสาระของเรื่อง และเพื่อเข้าถึงความรู้สึกของคนอื่น

· กิจกรรมเพื่อเข้าถึงบุคลิกภาพทั้งตนเองและผู้อื่น เพื่อเข้าใจและยอมรับตนเองและผู้อื่นได้มากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารคนและบริหารงานที่เหมาะสม

· ความเข้าใจเรื่องความหมายและลักษณะของผู้นำหลายรูปแบบ ภาวะผู้นำหรือคุณสมบัติที่ดีของผู้นำ คืออะไร และจะสร้างสรรค์ภาวะผู้นำขึ้นได้อย่างไร

· ฝึกฝนการผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์ด้วยดนตรีบำบัด และการฝึกฝนการทำสมาธิ ภาวนา เพื่อแปรเปลี่ยนด้านในของชีวิต

· เรียนรู้หลักการ ทฤษฎีที่อยู่เบื้องหลังของการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของความเป็นมนุษย์ที่แท้

 

“การฟัง พูด อ่าน เขียนเพื่อเรียนรู้ชีวิต” ระหว่างวันที่ 3 - 5 กรกฎาคม 2552

· ฝึกการคิด อ่าน เขียน และสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้

· ฝึกการตั้งคำถาม การระดมความคิดเห็น

 

“การรู้จักตนเอง รู้จักชุมชน และฝึกฝนทักษะวิทยากรกระบวนการ”ระหว่างวันที่ 7-9 สิงหาคม 2552

· ทักษะการวิเคราะห์ตนเอง และรู้จักตนเองผ่านเครื่องมือที่หลากหลาย

· ทักษะการจับประเด็น

· ทักษะการคิดแบบเชื่อมโยง

· ทักษะการเขียน

และเมื่อเสร็จสิ้นโครงการแล้วน้องแต้มก็สามารถเป็นนักจัดกระบวนการเยาวชนที่ดีให้กับตำบล เขาสามารถนำเยาวชนในชุมชนตำบลทำกิจกรรมดีๆที่มีคุณค่าต่อตนเองและสังคม และแล้วน้องแต้มก็ไม่รอช้า หลังจากเสร็จสิ้นค่ายครั้งนี้แล้วน้องแต้มก็ทำการจัดค่ายให้กับเพื่อนๆในกลุ่มยุวชนจิตอาสาโพธิ์ทอง มีชื่อค่ายครั้งนี้ว่า “ค่ายพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนจิตอาสาโพธิ์ทอง” โดยการใช้ความรู้ความสมารถเครื่องมือที่ได้จากค่าย “พัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนในการเป็นผู้จัดการเรียนรู้ในท้องถิ่น” มาถ่ายทอดให้กับเพื่อนแกนนำกลุ่มยุวชนจิตอาสาโพธิ์ทอง ได้รับเครื่องมือความรู้ใหม่ๆที่ได้ศึกษามา จากนั้นแกนนำเยาวชนกลุ่มนี้ก็ได้พัฒนาความสามารถ และความถี่ของการทำกิจกรรมมาเรื่อยๆ

จากนั้นโครงส่งเสริมการจัดการความรู้เยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ก็ได้เริ่มโครงการ “คิดดี ทำดี เพื่อตนเอง ครอบครัว และชุมชน”เนื่องจากได้เล็งเห็นแล้วว่าเยาวชนหลายคนที่ได้ทำกิจกรรมดีๆเพื่อชุมชน สังคมบางครั้งลืมคิดหรือตระหนักถึงความรู้สึก หรือลืมทำสิ่งดีๆให้กับครอบครัวของตนเอง ดังนั้นโครงการนี้จึงมุ่งเน้นให้เยาวชนได้คิดทำสิ่งดีๆที่มีคุณค่าแก่ตนเอง ครอบครัว ชุมชน โดยผ่านโครงการย่อยที่เยาวชนอยากจะทำหรือร่วมกันคิดกันขึ้นมาว่าเขาจะทำอะไร ทาง สรส. จึงจับมือกับองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์เสด็จจัดทำโครงการ “คิดดี ทำดี เพื่อตนเอง ครอบครัว และชุมชน” โดยโครงการนี้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์เสด็จเป็นเจ้าภาพหลักในการทำกิจกรรมร่วมทั้งงบประมาณตลอดโครงการ โดยที่ทาง สรส.เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงร่วมจัดซึ่งจะมีบทบาทในด้านการสนับสนุนงบประมาณบางส่วน โดยจะสนับสนุนด้านการพัฒนาศักยภาพของเยาวชน 3 ค่าย

กลุ่มเยาวชนจิตอาสาโพธิ์ทองก็ส่งโครงการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ด้วย ในตอนแรกได้ส่งเข้าร่วม 1 โครงการ แต่เนื่องจากมีเยาวชนในตำบลโพธิ์เสด็จเข้าร่วมแค่ 3 โครงการหรือ 3 กลุ่มเท่านั้นเอง ซึ่งน้อยเกินไป ทางองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์เสด็จจึงให้กลุ่มยุวชนจิตอาสาโพธิ์ทองทำการส่งทีมเข้าร่วมค่ายในครั้งนี้เพิ่มอีก เนื่องจากทางกลุ่มยุวชนจิตอาสาโพธิ์มีสมาชิกมาก จึงสามารถส่งเข้าร่วมได้หลายทีม  โดยใช้แกนนำหลักอย่าง นางสาวอาทิตยา  รอดรังนก (น้องฟ้า) นายณัฐวุฒิ  จิตรโภชน์ (น้องแต้ม) นางสาวอนุณรัตน์  รอดรังนก (น้องเฟิร์น) นายวีรยุทธ  จันทรประเสริฐ (น้องต้น) ประสมประสานกันกับองๆภายในกลุ่ม โครงการที่เยาวชนจิตอาสาโรงเรียนวัดโพธิ์ทองส่งไปนั้นมี

1.โครงการเก็บขยะในชุมชน

2.โครงการธนาคารขยะ

3.โครงการกระปุกออมใจ

ซึ่งทั้งสามโครงการนี้เป็นทุนฐานเดิมที่ทางกลุ่มเยาวชนจิตอาสาโรงเรียนวัดโพธิ์ทองทำอยู่แล้ว แต่การเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ ทั้งสามกลุ่มก็ได้พัฒนาต่อยอดโครงการ เช่นกลุ่มธนาคารขยะก็ได้มีการนำขยะที่ขายไม่ได้มาประดิษฐ์เป็นของใช้ทำเป็นแจกันดอกไม้ ดอกไม้จากกระป๋องพลาสติก และมีกระบวนการทำงานที่เป็นระบบมากยิ่งขึ้น โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติงานดังนี้

1.นัดประชุมสมาชิกในกลุ่ม

2.ลงพื้นที่สำรวจ

3. ชี้แจงแบ่งงาน

4. ปฏิบัติงานเก็บขยะทั้งหมดทุกชิ้นไม่เลือกชนิดของขยะ

5. คัดแยกขยะ ขยะที่ขายได้ก็นำไปขาย ส่วนที่ขายไม่ได้ก็นำมารีไซเคิล

6. ประชุมวางแผนกิจกรรมครั้งต่อไป ซึ่งการประชุมจะสอบถามจากสมาชิกว่าถนนสายไหนมีขยะมากก็จะได้พื้นที่การทำงานในครั้งต่อไป

ส่วนในเวลาว่างเยาวชนจะมาช่วยกันทำสิ่งประดิษฐ์ที่ทำจากหลอดน้ำแข็ง และจากขวดพลาสติก เริ่มแรกเยาวชนก็ทำกันเองปรากฏว่าชิ้นงานที่ทำออกมาไม่สวยเท่าที่ควร ก็ได้ไปเชิญอาจารย์ที่มีความรู้จากโรงเรียนโพธิ์เสด็จมาให้ความรู้ทำให้สิ่งประดิษฐ์ออกมาสวยงามกว่าเดิม หลังจากการทำกิจกรรมเยาวชนก็ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจความพึงพอใจ ผลปรากฏว่าในชุมชนที่ได้ไปเก็บขยะมีขยะลดลง เพราะว่าชาวบ้านไม่กล้าทิ้งขยะเนื่องจากชาวบ้านเกิดความสงสารเด็กๆที่มาทำการเดินเก็บ 

ปัญหาและอุปสรรคที่พบระหว่างทำกิจกรรม การเตรีมอุปกรณ์ไปทำความสะอาดหรือไปเก็บขยะไม่เพียงพอ แก้ปัญหาโดยการเตรียมอุปกรณ์ไว้ล่วงหน้าหนึ่งอาทิตย์ ปัญหาเรื่องของขยะจำพวกขวดแก้วที่ได้ใส่ไว้ก้นถุงดำเมื่อเยาชนทำการลากถุงดำทำให้ขวดแก้วแตกและเกิดบาดเท้าของเยาวชน จึงทำให้เยาวชนได้คิดแก้ปัญหาโดยการไม่ใส่ขนยะชนิดขวดแก้วไว้ก้นถุงดำและห้ามไม่ให้ลากถุงดำโดยเด็ดขาด

บทบาทของผู้ปกครอง เมื่อเยาวชนไปทำกิจกรรมเยาวชนก็จะนำเรื่องราวที่ได้ไปทำมาเล่าให้กับผู้ปกครองฟังว่าได้ไปทำอะไรมาบ้างเกิดผลอะไรบ้าง และก็มีอาจารย์ประพงษ์  ชูตรังไปด้วนทุกครั้ง ผู้ปกครองจึงอนุญาตให้เยาวชนไปทำกิจกรรมโดยไม่มีข้อสงสัย และผู้ปกครองของเยาวชนคนก็ไปร่วมทำกิจกรมจิตอาสาด้วย

ระบบการจัดการกลุ่ม  เยาวชนในกลุ่มอยู่กระจัดกระจายกันทั้งตำบล เริ่มแรกก็มีพี่เลี้ยงแกนนำอยู่ 4-5 ที่คอยตามประสานกับเยาวชนในกลุ่มมาร่วมทำกิจกรรมหรือมาประชุมกลุ่ม ทำให้บางครั้งก็ไม่ทั่วถึงกับเยาวชนในกลุ่มทุกคนซึ่งก็จะทำให้เสียเวลาด้วย จึงได้คิดหาวิธีการในการจัดการเรื่องของการประสานเยาวชนภายในกลุ่มขึ้นมาใหม่คือการแบ่งโซนบ้านของเยาวชนในละแวกเดียวกันซึ่งแบ่งได้เป็น 6 โซน ซึ่งแต่ละโซนก็จะมีผู้รับผิดชอบในการประสานงานอยู่อย่างน้อยโซนละหนึ่งคน และในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์  สมาชิกของกลุ่มเยาวชนจิตอาสาโพธิ์ทองจะมาทำการประชุมพูดคุยที่ศูนย์เด็กเล็กวัดโพธิ์ทองซึ่งตั้งอยู่ติดกับโรงเรียนวัดโพธิ์ทอง โดยมีนางสาวอรุณรัตน์  รอดรังนก (น้องเฟิร์น) เป็นขาประจำในการนำประชุม

          สำหรับการประชุมในแต่ละครั้งถ้ามีโครงการที่เยาวชนอยากจะทำเยาวชนก็จะนำโครงการไปเสนอต่อ ผอ.ประพงษ์  ชูตรัง ทุกครั้งก่อนที่จะนำมาทำ ซึ่งอาจารย์ก็เป็นที่ปรึกษาที่ดีให้กับเยาวชน

 

ปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงของเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม

          มีการคิดพัฒนาต่อยอดของประดิษฐ์จากขยะซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง และยังส่งผลให้เกิดความกล้าแสดงออกมายิ่งขึ้น มีจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น รู้จักการนำสิ่งที่เหลือให้มาทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด บางคนได้นำแนวความคิดจาการร่วมทำโครงการจิตอาสาภายในกลุ่มไปใช้กับสถานศึกษาโดยเริ่มจากตนเองได้นำกระสอบจากที่บ้านไปเก็บกระป๋องน้ำที่โรงเรียน ทำให้เป็นที่สงสัยของเพื่อนๆ เมื่อได้เข้าไปถามว่าเก็บไปทำไมเขาเลยตอบเพื่อนๆ ว่าเก็บไปขายเพื่อจะได้นำเงินมาเป็นกองทุนของห้องเรียนของเราไง เพื่อนๆ จึงนำเรื่องดังกล่าวไปเสนอกับประธานนักเรียนจากนั้นก็ให้มีการจัดตั้งเป็นโครงการธนาคารขยะประจำโรงเรียนขึ้นมา เยาวชนคนนี้ก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นกรรมการอยู่ในโครงการนี้ด้วย

การขยายเครือข่ายของกลุ่มเยาวชนจิตอาสาโรงเรียนวัดโพธิ์ทอง ทางกลุ่มเยาวชนจิตอาสาโรงเรียนวัดโพธิ์ทองมีการขยายเครือข่ายด้านการทำงานจิตอาสาไปยังกลุ่มเยาวชนที่ไม่ได้เรียนอยู่ที่โรงเรียนวัดโพธิ์ทองมาก่อน โดยการชักชวนให้มาดูกิจกรรมที่พวกเขาทำก่อน เพื่อที่จะให้เพื่อนได้เห็นบทบาทการทำงานวิธีการทำงานของกลุ่มยุวชนจิตอาสาโพธิ์ทอง

กิจกรรมจิตอาสานอกชุมชน   นอกเหนือจากกิจกรรมด้านจิตอาสาที่ทางกลุ่มได้ทำให้กับชุมชนของตนเองแล้วนั้นทางกลุ่มเยาวชนก็ได้ทำกิจกรรมจิตอาสาให้กับสถานที่หรือกลุ่มเยาวชนที่อยู่นอกตำบลโพธิ์เสด็จอีกด้วยเช่นการไปเก็บขยะตามชายหาดที่อำเภอหัวไทร การเดินกล่องหาเงินเพื่อบริจาคให้กับกลุ่มชาวเอติอีกด้วย นี้ก็เป็นกิจกรรมบางส่วนเท่านั้นเอง

ผู้ใหญ่ใจดี  ต.โพธิ์เสด็จ

ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จการทำกิจกรรมของเยาวชนที่ขาดไม่ได้ คือพี่เลี้ยงหรือผู้ใหญ่ใจดีที่คอยให้การสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมของเยาวชนอย่างต่อเนื่องพี่เลี้ยงหรือผู้ใหญ่ใจดีเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนงานของเยาวชนที่จะคอยเชื่อมต่อกับแหล่งทุนและพาไปศึกษาดูงาน  ตามแหล่งเรียนรู้ต่างๆ

          ผู้ใหญ่ใจดีคนสำคัญของตำบลโพธิ์เสด็จก็คือ อาจารย์ประพงษ์ ชูตรัง  เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโพธิ์ทอง  ซึ่งผู้เริ่มขับเคลื่อนงานเด็กและเยาวชนตั้งแต่เริ่ม  บทบาทของ อาจารย์ประพงษ์ ชูตรัง   คือชักจูง  แนะนำ ให้คำปรึกษา  สร้างแรงจูงใจ  และให้การสนับสนุนในทุกๆ ด้าน

          การขับเคลื่อนงานเยาวชนในช่วงแรกเริ่มจากทำในโรงเรียนก่อน  จากนั้นเมื่อศิษย์เก่าเห็นก็เข้ามาร่วมเพราะเขาเห็นว่าในสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์และเริ่มมีเพื่อนๆ ต่างโรงเรียนที่เห็นก็เข้ามาร่วมด้วย  ก็เกิดการมีส่วนร่วมกันทั้งสามฝ่าย  คือ โรงเรียน ศิษย์เก่า และเยาวชนในชุมชน  โรงเรียนโพธิ์ทองจะแตกต่างกับโรงเรียนอื่นๆ เนื่องจากโรงเรียนทั่วไป  เราจะเห็นว่าเมื่อเรียนจบไปแล้วก็น้อยคนที่จะกลับเข้ามาทำกิจกรรมในโรงเรียนเก่า 

 แต่โรงเรียนโพธิ์ทอง อาจารย์ประพงษ์ ชูตรัง   จะสร้างความผูกพันกับนักเรียนอยู่ตลอด  โดยการที่ต้องเป็นครูด้วยจิตวิญญาณ  ไม่ใช่เป็นครูด้วยหน้าที่  ต้องเป็นครูของเด็กทุกคน  ทุกสถานที่และสอนด้วยการปฏิบัติ ไม่ใช่สอนๆ สิ้นเดือนก็รับเงินเดือนแล้วจบลงแค่นั้น  ด้วยเห็นผลนี้จึงทำให้โรงเรียนโพธิ์ทองเป็นโรงเรียนมีชีวิต  ไม่มีวันปิด  จะมีเด็กเข้ามาเล่นมาเรียนทุกวัน  หลังเลิกเรียนก็จะเล่นอยู่ในโรงเรียน  ก่อนจะกลับบ้านเหมือนกับว่าเขามีความสุขที่ได้อยู่ในโรงเรียนโพธิ์ทอง  อีกส่วนหนึ่งที่ยังดึงเด็กอยู่คือสายสัมพันธ์ของครูกับศิษย์  และเวทีคุยจะใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการพูดคุย  พร้อมกับต้องสร้างโอกาสให้กับเยาวชนบ่อยๆ

          การประสานงานระหว่าง อาจารย์ประพงษ์ ชูตรัง กับเยาชนก็จะมีพวกศิษย์เก่า รุ่นพี่ ช่วยบอกกันปากต่อปาก  โดยไม่ได้มอบหมายว่าเป็นหน้าที่ของใคร  แต่มันจะเป็นระบบอยู่ในตัวอยู่แล้ว

          ภาพฝันกับกลุ่มเยาชนของ อาจารย์ประพงษ์ ชูตรัง  คือเรื่องจิตอาสาต้องทำประโยชน์กับคนอื่นโดยไม่ต้องให้ใครมาสั่ง  แต่ต้องอยู่ในจิตสำนึกของเยาวชนทุกคน  ต้องเป็นคนเสียสละ  ถึงขยะชิ้นนั้นเราไม่ได้เป็นคนทิ้งแต่เราก็ต้องเก็บ  และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกๆคน ที่มีจิตอาสาเหมือนกัน  เพื่อขยายเครือข่ายจิตอาสาให้เพิ่มมากขึ้น

          อาจารย์ประพงษ์ ชูตรัง  มองว่าการทำงานร่วมกับ อบต.ให้เกิดความอึดอัดเพราะต้องทำภายใต้กรอบของ อบต.ซึ่งแตกต่างกับที่กลุ่มอาสาโพธิ์ทองทำกันเอง มันเหมือนกับกิจกรรมของเยาวชนยังใหม่สำหรับองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์เสด็จ

          ส่วนของผู้ปกครองเกือบจะทุกคนที่เห็นด้วย  และเข้ามาร่วมทั้งแรงกายและงบประมาณที่ใช้ซื้อน้ำและข้าวกินระหว่างทำกิจกรรมและเยาวชนกลุ่มจิตอาสาโพธิ์ทองจะมีตัวตายตัวแทนอยู่แล้วส่วนคนที่ไปเรียนในมหาวิทยาลัยเขาก็ไปชักชวนเพื่อนทำในมหาลัยอีกเพราะเขาเติบโตที่สามารถบินเองได้แล้ว

          ในส่วนของ อบต. หลังจากได้ร่วมงานกันมาหนึ่งโครงการ อบต.ก็ได้เห็นศักยภาพของเยาวชนกลุ่มจิตอาสาโพธิ์ทองแล้ว  เพราะฉะนั้นตอนนี้  ถ้าเยาวชนจะทำอะไร อบต.ก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นยานพาหนะหรืออาหารกลางวัน

          ตอนนี้ขยะในตำบลลดลงอย่างเห็นได้ชัดเพราะชาวบ้านที่ขับรถผ่านไปมาไม่กล้าทิ้งขยะ ด้วยอายเด็กจะขยะทิ้งให้เด็กเก็บได้อย่างไร  และเวลาเยาวชนออกไปเก็บขยะจะลดลงทุกครั้ง  การทำกิจกรรมของเยาวชนกลุ่มจิตอาสาโพธิ์ทองจะเกิดตามธรรมชาติไม่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้านานๆ เพราะจะเป็นข้อบังคับสำหรับเยาวชน  แต่จะวางแผนล่วงหน้าครั้งต่อครั้ง  และจะใช้เวลาที่คุยสรุปงานวางแผนงานครั้งต่อไป  สามารถยืดหยุ่นได้ตามความสะดวกของเยาวชน

          ส่วนของผู้ใหญ่ใจดีที่ดี  ต้องเป็นคนลงมือปฏิบัติด้วยตัวเองด้วยและต้องรักเด็กเข้าใจเด็ก

          ในภาคส่วนของการสนับสนุนอยากให้สนับสนุนมาเป็นสิ่งของหรือเงินในการจัดซื้อโดยทางกลุ่มจะมีหลักฐานการจ่ายให้  ในส่วนของการเก็บองค์ความรู้  เยาวชนก็จะมีการถอดบทเรียน ตอนนี้เวลามีการประชุมครูของโรงเรียนโพธิ์ทองเยาวชนกลุ่มนี้ก็จะมาถอดบทเรียนให้ทุกครั้ง

          บทบาทของสถาบันเสริมสร้างการจัดการความรู้เพื่อชุมชนเป็นสุขได้เข้ามามีประโยชน์มากเพราะจะได้ช่วยขยายกลุ่มเด็กให้เพิ่มมากขึ้นอย่างกลุ่มของกำนัน  กับกลุ่มของโรงเรียนโพธิ์เสด็จ  ช่วยสร้างความตระหนักเรื่องงานของเยาวชนให้เกิดกับองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์เสด็จและยังจุดประกายกิจกรรมเยาวชนให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลไชยมนตรี  และอบต.ได้รู้จักการถอดบทเรียนการทำงานด้วย

 

ภาพของกลไกในการขับเคลื่อนงานต่อ

-  พี่เลี้ยงต้องเป็นพี่เลี้ยงแท้ๆ ต้องมีเวลา เป็นคนเสียสละให้กับงานของเยาวชน

-  เด็กจะเกิดกับพี่เลี้ยงทำเป็นตัวอย่างและทำให้เห็นว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์  การให้โอกาสในการนับหนึ่งครั้งสองก็จะตามมาเอง

-  อบต.มีบทบาทในการสนับสนุนงบประมาณ  เครื่องอำนวยความสะดวกและอบต.ต้องลงมือปฏิบัติเป็นแบบอย่างด้วยและต้องประชาสัมพันธ์ขยายผลให้ทั้งตำบล        

การขับเคลื่อนงานเด็กและเยาวชนสามารถขับเคลื่อนได้ 2 รูปแบบ

1.การขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันทั้งเด็กและผู้ใหญ่และจึงไปต่อกับอบต.

2.ให้เยาวชนทำกิจกรรมให้เกิดผลสำเร็จผู้ใหญ่เห็นก็จะเข้ามามีส่วนร่วมเอง

 

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ