กลุ่มยุวพุทธจิตอาสา ตำบลทุ่งกล้วย อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา
ก่อกำเนิดยุวพุทธ
“เป้าหมายของพวกเราที่ทำก็ไม่ได้หวังว่าจะได้รางวัล เราทำความดี เพื่อความดี ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด แต่ว่าเราอยากทำความดี โดยไม่รู้ว่าผลจะออกมาอย่างไร แต่เราก็ถือว่าเราทำความดีแล้ว บางคนไม่รู้ว่าเรามาทำอะไรที่วัด และก็ไม่เข้าใจ การที่ผู้ปกครองเข้ามาสนับสนุนนั่นคือผลพลอยได้จากการที่เราทำดีของเรา ใช้ธรรมมะเป็นเครื่องมือสอดแทรกเข้าไป”
ความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อพระอาจารย์หนุ่ย ฐิติสัมปันโน เจ้าอาวาสวัดก๊อซาว น้องนัทและเพื่อนๆ ในกลุ่มเคยเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดก๊อซาว ตำบลทุ่งกล้วย อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ได้ผ่านการเรียนธรรมศึกษาตรี โท เอก ทำกิจกรรมด้านความดีกับพระอาจารย์ตั้งแต่ชั้น ประถมศึกษาปีที่ 3 ความดีและความรู้ที่สั่งสมมาจึงอยากนำมาบอกต่อ มาทำกิจกรรมให้กับน้องๆรุ่นใหม่ในชุมชน เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน มีความสุขที่ได้ทำกิจกรรมนันทนาการที่สอดแทรกธรรมะ เริ่มทำตั้งแต่ปี 2549 ปีที่จบธรรมศึกษาเอก ตอนนั้นที่น้องๆ มาทำก็ไม่ได้คิดอะไร คือว่างเมื่อไหร่ก็มาช่วยพระอาจารย์สอนน้อง
กลุ่มยุวพุทธจิตอาสาได้มองเห็นสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับเยาวชนในปัจจุบัน ด้วยความที่เทคโนโลยีที่ทันสมัยอินเตอร์เน็ต ทีวี เป็นสื่อล่อแหลม ละครบางเรื่อง เขียนออกมาว่าห้ามลอกเลียนแบบ ยิ่งทำให้เด็กลอกเลียนแบบ และท้าทายอยากที่จะทำ
“เริ่มเข้ามาทำกิจกรรมประมาณ 2549 โดยทำมาจากคนๆ เดียวก่อน ก็คือ นัทซึ่งทำมาก่อนต่อมาชวนเพื่อนมาทำมี ปริมซึ่งอยู่บ้านก๊อหลวง แอมอยู่บ้านก๊อน้อย เวียและก็เตยชวนมาทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน ซึ่งอยู่ในตำบลมาทำก่อนปีแรก พอเข้ามาทำเพื่อนๆ เห็นสนุกก็เลยชวยเพื่อนมาทำกิจกรรมด้วยกัน ตอนแรกก็ชวนคนใกล้ๆ ในตำบลก่อน ซึ่งเป็นหมู่ 9 โดยสามารถสร้างผลงานมาได้ระดับหนึ่ง พอมาถึงปีนี้ก็ได้ปรับปรุงแก้ไขจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเมื่อปีที่แล้วและคิดว่าเราก็ควรทำไปก่อน คือใจของเราอยากจะทำก็ให้ทำไปก่อน ต่อไปเราก็พยายามปรับกิจกรรมกลุ่มให้มันดีขึ้น”
ในปีพ.ศ. 2551 กลุ่มยุวพุทธจิตอาสาได้มีโอกาสทำกิจกรรมที่เป็นรูปแบบมากขึ้นในลักษณะของโครงงานคุณธรรม ที่ชื่อว่าโครงงานยุวพุทธพันธุ์แท้ โดยอาจารย์กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม โรงเรียนภูซางวิทยาคมที่น้องๆ เรียนอยู่ ได้สนับสนุนให้ทำภายใต้โครงการประกวดโครงงานคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติ จัดโดยกลุ่มกัลยาณมิตรเพื่อการเสริมสร้างเครือข่ายวิถีพุทธ (กคพ.) ซึ่งกลุ่มนี้เกิดจากความคิดริเริ่มของพระมหาพงศ์นรินทร์ ฐิตวํโส ท่านมีวิสัยทัศน์คือ เสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายองค์กรและบุคคล ที่ทำงานเกี่ยวกับการศึกษาวิถีพุทธ และการเรียนรู้แบบองค์รวมของเด็กและเยาวชน และมีพันธกิจในการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับการศึกษาวิถีพุทธ และการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ส่งเสริมการทำความดีและสื่อสารความดี
กลุ่มกัลยาณมิตรเพื่อการเสริมสร้างเครือข่ายวิถีพุทธ ได้เข้าไปสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายวิถีพุทธ ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการศึกษา การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน อาทิ โครงการโรงเรียนวิถีพุทธ โครงการประกวดโครงงานคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติ “เยาวชนไทย ทำดี ถวายในหลวง” โดยมีภารกิจหลักคือประสานความร่วมมือในการทำงานระหว่างองค์กรต่างๆ ได้แก่ โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนทอสี โรงเรียนอนุบาลหนูน้อย สพฐ.ศูนย์คุณธรรม มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ สถาบันอาศรมศิลป์ เป็นต้น เพื่อให้เครือข่ายที่ทำงานด้านการศึกษาวิถีพุทธ ด้านเด็กและเยาวชนเหล่านี้ ได้ร่วมกันมีพื้นที่ทางความคิด ทำงานร่วมกัน และทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันต่อไป
“ปีที่แล้วมีการแข่งขันก็ตกรอบ แต่มาปีนี้พวกเราก็คิดรวมกลุ่มอีก โดยปรึกษาท่านพระครูก่อน แล้วก็มาทำงานกับท่านพระอาจารย์ ซึ่งก็คุยกับเพื่อน ถ้าเราไปทำในโรงเรียนมันก็เหมือนเราไปแย่งงานของครู ซึ่งในโรงเรียนก็มีทำอยู่แล้วตรงจุดนี้ เราก็อยากทำแหวกแนวก็เลยมาทำที่วัด และอยากทำกับพระอาจารย์ และก็เป็นที่เก่าที่เคยเรียนมาตั้งแต่เด็ก ทำมาตั้งแต่ชั้น ป.3 เพราะถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ และคิดว่าเราจะช่วยอาจารย์อย่างไรได้บ้าง ตรงจุดนี้ก็คือจุดหนึ่งที่สอนในเรื่องของการสอนวัฒนธรรม”
หลักการที่สำคัญในการทำงาน
จิตอาสา คือ ผู้ที่มีจิตใจเป็นผู้ให้ เช่น ให้สิ่งของ ให้เงิน ให้ความช่วยเหลือด้วยกำลังแรงกาย แรงสมอง ซึ่งเป็นการเสียสละ สิ่งที่ตนเองมี แม้กระทั่งเวลา เพื่อเผื่อแผ่ให้กับส่วนรวม อีกทั้งยังช่วยลดอัตตาหรือความเป็นตัว เป็นตนของตนเองลงได้บ้าง
อาสาสมัคร เป็นงานที่เกิดจากผู้ที่มีจิตอาสา ซึ่งมีความหมายอย่างมากกับสังคมส่วนรวม เป็นผู้ที่เอื้อเฟื้อ เสียสละเวลา แรงกาย แรงใจเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นหรือสังคมอื่นให้เกิดประโยชน์และความสุขมากขึ้น
บ ว ร เป็นการนำเอาคุณธรรม นำความรู้ และการจัดการบริหารสถานศึกษาแบบมีส่วนร่วม
บ คือบ้าน หมายถึงชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ ทั้งองค์กรชุมชน องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น วิทยากรท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย ซึ่งมีอยู่ทั่วไปตามบริบทของชุมชน ในเขตบริการของสถานศึกษา และใกล้เคียง อันจะส่งเสริมให้เกิดการจัดการศึกษาเป็นไปตามความต้องการของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย
ว คือ วัด หรือองค์กรทางศาสนา ที่ตั้งอยู่ในชุมชน หรือละแวกใกล้เคียง เปรียบเสมือนผู้นำทางวิญญาณ ในการนำสังคมสู่ความสงบสุข มีจรรยาวัตร ตามประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น
ร คือโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษามีหน้าที่ในการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชนภายใต้ความเป็นไทย หรือเอกภาพในนโยบายที่หลากหลายการปฏิบัติ โดยผู้บริหารสถานศึกษาเป็นหัวหน้า และผู้นำท้องถิ่นจะต้องนำ บ ว ร เข้ามามีส่วนร่วมทั้งวางแผน ดำเนินงาน ประเมินและสรุปผล
หลักธรรมที่นำมาใช้ ความมีน้ำใจและเสียสละ ทำงานที่ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ซึ่งเป็นการสร้างความสามัคคี กลมเกลียวให้เกิดขึ้นในหมู่คณะเป็นกำลังแก่ส่วนรวม และส่วนตัวความรับผิดชอบ ความสมัครสมานสามัคคีในการทำงานเป็นกลุ่ม
พระราชดำรัสที่นำมาใช้ “การทำงานร่วมกับผู้อื่น ที่จะให้เป็นไปด้วยความราบรื่น ปราศจากข้อขัดแย้งย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะคนจำนวนมาก ย่อมมีความคิด ความต้องการที่แตกต่างกันไป มากบ้าง น้อยบ้าง ท่านจะต้องรู้อดทน และอดกลั้น ใช้ปัญญา ไม่ใช้อารมณ์ ปรึกษากัน และโอนอ่อนตามกันด้วยเหตุผล โดยถือว่าความคิดที่แตกต่างกันนั้น มิใช่เหตุจำเป็นให้เกิดข้อขัดแย้ง โต้เถียงเพียงเพื่อเอาแพ้เอาชนะกัน แต่เป็นเหตุสำคัญที่จะช่วยให้ความกระจ่างแจ้ง ทั้งในวิถีทางและวิธีการปฏิบัติ”
ธรรมะสอดแทรกนันทนาการ
การทำงานร่วมกันเป็นทีม กลุ่มยุวพุทธจิตอาสาจะทำงานเหมือนพี่กับน้อง ซึ่งทุกคนเข้ากันได้ดี การทำงานของแต่ละคนก็มีเทคนิคเหมือนกัน สามารถเข้ากับพวกน้องๆ ได้ทุกคน เทคนิคที่น้องๆ กลุ่มนี้นำมาสร้างการเรียนรู้กับเด็กๆ มีหลากหลาย ได้แก่ ดนตรี นิทาน 3 มิติ ละคร ศิลปะภาพวาด เกมส์ธรรมะทุกกิจกรรมจะสอดแทรกธรรมะที่เข้าใจง่าย และเหมาะสมกับวัยของเด็กๆ รวมถึงการใช้ขนม ของรางวัลมาเป็นเทคนิคที่หลอกล่อเด็กให้มาทำความดี อีกหลักการที่นำมาใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ คือ การยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
ตัวอย่างของกิจกรรมได้แก่ กิจกรรม “น้องขอมา พี่จัดให้” กิจกรรมละครสอนใจ ชวนน้องนำข้อคิดที่ได้ไปปฏิบัติ กิจกรรมพี่ร้องน้องเต้น กิจกรรมฮีโร่ของผม/ของหนู กิจกรรมเล่านิทานสานสัมพันธ์น้อง-พี่ กิจกรรมรู้เขารู้เรา กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ กิจกรรมวาดภาพจากคำคม กิจกรรมเยาวชนจิตอาสา กิจกรรมในวันแม่แห่งชาติ
- กิจกรรม “น้องขอมา พี่จัดให้ กิจกรรมที่น้องขอมา ได้แก่ ดูละคร วาดภาพ เล่นเกมส์ ฟังนิทาน อ่านนิทาน ดูลิเก ร้องเพลง การละเล่นพื้นบ้าน ปลูกต้นไม้ ส่วนกิจกรรมที่พี่จัดให้ ได้แก่ ละครสอนใจชวนน้องนำข้อคิดที่ได้ไปปฏิบัติ ฮีโร่ของผม/หนู (บุคคลในพุทธประวัติที่ฉันชอบ) พี่ร้องน้องเต้น เล่านิทานสานสัมพันธ์น้องพี่ วาดภาพจากคำคม (คำคมที่ประทับใจ) วาดภาพเยาวชนจิตอาสา วันแม่แห่งชาติ (ทำการ์ดอวยพรและวาดภาพแม่)
- กิจกรรมรู้เขารู้เรา (วาดภาพเพื่อนของฉัน) เป็นกิจกรรมที่มุ่งปลูกฝังให้น้องๆ รู้จักการสังเกตคนรอบข้าง รู้จักที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรา และรู้จักมองคนอื่นค้นหาความดี มองตัวเรานี้หาข้อบกพร่อง ในการดำเนินกิจกรรมในระดับชั้น อ.1 – ป.3 จับคู่กับเพื่อนแล้วให้สังเกตเพื่อนที่จับคู่แล้ว วาดภาพลงในกระดาษ
- วาดภาพเยาวชนจิตอาสา ตัวอย่างที่ดีมีมากกว่าคำสอน จากที่น้องๆ ได้เห็นตัวอย่างที่พี่ทำกิจกรรม กลุ่มยุวพุทธจิตอาสาได้ให้น้องลองจินตนาการว่าได้ข้อคิดหรือแบบอย่างอะไร นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร ให้น้องๆ ระดับ ป. 4-6 ลองจินตนาการ แล้วสื่อความหมายเป็นภาพวาดลงในกระดาษ กิจกรรมนี้จัดขึ้น เพื่อปลูกฝังการมีจิตสาธารณะให้แก่น้องๆ
- วาดภาพจากคำคม (คำคมที่ประทับใจ) เป็นกิจกรรมที่ต่อยอดจากกิจกรรมสุดยอดคำคมประจำสัปดาห์จัดขึ้นใน 2 รูปแบบคือ วาดภาพการ์ตูนที่ชอบ แล้วเขียนคำคมที่ประทับใจในระดับชั้น1–ป.3 และการวาดภาพสื่อความหมายจากคำคมที่ประทับใจในระดับ ป.4 –ม.1
- เล่านิทานสานสัมพันธ์น้องพี่ เป็นกิจกรรมที่ช่วยสานความสัมพันธ์ที่พี่ทำกิจกรรม และน้องมีความใกล้ชิดและสนิทสนมกันมากขึ้น ทำให้น้องได้รับความสนุกสนานจากการฟังนิทาน
- ฮีโร่ของผม/หนู (บุคคลในพุทธประวัติที่ฉันชอบ) เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในระดับชั้นป.4-6 ให้วาดภาพบุคคลในพุทธประวัติที่ชอบ และในระดับชั้นป.6- ม.1 ให้วาดภาพบุคคลในพุทธประวัติที่ชอบพร้อมบอกเหตุผลที่ชอบ
- วันแม่แห่งชาติ ให้น้องๆ ทุกระดับชั้นทำการ์ดอวยพรและวาดภาพแม่ ทั้งนี้เพื่อให้ระลึกถึงพระคุณแม่
น้องนัทได้กล่าวเสริมว่า “ทุกๆ กิจกรรมก็จะต้องมีการสอดแทรกเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ เช่น เกมส์ตามล่าหาคำกลอน มีเข้าไปสอดแทรก หรือนำเอาธรรมมะเข้าไปสอดแทรก เพื่อที่จะให้น้องๆ ได้รู้จักคิด ไม่ใช่มีแต่เรื่อง สนุกสนานแค่นั้น เกมส์คำใบ้ 12 คำใบ้ โดยตัดกระดาษแล้วแต่งเป็นกลอนเสร็จแล้วแยกเอาไปซ่อนไว้ตามต้นไม้ แล้วให้น้องๆ ไปตามหาแล้วเอามาต่อ ตัวอย่างคำกลอน “ของขวัญล้ำค่าขุดหาใดเท่าคือไทยของเรานั้นเล่ารักกัน” เสร็จแล้วให้น้องๆ ได้รู้จักคิดว่าเราได้อะไรจากบทกลอนนี้ และให้คิดอีกว่าเราจะใช้คำกลอนนั้นไปทำอะไรได้บ้าง กิจกรรมก็มีหลายๆ อย่าง ซึ่งแต่ละคนจะต้องจำกัดเวลาของตัวเองให้ได้ เราจะแบ่งเวลาให้เท่าๆ กัน”
กิจกรรมที่ใช้ก็จะไม่ซ้ำกัน เกมส์ตามล่าหาความดี ถึงจะซ้ำเราจะเพิ่มระดับความยากและจะเพิ่มข้อคิด ซึ่งแต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน กลุ่มนัทก็แต่งเพลง พริมในเรื่องก็จะเป็นเรื่องของการร้องเพลง ในเรื่องของการเล่านิทาน เพลงคุณธรรม เช่นเพลงอริยสัจ 4 ซึ่งนัทเป็นคนร้อง โรสก็จะไปทางศิลปะวาดภาพ ซึ่งทุกคนก็มีความสามารถไม่เหมือนกันแล้วแต่ความถนัดว่ากิจกรรมวันนี้ใครจะทำ ถ้าไม่ถนัดสิ่งที่เราทำมันก็จะออกมาไม่ดี ถ้าเราทำในสิ่งที่ถนัดมันจะดีกว่า
“พวกเราจะมี การเล่านิทาน ให้พวกน้องๆ ฟัง นิทานที่เราเอามาเล่านั้นส่วนใหญ่จะเป็นนิทาน 3 มิติ ไม่ใช่มีแต่ที่เล่า คือเราจะเอามาจากโรงเรียนด้วย เราจะทำที่โรงเรียน เพราะครูก็ให้เด็กทำอยู่แล้ว เพียงแต่เราไปขอรับการสนับสนุนกับครู ส่วนใหญ่จะเป็น ภาพวาด 3 มิติ ใช้ดึงเข้าดึงออกได้ ประมาณ 20 ภาพ รูปแบบอื่นจะเปิดให้น้องๆ ดู แล้วมาช่วยกันวิเคราะห์ดู ส่วนเพลงก็จะมี เพลงคุณธรรม เพลงอริยสัจ 4 ซึ่งแต่งกันขึ้นมาเอง ส่วนใหญ่ถ้าเป็นเพลงเวลาเราให้น้องๆ ร้องก็จะจำได้ และนำไปร้องเล่นๆ มันก็จะติดปากและทำให้จำได้ อย่างอื่นก็จะมีภาพวาด คำคม ภูมิปัญญา”
เพลงอริยสัจ 4
บนโลกนี้งดงามและสดใส จะมีใครไหนเล่าที่คิดถึง
ว่ายังมีสิ่งที่เราต้องคำนึง ให้ตราตรึงในดวงจิตนิจนิรันดร์
นั่นก็คือสัจธรรมอันล้ำเลิศ สุดประเสริฐมีคุณค่ามหาศาล
ทั้งมนุษย์และสัตว์และหมู่มาร ต่างพบพานหามีใครได้พบเจอ
แล้วอะไรที่ทำให้เราเกิดทุกข์ ไร้ความสุขดั่งดวงใจปรารถนา
ก็เพราะการอยากได้กามกามา นั่นก็คือตัณหาพาระทม
มรรคแนวทางนำไปสู่ซึ่งนิโรธ ให้ประโยชน์แก่ผู้คนที่ค้นหา
ให้ความสุข ความสงบกายวาจา จะนำพาชีวิตสู่นิพพาน
จงละทุกข์รู้สมุหทัยให้แจ่มแจ้ง แล้วแสวงหาเหตุแห่งทุกข์เข็ญ
เราจะพบกับความสุข และรมเย็น ยกย่องเป็นอริยะสูงสุดเอย
“อย่างเล่านิทานสอดแทรกธรรมมะ อาจจะสอดแทรกทีละน้อยแล้วนำมาสรุปให้น้องๆ ฟัง เนื้อเรื่องเดียว อาทิตย์หน้าก็เปลี่ยนบทบาทอีก อย่างเรื่องผีเสื้อสมุทร ไข้หวัด 2009 ซึ่งเป็นเรื่องของการแนะแนวทางป้องกันโดยผ่านพระอภัยมณีหรือนางผีเสื้อสมุทรเป็นตัวเล่า ถ้าเราบอกเฉยๆ มันก็จะไม่สนุกสนาน แล้วเราก็จะสอดแทรกธรรมมะเข้าไปด้วย ถ้าเข้าไปเฉยๆ แต่ไม่ได้ใช้ กิจกรรมไข้หวัด 2009 ตัวเด่นก็คือผีเสื้อสมุทร ถ้าถูกใจเด็กๆ ก็จะเอาไปพูดต่อๆ กันทำให้น้องๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมก็อยากสนุกด้วย และอยากมาเข้าร่วมกิจกรรม มารู้ มาเห็นกับตา ตรงจุดนี้ก็คือที่น้องได้เอาไปใช้ และก็ได้ผลด้วย”
“การดูแลควบคุมน้องๆ ได้ เราอาจจะมีเทคนิคพูดว่าถ้าน้องๆ ไม่ฟังพวกพี่ๆ พวกพี่ก็จะไม่รัก และเราก็ต้องมีของหลอกล่อ เอาของขวัญหลอกล่อ โดยเราจะบอกว่าถ้าน้องๆ ทำดีทุกคนเราก็จะให้ของขวัญ ถ้าทุกคนทำความดีทุกคนก็จะได้รางวัล แต่น้องๆ ก็ทำดีทุกคนนั่นแหละและเราก็ให้ทุกคนซึ่งมันเทคนิคเท่านั้นเอง ส่วนของรางวัลเราก็จะเรี่ยไรเงินกัน โดยผู้ปกครอง และพระอาจารย์ก็จะสนับสนุนเงินมา เพื่อเอามาซื้อของขวัญให้น้องๆ หรือขนม”
ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ทบทวนเป็นระยะ
ในกลุ่มมีแกนนำหลักซึ่งเป็นรุ่นพี่ประมาณ 10 คน มีการแบ่งบทบาท ความรับผิดชอบคือ ประธาน 1 คน รองประธาน 2 คน เลขานุการ 2 คน ประชาสัมพันธ์ 1 คน เหรัญญิก 2 คน สวัสดิการ 2 คน ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นแกนนำไปขยายเครือข่ายกับกลุ่มเพื่อนๆ และน้องๆ ต่อไป น้องนัทเล่าว่าการทำงานมีความขัดแย้งกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะในเรื่องของความคิดเห็นในการทำกิจกรรมของกลุ่มที่แต่ละคนต่างมีความคิดที่หลากหลาย แต่ก็มีการพูดคุยกันอย่างเข้าใจ
“ทุกคนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมมีสิทธิเท่าเทียมกันหมด ทำงานทุกอย่างเหมือนกันหมด ไม่มีหัวหน้า และไม่ได้คิดว่าหน้าที่ตรงนั้นตรงนี้เป็นของใคร ทุกคนก็ช่วยเหมือนกันหมด เสร็จงาน หัวหน้าก็สรุปผลงาน ในการเข้าร่วมกิจกรรมก็มักจะมีปัญหาเหมือนกันส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของความคิดเห็น เวลามีปัญหากันเราก็จะให้ทั้งสองหันหน้าเข้าหากันเวลามีปัญหาก็ให้เอา 2 คน มาพูดกัน เปิดใจพูดกัน นี่คือลักษณะการทำงานของกลุ่ม”
“ตอนนี้ก็มีนัทเป็นประธาน อีกหน่อยก็จะไปทำอยู่เบื้องหลังสร้างเด็กใหม่ขึ้นมา สร้างแกนนำ 10 คนแล้วไปขยายผลต่อ โดยรุ่นพี่ ไปขยายผลตามหมู่บ้าน และมีการประชาสัมพันธ์ ให้กับผู้นำชุมชน พ่อหลวง เข้ามาช่วยให้การสนับสนุน ในเรื่องของความปลอดภัย ส่วนใหญ่เวลามาร่วมกิจกรรมแล้วถ้าดึกก็จะให้รุ่นพี่พาน้องกลับบ้าน พ่อแม่ของน้องๆ เห็นก็ชื่นใจในการทำงานของพวกเรา ซึ่งเป็นกำลังใจให้เราได้ทำงานต่อไป”
ทีมงานยุวพุทธจิตอาสาทำงานร่วมกันด้วยเหตุและผล โดยยึดหลัก 6 ย. เพื่อการทำงานดังนี้
ย. แรก “ยิ้มแย้ม” สยามเมืองยิ้ม
ย. สอง “ยินยอม” เสียเปรียบบ้าง”
ย. สาม “ยกย่อง” ให้กัน
ย. สี่ “ยืดหยุ่น” ปรับตัวให้แก่กัน
ย. ห้า “ยืนยัน” ไม่ยอมใฝ่ต่ำ”
ย. หก “เยินยอ” ชมกันบ้าง
กระบวนการดำเนินงานของน้องๆ จะเริ่มจากการประชุมวางแผนการดำเนินกิจกรรม ประสานงาน ประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ดำเนินงานตามแผน ติดตามผลการดำเนินงาน สรุปรายงานผลการดำเนินงาน และนำเสนอเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมีหลักการดำเนินงานคือ ให้เกิดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมในโครงงาน และให้ความสำคัญกับกระบวนการก่อนและหลังการดำเนินโครงงาน
• ก่อน = เตรียมความพร้อม สร้างความชัดเจน ทำความเข้าใจร่วม
• หลัง = การไตร่ตรอง ทบทวน การถอดบทเรียน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน
ในรายละเอียดของการดำเนินงาน สมาชิกแต่ละคนจะมีตารางการดำเนินงานในแต่ละสัปดาห์ แต่ละสัปดาห์จะมีการตั้งหัวหน้าทีม และมอบหมายงานให้สมาชิกแต่ละคนทำตามศักยภาพของแต่ละบุคคล
น้องๆ กลุ่มยุวพุทธจิตอาสาได้มีการประเมินผลโครงงาน โดยการสังเกต ติดตามการดำเนินงานพบว่า น้องๆ ให้ความสนใจ ให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรม เกิดความสนุกสนาน อยู่ในระดับที่พึงพอใจมาก นอกจากนี้ชุมชนยังเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนปัจจัยการดำเนินงานเป็นอย่างดี
“ทำไปไม่ตรงตามแผนที่เราวางไว้ ถ้าเราเห็นน้องๆ กำลังสนุกอยู่เราก็เพิ่มมุขให้มาร้องเพลงให้น้องๆ ฟังเพื่อที่จะต้องการให้น้องๆ สนุกและให้กล้าแสดงออก บางทีก็ให้น้องแสดงเป็นตัวละครต่างๆ พอเสร็จจากกิจกรรมแล้ว ก็ร่วมกันวางแผน ร่วมกันปฏิบัติ และถอดบทเรียน”
จากการใช้แบบสอบถามประเมินความพึงพอใจต่อโครงงานจิตอาสานำธรรมสู่น้องพบว่าผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจมากถึงมากที่สุด สำหรับกิจกรรมนันทนาการที่พี่จัดให้ น้องๆ มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุดทุกกิจกรรม โดยน้อง ๆมีข้อเสนอแนะว่าอยากให้จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง อยากให้พี่ๆ แสดงละคร อยากให้พี่ๆ เล่นเกมส์เยอะๆ อยากให้พี่ๆ ร้องเพลงให้ฟัง อยากให้จัดกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้น อยากให้ผู้ใหญ่มาสนับสนุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง อยากให้มีผู้ร่วมกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น
ความคิดเห็นของอาจารย์ ที่ปรึกษา และผู้ปกครองมีต่อการดำเนินโครงงาน ที่น้องๆ ยุวพุทธจิตอาสาได้ใช้แบบสอบถามในการประเมิน
“เป็นสิ่งที่ดีที่เด็กและเยาวชนได้มารวมกันทำกิจกรรมนันทนาการที่เป็นประโยชน์ต่อเด็ก ที่มาเรียนศีลธรรมในวัดทุกวันอาทิตย์ ทำให้นักเรียนมีความสนุกสนาน และการจัดกิจกรรมยังเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนมาเรียนศีลธรรมมากยิ่งขึ้น”
“เป็นกิจกรรมที่ดี ทำให้นักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ทำกิจกรรมเพื่อเด็ก และเยาวชนในชุมชน”
“เป็นกิจกรรมที่ดี สามารถปฏิบัติได้จริง ซึ่งเป็นการต่อยอดจากโครงงานยุวพุทธพันธุ์แท้ในปีการศึกษาที่ผ่านมา ทำให้สามารถดำเนินงานที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนรู้จักการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ห่างไกลจากอบายมุขต่างๆ ได้ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนเป็นผู้ที่รู้จักการเสียสละ สามัคคีในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เป็นผู้ที่มีจิตสาธารณะในการที่จะทำประโยชน์เพื่อสังคมและชุมชนของตนเอง มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ รู้จักแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยเหตุ ด้วยผล ถือว่าโครงงานนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เยาวชนสามารถลง เลิกพฤติกรรมเสี่ยง เพิ่มงานจิตอาสา พัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งได้”
“เป็นโครงงานที่น่าภาคภูมิใจ ที่เห็นครูและนักเรียนได้ร่วมกันคิดในการที่จะปลูกฝังการมีจิตสาธารณะต่อชุมชน โดยมีแกนนำนักเรียนได้ริเริ่มกิจกรรมและสร้างเครือข่ายไปยังหมู่เพื่อนๆ เพื่อชักชวนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรม รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เป็นกิจกรรมที่ฝึกการทำงานร่วมกัน เสริมสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ รู้จักการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยเหตุและผล เป็นการเสริมสร้างความเป็นประชาธิปไตยในตนเอง รู้จักเอื้อเฟื้อ เสียสละ เวลา แรงกาย แรงใจเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น หรือสังคมให้เกิดประโยชน์สุขมากขึ้น”
กลุ่มยุวพุทธจิตอาสาได้มีการถ่ายทอดความรู้ ผลงานของกลุ่มในหลายงานที่เป็นทางการ ได้แก่ นำเสนอในการประกวดโรงเรียนส่งเสริมการอ่าน โรงเรียนในฝัน และนำเสนอโครงงานคุณธรรมระดับเขตพื้นที่การศึกษา พะเยาเขต 2 และระดับภาคที่วัดพระธาตุแม่เจดีย์ จ.เชียงราย
ความดี คือ เป้าหมาย
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับน้องๆ แกนนำหลักยุวพุทธจิตอาสาคือ ตนเองมีจิตสาธารณะมากขึ้น มีสมาธิ มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย มีความรับผิดชอบมากขึ้น และเป็นตัวอย่างให้น้องๆ ได้รู้ ได้เห็น ซึ่งรุ่นพี่ก็ต้องทำด้วย มีความภูมิใจในผลงานที่ออกไป และพร้อมที่จะช่วยสนับสนุน
โดยครอบครัวได้สนับสนุนให้มาทำกิจกรรม และชุมชนให้ความสนใจต่อกิจกรรมที่จัด โดยให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนของรางวัล
“พอถึงวันอาทิตย์ พ่อแม่ก็มักจะบอกว่าวันนี้ไปวัดได้แล้ว เมื่อก่อนน้องๆ พอเสาร์-อาทิตย์ ก็มักจะดูหนังหน้าทีวีไม่ยอมทำอะไรเลย แต่พอได้ไปเข้าร่วมกิจกรรมที่วัดกับรุ่นพี่แล้ว ก็ไม่อยากดูเลยแต่อยากไปร่วมกิจกรรมกับรุ่นพี่ที่วัด เพราะไปเข้าร่วมและได้แสดงกิจกรรม ได้รู้ ได้เห็น ก็มีความสนุกสนาน”
สิ่งที่กลุ่มฯ คิดว่าจะต้องทำเพิ่มเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย คือ ความเพียรพยายาม และยึดหลักอิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ พอใจทำ วิริยะ เพียรพยายาม จิตตะ ตั้งใจทำ และวิมังสา เข้าใจทำ โดยมีปัจจัยเงื่อนไขที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมายคือ ความสามัคคีกันสิ่งที่จะนำไปสู่เป้าหมาย ท้ายสุดน้องๆ กล่าวว่าความยั่งยืนของกลุ่ม คือสร้างกลุ่มเครือข่ายของน้องชั้นประถมศ