กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
เรื่องเล่าจากด้ามขวาน การพัฒนาเยาวชนเชิงพื้นที่ ตอนที่ 1 “วิเคราะห์ทุนในชุมชน ค้นหาเด็กเป้าหมาย”
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

พฤษภาคม-มิถุนายน 2551



หลังจากที่เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ผู้ประสานงานทุกพื้นที่ ต่างกระวีกระวาดกับการจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชนในแต่ละภาคอย่างรวดเร็วและเร่งรีบ เพราะงาน 2 เดือนนี้มิใช่แค่การจัดทำเอกสารธรรมดา แต่หมายถึงการลงไปวิเคราะห์ทุนก่อนการทำงานทั้งเชิงกว้างและเชิงลึก โดยในเชิงกว้างหมายถึงการทบทวนสถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชนระดับภาคว่า “อาการ” ของเด็กและเยาวชนเป็นอย่างไร มีใครทำอะไรที่ไหนดีๆเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนบ้างแล้วส่วนในเชิงลึกหมายถึงการลงไป “ตระเวณพื้นที่” ต่างๆที่คาดหวังว่าจะ “ลงหลักปักฐาน” อันรวมถึงการวิเคราะห์ทุนในพื้นที่ ได้แก่ผู้รู้ แหล่งเรียนรู้ ชุมชน ตัวเด็กและเยาวชน รวมถึงอบต.และกลไกในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นวัด โรงเรียน อนามัยเพื่อให้ได้ “ความรู้ก่อนทำ” ซึ่งจะช่วยในการกำหนดทิศทาง เป้าหมาย และแนวทางการ “เข้ามวย” กับกลุ่มเป้าหมายต่างๆได้

ภาคใต้ ใช้วิธีการ “ตั้งธง” ไว้ก่อนว่า เราจะเจาะกลุ่มเด็กและเยาวชนในชุมชน (เยาวชนในถิ่น) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาแล้ว และ “ตั้งเป้าหมาย” ไว้ว่าจะเน้นประเด็น “อาชีพเกษตร” เป็นช่องทางเข้าหลัก และกำหนด “ขอบเขต” ไว้ในพื้นที่เขตชายเขาไปจนถึงลุ่มน้ำ ครอบคลุม....อำเภอคือ อำเภอเมือง อำเภอปากพนัง อำเภอพระพรหม อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอจุฬาภรณ์ อำเภอชะอวด และอำเภอทุ่งสงเพราะอยากจะเน้น “การจัดการเชิงพื้นที่” เพราะเรามีทีมงานค่อนข้างน้อย รวมทั้งเพื่อให้สามารถเดินทางไป-มาได้สะดวกด้วย

๒ เดือนแรกของการเรียนรู้ใหม่ในประเด็นการพัฒนาเด็กและเยาวชนเชิงพื้นที่ของภาคใต้ จึงเป็นการรีบไปเจาะกลุ่มเป้าหมายให้ได้ และวิเคราะห์ทุนในพื้นที่ๆสามารถเชื่อมโยงมาพัฒนาเยาวชนได้หน้าตาของรายงานสถานการณ์ จึงมีข้อมูลเชิงพื้นที่แน่น แต่ข้อมูลในภาพรวมระดับภาคจะหลวมๆเนื่องจากทีมงานเราเห็นว่า แหล่งเรียนรู้ที่อยู่ใกล้ๆจะใช้ประโยชน์ได้มากกว่า เยาวชนสามารถไปเรียนรู้ได้ง่าย และบางแห่งใช้เป็นพี่เลี้ยงเยาวชนได้ด้วย

แม้เราจะได้รายชื่อเยาวชนที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายมาเป็นร้อยรายชื่อ แต่ก็คาดหวังว่าจะเฟ้นหาแกนนำเยาวชน (คนที่จะทำจริงให้เป็นต้นแบบ) พื้นที่ละ 3-5 คน เพื่อลงมือปฏิบัติจริงภายในปีนี้ งานต่อไปในระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จึงเน้นหนักไปที่ “การวิเคราะห์ตัวเด็ก” ที่ต้องลงลึกไปจนถึงระดับบุคคล ครัวเรือน และชุมชนเลยทีเดียวเราจึงค่อยๆแจ่มชัดขึ้นว่าจะต้องจัดการความรู้เยาวชนทั้งในระดับบุคคล กลุ่ม ชุมชน และเครือข่ายเลยทีเดียว

2 เดือนแรกนี้ เป็น 2 เดือนที่ได้เรียนรู้พื้นที่เยอะ และที่สำคัญได้เรียนรู้วิธีการจัดการงานให้บรรลุเป้าหมายภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด ภาคใต้จึงใช้วิธีการ “ลดเป้าหมายที่ทำไม่ได้บางอย่างลง” เช่น การประมวลทุนในภาพกว้างระดับภาค หันมาเลือกวิเคราะห์ทุนในพื้นที่โดยเฉพาะ “ตัวเด็ก เยาวชน และชุมชน” ให้มากขึ้น เนื่องจากเราคิดว่า หากประมวลภาพกว้างได้ดี แต่ไม่มีตัวเด็กชัด ก็ไม่รู้จะออกแบบเชื่อมโยงการเรียนรู้อย่างไรได้

จะลองสรุปบทเรียนและการเรียนรู้ในรอบ 2 เดือนนี้ ให้ฟัง ดังต่อไปนี้

•การเข้ามวยกับเยาวชน เนื่องจากฐานงานเดิมในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา เราเน้นผู้ใหญ่และเครือข่าย “ไม่ได้มีเด็กในกำมือ” อยู่ ทำให้กลุ่มเด็กเก่าของเรามีแค่ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง ซึ่งเป็นบัณฑิตคืนถิ่น 2 คน (ราเชน บุญเต็ม และพงค์ศักดิ์ ปัญจะเภรี) และมีกลุ่มเด็กที่เคยหัดรำวงเวียนครก ตีฉิ่งตีฉาบ และเราพาออกงานอยู่หลายครั้ง ส่วนกลุ่มใหม่อาศัยการรู้จักกับผู้นำชุมชนในพื้นที่ตำบลอื่นๆ ทั้งอำเภอเมืองและต่างอำเภอ แล้วตามไปดูว่าที่ไหนมีเด็กและเยาวชนอยู่ในกระบวนการบ้าง กลุ่มนี้ต้องเร่งสร้างความสัมพันธ์ สนิทสนมคุ้นเคย โดยเฉพาะต้องรีบทำให้ชุมชน ผู้นำ พ่อแม่ รู้จักและไว้ใจเราโดยเร็ว

•ช่องทางการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนที่หลากหลาย เช่น “เข้าทางวัด” โดยไปดักดูเด็กที่วัดป่ายาง (ศูนย์ฝึกอบรมกสิกรรมธรรมชาติ) หรือตามไปดูการดูแลสามเณรของวัดทุ่งโพธิ์ หลังจากที่สืบทราบว่าเด็กกลุ่มเป้าหมายของเราเป็นศิษย์เก่าทุ่งโพธิ์มาก่อน, “เข้าทางโรงเรียน” โดยไปคุยกับโรงเรียนโพธิ์ทอง พบว่าผอ.ตามดูแลเด็กที่จบประถมไปแล้วไม่ได้เรียนต่อ, “เข้าทางสถานีอนามัย” ที่มีกลุ่มเด็กในชุมชนเป็นเครือข่ายสุขภาพอยู่ เช่นที่ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง และตำบลท่างิ้ว อำเภอเมือง, “เข้าทางชุมชน” อย่างตำบลท่าเรือที่เราเข้าไปคลุกคลีตีโมงประจำ, “เข้าทางผู้นำชุมชน” เช่น ผู้ใหญ่บ้านในตำบลนาพรุ ที่มีเครือข่ายเด็กทำงานอยู่ด้วยหลายสิบคน, เข้าทางเครือข่าย มีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์พระพรหม ที่มีลูกหลายถูกปรับฐานและมีใจด้านเกษตร, “เข้าทางสถานบันการศึกษา” ที่อาจารย์จิรวิทย์ จำปา จะต่อยอดงานบัณฑิตนักปฏิบัติที่ค้างคาอยู่เดิมให้ต่อเนื่อง, “เข้าทางอบต.” ที่สนใจด้านการพัฒนาเยาวชน ซึ่งบางที่เป็นอบต.ใหม่ บางที่เป็นอบต.เก่า เป็นต้น จนเป็นที่มาของกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย

•แนวทางการการจัดการความรู้เยาวชนในระบบ ควรจะเป็นการเกษตรที่ผลิตเพื่อเป็นอาหารลดรายจ่ายในครัวเรือน, เรื่องจิตสาธารณะ,เรื่องเรียนรู้ชุมชน สังคม, เรื่องสิ่งแวดล้อม, เรื่องวัฒนธรรม ฯลฯ ส่วนเยาวชนนอกระบบ หากเป็นกลุ่มที่มีอาชีพอยู่แล้ว ยกระดับอาชีพให้ดีขึ้น และให้เป็นพี่เลี้ยงแก่เยาวชนในตำบลหรือพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนขยายผลสู่ชุมชนให้มากขึ้น กลุ่มที่เริ่มทำบ้างแล้วและยังไม่ได้ลงมือทำ ต้องเน้นให้เกิดผลชัดเจน เช่น กินได้ ขายได้ มีรายได้

•เราได้บทเรียนว่าการเก็บข้อมูลเยาวชนเชิงลึกตามกรอบที่คิดไว้ ซึ่งส่วนมากเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ ต้องใช้ความสนิทสนมคุ้นเคยก่อน และควรใช้การพูดคุยสนทนา/สัมภาษณ์ ให้เป็นธรรมชาติ เพราะเยาวชนไม่คุ้นชินกับแบบสอบถามเชิงคุณภาพ แบบสอบถามควรใช้เพื่อเก็บข้อมูลพื้นฐาน เช่น ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลครอบครัว

การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อีกทั้งหากเอาบางตำบล เช่น ท่าเรือ อำเภอเมือง เป็นฐานปฏิบัติการกลาง ก็จะสะดวกในการเดินทางไปอำเภอโซนภูเขา และโซนพรุได้ อีกทั้งมีแกนนำเยาวชนในตำบลที่สามารถเป็นมื้อไม้ และเป็นผู้ช่วยประสานงานในพื้นที่ได้ โดยหลายครั้งในวงพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ประสานงานภาค มองเห็นว่า หากเยาวชนสามารถลุกขึ้นมาเป็นแกนนำ เป็นผู้ช่วยประสานแต่ละพื้นที่ได้ ก็จะเป็นการพัฒนาความสามารถในการทำงานชุมชนแก่เยาวชนซึ่งจะต้องจัดการชุมชนของตนเองต่อไปในอนาคต แหละนี่ก็เป็นคำตอบของความยั่งยืนอย่างหนึ่งได้เหมือนกัน เพราะหน่วยงานภาคนอกอย่างเรา หรือแม้แต่อบต. ก็มีวันเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์และการเมืองท้องถิ่นได้

•หลายครั้งในวงผู้ประสานงานภาคเราว่าในช่วงแรก ๖ เดือนแรก มีความจำเป็นต้องให้เด็กลงมือทำให้เห็นผลก่อน รวมทั้งเกิดกลุ่มอาชีพเด็กที่เข้มแข็ง แล้วค่อยขยายผลคุยกับอบต.ที่ยังไม่มีวิสัยทัศน์ร่วมเรื่องการพัฒนาเยาวชนส่วนอบต.ที่สนใจพัฒนาเยาวชนอยู่แล้ว เราก็เฟ้นหากลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนและสร้างเป็นงานร่วมเรียนรู้ด้วยกัน

•พูดถึงอบต. เราก็เห็นความไม่เหมาะเจาะพอดี (matching) ระหว่างอบต.กับเยาวชน บางพื้นที่อบต.มีวิสัยทัศน์เรื่องการพัฒนาเยาวชนแต่กลุ่มเยาวชนยังไม่เข้มแข็ง บางพื้นที่มีเยาวชนสนใจพัฒนาตัวเองและรวมกลุ่มกันอยู่แล้ว แต่ขาดการหนุนเสริมอย่างเป็นระบบ ซึ่งบริบทพื้นที่เหล่านี้ต้องใช้ความสามารถในการเชื่อมต่อของทีมผู้ประสานพื้นที่เป็นอย่างมากด้วย

•การเชื่อมความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆในอนาคต หากกลุ่มเยาวชนมีความชัดเจน มีความเข้มแข็ง ก็สามารถเชื่อมโยงสำนักงานเกษตร สำนักงานประมง สำนักงานปศุสัตว์ ฯลฯ ตลอดจนโครงการต่างๆมาร่วม “สมทบทุน” ให้แก่เด็กได้

แม้ว่าภาคใต้เราจะได้เด็กและมองเห็นกลุ่มต่างๆแล้ว แต่งานต่อไปยังค่อนข้างหนัก เพราะยังต้องวิเคราะห์ตัวเด็ก วิเคราะห์ครัวเรือน และวิเคราะห์ชุมชน ซึ่งทั้ง 3 อย่างนี้ ล้วนมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก เช่น เด็กบางคนมีฉันทะในการประกอบอาชีพเกษตรที่บ้าน แต่ฐานของครอบครัวยังทำการเกษตรไม่ชัด ในขณะที่บางคนพ่อแม่ทำการเกษตรอยู่อย่างเข้มแข็งแล้ว แต่เด็กยังเป็นแค่ลูกมือของพ่อแม่อยู่บางแห่งเด็กอยากจะทำการเกษตรที่บ้าน แต่ค่านิยมของครอบครัวและสังคมเห็นว่า “อุตสาห์ส่งเรียนจนจบปริญญา ไม่คุ้มค่าหากจะกลับมาอยู่บ้าน” งานของเรานอกจากจะท้าทายที่การหนุนให้เด็กทำงานแล้ว ยังท้าทายกับค่านิยมและทัศนคติของสังคมด้วย

เห็นได้ชัดว่า “การสร้างตัวอย่างให้เห็น” ว่าทำงานอยู่บ้านก็เป็นฐานทางเศรษฐกิจที่เด็กสามารถมีรายได้รายวัน รายเดือน รายปี ได้อย่างไร แต่สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยระยะเวลา “สร้างเนื้อสร้างตัว” พอสมควร และคิดว่าระยะเวลา 2-3 ปีน่าจะสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ เพราะมีตัวอย่างของผู้เฒ่าผู้แก่ที่สร้างบำนาญด้วยการเกษตรให้แก่ตนเองเมื่อตอนแก่ได้ด้วยตัวเองอย่างลุงช่วง สิงโหพล หนึ่งในครูชาวบ้านด้านการเกษตรของเมืองนครฯ ให้เห็นอยู่

การวิเคราะห์ทุนในชุมชน และค้นหาเด็กกลุ่มเป้าหมาย ที่ใช้เวลา 2 เดือน เป็นงานที่ท้ายสำหรับภาคใต้ เพราะเป็นการ “เปิดประเด็นใหม่” และ “เปิดพื้นที่ใหม่”เด็กและเยาวชนในแต่ละพื้นที่จะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามได้ในรายงานความก้าวหน้าผ่านเรื่องเล่าจากชาวใต้เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2551 ครับ



เก็บตก...จากยกแรก

ก่อนจะเข้าเรื่อง “ตามไปดูการเรียนรู้ของน้องๆเยาวชน” ในแต่ละตำบล ของยกที่ 2 ก็อดไม่ได้ที่จะเล่าถึงเบื้องลึก เบื้องหลัง การถ่ายทำว่า กว่าจะเลือกพื้นที่ เลือกตัวเด็กแต่ละตำบลนั้น เรามีวิธีการสืบค้นอย่างไร โดยยกตัวอย่างการพูดคุยครั้งเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2551

เราได้นัดพบกับอาจารย์ทวี สร้อยสิริสุนทร ซึ่งทำงานเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครศรีธรรมราช และมีส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนอยู่หลายเรื่องทั้งแง่มุมของคุณธรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรมแง่มุมของสภาเด็กและเยาวชนที่เคยจัดสมัชชาเด็กและเยาวชนนครศรีธรรมราช แง่มุมความน่าสนใจในเชิงพื้นที่ มีอบต.เด่นที่สนใจเรื่องเด็กและเยาวชนอยู่ที่ไหนบ้าง

เราคุยกันวันนี้ที่อุทยานการเรียนรู้เทศบาลนครศรีธรรมราช (city learning park) ซึ่งเป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเยาวชนและคนที่โตเป็นผู้ใหญ่อย่างเราแห่งหนึ่งที่เคยมาใช้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงและใช้ห้องแอร์เงียบๆของที่นี่นั่งทำงาน (ฟรี)

หลังจากที่อาจารย์ทวีเล่าให้ฟังว่าการวิเคราะห์สถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชนที่เราจะทำนี้ เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ของอบต. และการจัดการความรู้ในจังหวัดนครศรีธรรมราชอย่างไร และหลังจากที่อาจารย์จิรวิทย์ จำปา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย นครศรีธรรมราช เล่าให้ฟังถึงกรณีหมู่บ้านบางสะพาน ตำบลบางจาก อำเภอเมือง ที่ได้ลงไปดูข้อมูลหมู่บ้าน โดยเฉพาะรูปแบบการบริหารจัดการในรูปสภาหมู่บ้าน มีงานด้านเด็กและเยาวชนที่คนรุ่นใหม่เป็นกลไกในสภาด้วย ซึ่งอาจจะต่อยอดกับงานที่เราจะทำได้แล้ว อาจารย์ทั้ง 2 คนก็แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เพื่อให้เห็นภาพของพื้นที่และเห็นวิธีการเชื่อมต่องานกันในอนาคต ดังนี้

ที่ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ หมู่ที่ ๓ มีผู้ใหญ่บ้าน เคยทำกระบวนการชุมชนเข้มแข็งคล้ายๆกับหมู่บ้านบางสะพานของตำบลบางจากรวมทั้งที่หมู่ ๔ ตำบลนาพรุ อำเภอพระพรหมก็มีผู้ใหญ่บ้าน (ผู้ใหญ่วิเชียร หนูศิริ) ส่งเสริมเรื่องอาชีพที่มีกลุ่มเด็กเข้ามาร่วมเลี้ยงปลาดุกและแปรรูป ซึ่งเรามองว่าน่าจะเป็นกลไกที่ผู้ใหญ่บ้านเป็นคุณเอื้อ (facilitator) และให้เด็กเป็นคุณกิจ (คนลงมือปฏิบัติการ) ที่ชัดเจนมากขึ้น

รายละเอียดของตำบลแม่เจ้าอยู่หัวที่น่าสนใจก็คือ อบต.และหน่วยงานต่างๆ (ทั้งกลไกภายในและภายนอก) อยากจะขับเคลื่อนเรื่องเด็กและเยาวชนให้เด่นขึ้น มีการประชุมเพื่อจุดประกายเด็กไปหลายครั้งแล้ว พบว่าเด็กเริ่มจะสนใจมากยิ่งขึ้น ได้ยินเสียงสะท้อนจากเด็กว่า “การพัฒนาชุมชนเริ่มต้นด้วยมือเรา” กิจกรรมต่อไปจะได้จัดค่ายปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ที่อำเภอสิชล ให้เด็กได้เปิดความคิดว่าจะพัฒนาตำบลอย่างไร จะจัดการองค์กรสภาเด็กและเยาวชนอย่างไร จะสร้างแผนงานของตัวเองขึ้นมาอย่างไร โดยค่ายนี้จะมีผู้นำชุมชนประมาณ 60 คนไปร่วมด้วย แต่จะแยกเป็นอีกวงหนึ่งต่างหาก (ยกเว้นบางส่วนของกิจกรรมจะมาทำร่วมกัน) เพื่อให้ผู้ใหญ่เข้าใจเด็ก เด็กเห็นงานที่ผู้ใหญ่ทำ

ตัวอย่างอีกพื้นที่หนึ่งคือตำบลสามตำบล อำเภอจุฬาภรณ์ อาจารย์ทวีไปจัดเวทีประชาคมตำบล เยาวชนพูดทั้งในระบบ (เรียนราชภัฏ ฯลฯ) และเยาวชนนอกระบบ (เรียนกศน. ฯลฯ) พูดเรื่องคุณธรรมจริยธรรม พูดเรื่องอาชีพ พูดเรื่องความพอเพียงที่น่าสนใจและเราสามารถต่อยอดความคิดเด็กได้ เด็กอยากนั่งคุย นั่งแหลงเรื่องอย่างนี้ แต่ไม่มีเวทีให้ เราจะเป็นตัวเปิดพื้นที่ให้แก่เด็กและเยาวชนได้อย่างไร เพราะมุมมองของเด็กและเยาวชน บางทีผู้ใหญ่เข้าไม่ถึงเวทีเหล่านี้ที่อาจารย์ทวีไปทำสะท้อนให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีคนคอยเชื่อมประสาน คอยจัดการ เพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนเชิงพื้นที่

ที่ตำบลเสาธง อำเภอร่อนพิบูลย์ มีเด็กที่เรียนมหาวิทยาลัยราชภัฏ มองมุมพัฒนาตำบลได้ชัดเจนครบทุกแง่มุมมีผู้ใหญ่คืออบต.ขึ้นรูปกิจกรรมไว้รองรับ แต่ยังไม่เชื่อมต่อกันที่ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมือง ก็มีกลุ่มเด็กมุสลิมเด่น เช่นเดียวกับที่ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง มีเยาวชนอาสาดูแลสุขภาพผู้สูงอายุอยู่

ส่วนที่หมู่ ๔ ตำบลเขาแก้ว อำเภอลานสะกา เป็นที่ตั้งของโรงเรียนร่อนพิบูลย์ประชาสรรค์ มีผู้นำชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงร่วมกันทั้งโรงเรียน ชุมชน ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่นเดียวเช่นเดียวกับที่ขนาบนาคและปากแพรก อำเภอเชียรใหญ่ มีโรงเรียนชาวนาที่ทำเรื่องข้าวอินทรีย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เคยพาไปเรียนรู้กับมูลนิธิข้าวขวัญ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เขาพูดถึงว่าตัวเองต้องขยายเรื่องนี้ให้คนรุ่นใหม่ด้วย

ส่วนเรื่องงานด้านเด็กและเยาวชนที่น่าสนใจในภาคใต้ อาจารย์ทวีชี้เป้าให้เราทราบว่า มีกลุ่มเยาวชนคนของแผ่นดิน, กลุ่มยุวชนสร้างสรรค์ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีการเติบโตจากหลายฐาน เช่น งานวิจัย งานเรียนรู้อยู่ดีที่ปักษ์ใต้ แล้วมารวมตัวกันในระดับจังหวัดที่เข้มแข็ง, กลุ่มเยาวชนต้นกล้า ที่อาจารย์พรรณิภา โสตถิพันธุ์ ดำเนินการอยู่ ควบคู่กับงานของกลุ่มพลเมืองเด็ก ที่จังหวัดสงขลา

ในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีงานด้านเด็กและเยาวชนที่เกี่ยวข้อง เช่น งานเพื่อนใจวัยรุ่น ของกลุ่มงานสุขศึกษา โรงพยาบาลมหาราชงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของกลุ่มเด็กที่อบจ.นครศรีธรรมราชสนับสนุนอยู่ เช่นเดียวกับงานของการศึกษานอกโรงเรียนที่บางศูนย์การเรียนรู้ มีการผนวกเรียนการสอนโดยใช้กิจกรรมรวมกลุ่มเชิงอาชีพ เช่น เย็บผ้า เลี้ยงไก่ ทำปุ๋ย ในชุมชน

ด้านกระบวนการขับเคลื่อนคุณธรรมระดับจังหวัดนครศรีธรรมราชที่อาจารย์ทวีเกี่ยวข้องอยู่ มีพื้นที่รูปธรรมเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่เขาทำอยู่แล้ว ทางเราไปถอดว่าเป็นคุณธรรมอย่างไร และในส่วนของสมัชชาคุณธรรมจังหวัดที่จะจัดขึ้น ก็เน้นเรื่องเยาวชนและครอบครัว เป็นต้น

เรื่องที่เราอยากฟังคือสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด อาจารย์ทวีก็ให้ข้อมูลว่าส่วนมากจะเป็นงานเชิงโครงสร้าง (การจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนเชิงโครงสร้าง) เป็นการรับฟังเด็กและเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆเสียเป็นส่วนมาก มีแกนนำที่เข้าร่วมเรียนรู้ระดับภาค ระดับชาติ ไม่กี่คน อาจารย์ทวีจึงลงลึกไปในระดับตำบล เพื่อดูข้อมูลเชิงลึก ผลักดันให้แผนงานเกิดขึ้นมาจากเยาวชนในระดับตำบล แล้วค่อยมาประกอบเป็นแผนของระดับอำเภอ ระดับจังหวัดบางตำบลตัวแทน (ประธานสภาเด็กและเยาวชน) ระดับอำเภอก็เป็นตัวแทนระดับตำบลด้วย และดูหลายๆคนมาคุยกันแล้วไม่ได้กลับไปทำอะไรในตำบล

สรุปสถานการณ์เด็กและเยาวชน อาจารย์มีความเห็นว่า เด็กดีทำดีอยู่ในกลุ่มเล็กๆ แต่ยังน้อยและไม่ค่อยได้ยิน เด็กกลุ่มกลางๆ ซึ่งมีแนวโน้มเบี่ยงเบนมีจำนวนเยอะ ส่วนเด็กที่มีปัญหาจนแสดงออกชัดก็มีอีกกลุ่มหนึ่ง ตอนจัดงานสมัชชากคุณธรรมที่สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราชปีที่แล้ว ท่านผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดบอกว่า ทำอย่างไรจะให้มีกิจกรรมเหล่านี้บ่อยๆ เพื่อสร้างพื้นที่ดีๆให้แก่เด็กดี สร้างกระแสดีให้เด็กอื่นๆด้วยนอกจากนี้น่าจะมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องเด็กและเยาวชนระดับจังหวัดร่วมกัน สอดคล้องกับแนวคิดการจัดตลาดนัดความรู้พอดี

จากการชี้เป้าของอาจารย์ทวี สร้อยสิริสุนทร ประกอบกับพื้นที่เคลื่อนไหวในงานชุมชนของอาจารย์จิรวิทย์ และพื้นที่ปฏิบัติการเดิมของสรส.ใน 2 ปีที่ผ่านมา เราจึงได้กลุ่มเป้าหมายและพื้นที่เรียนรู้ในจังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา และป่าละอู ตามรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชนภาคใต้ที่ได้ดำเนินการในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

หลังจากที่รายงานสถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชนภาคใต้ ได้ข้อมูลที่คิดว่าเพียงพอแล้ว งานต่อไปก็คือการร้อยเรียงและทำรูปเล่ม ซึ่งกว่าจะมาเสร็จสิ้นก็ก้าวเข้าสู่เดือนกรกฎาคมเข้าไปแล้ว ผู้ประสานงานพื้นที่ทุกภาคก็มีการนัดคุยกันเป็นระยะๆ โดยเดือนกรกฎาคมนี้ ได้นัดคุยกันเมื่อวันที่ 18 ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาวเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษาพอดี พี่กุ้ง (สหัทยา วิเศษ ผู้ประสานงานภาคเหนือ) พี่อ้อย (วราภรณ์ หลวงมณี ผู้ประสานงานภาคอีสาน) ได้เล่าให้ฟังว่าในระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ แต่ละพื้นที่ก็มีการขับเคลื่อนแบบไม่หยุดพัก หรือหยุดรองวดเงิน งวดงานแต่อย่างไร

ไม่ต่างกับภาคใต้ที่ผม อาจารย์จิรวิทย์ และน้องๆผู้ช่วยอีก 2 คนคือ ราเชน และพงค์ศักดิ์ ก็ลงพื้นที่ไปวิเคราะห์ตัวเด็ก วิเคราะห์ครัวเรือน วิเคราะห์ชุมชน คุยกับผู้นำในพื้นที่ ดูประเด็นความสนใจ และช่องทางอาชีพเกษตรและอาชีพอื่นๆที่เหมาะสมกับชุมชนอยู่เสมอ โดยเฉพาะอาจารย์จิรวิทย์ซึ่งปีนี้สอนแค่สัปดาห์ละ 2 วัน ที่เหลือออกมาทำงานชุมชนตลอด ไม่เว้นแม่แต่วันเสาร์-อาทิตย์ จนพวกเรายกนิ้วให้ อาจารย์แกไม่เหนื่อยบ้างหรืออย่างไร แม้ในความรู้สึกของน้องๆจะเครียดบ้างเวลาอาจารย์ให้การบ้าน โดยเฉพาะงานเขียน แต่พวกเราก็เดาออกว่า สิ่งต่างๆเหล่านี้อาจารย์ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่องานเยาวชนและงานชุมชนนั่นเอง เรียกได้ว่าภาคใต้ได้อาจารย์จิรวิทย์เป็นตัวคอยกระตุ้นและเป็นแบบอย่างของการ “ทำจริง ลงลึก” ได้อย่างดี

เผลอไปไม่นานก็ผ่านเข้าสู่เดือนสิงหาคม ลองนึกย้อนไปดูว่า 2 เดือนที่ผ่านมาเราทำอะไรไปบ้าง และมีอะไรน่าเล่าสู่กันฟัง สามารถตั้งประเด็นเป็น 2 เรื่องใหญ่ๆคือ

1) การเรียนรู้ร่วมกันของภาคีภาคต่างๆ ซึ่งมีกิจกรรมสำคัญ เช่น การร่วมเรียนรู้เวที “เครือข่ายพูนพลังเยาวชน” ที่มูลนิธิสยามกัมมาจล วันที่ 29 กรกฎาคม, การพบปะกันของทีมงานทุกภาคที่จังหวัดนครสวรรค์ วันที่ 3-6 สิงหาคม, การร่วมเรียนรู้ในประเด็น “พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก” โดยสสส.เป็นเจ้าภาพ วันที่ 8 สิงหาคม (เป็นผลสืบเนื่องจากที่เรารู้จักภาคีในเวทีพูนพลังเยาวชน), และการนำเสนอรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชนระดับภาค วันที่ 25 สิงหาคม

นอกจากนี้มีเวที “กล้าใหม่ใฝ่รู้” ระดับอุดมศึกษา ปี 2550 ที่สรส.ร่วมจัดการเรียนรู้แก่นักศึกษา ที่จังหวัดสุพรรณบุรี และเวทีกล้าใหม่ฯ ปี 2551 ที่สรส.เป็นผู้จัดกระบวนการเติมเต็มให้น้องๆก่อนเริ่มทำงานในชุมชน อันเป็นการเรียนรู้ก่อนทำ

ผมขอสรุปว่าจากกิจกรรมทั้งหลายเหล่านี้ ทำให้เราได้รู้จักการทำงานกับเด็กและเยาวชนมากขึ้น เห็นว่าเด็กมีพลังอย่างไร และที่สำคัญทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และเห็นความเคลื่อนไหว (movement) งานเด็กและเยาวชนที่คนอื่นๆทำอยู่ทั่วประเทศมากขึ้น และคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับการทำงานของเราชาวสรส.เป็นอันมาก ติดตามเรื่องราวการเรียนรู้เหล่านี้ได้จากเรื่องเล่าที่ผมในฐานะคอยอำนวยความสะดวก/หนุนเสริมงานเด็กและเยาวชนภาพรวม (อีกหมวกหนึ่ง) จะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป

2) ความเคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีความก้าวหน้าและสถานการณ์ที่น่าสนใจหลากหลายกันไป ไล่ตั้งแต่อำเภอปากพนัง (ตำบลคลองน้อยและคลองกระบือ) อำเภอเมือง (ตำบลท่าเรือ และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กนครศรีธรรมราช) อำเภอพระพรหม (กลุ่มไสต้นทงและเครือข่าย) อำเภอร่อนพิบูลย์ (โรงเรียนเสาธงวิทยา) อำเภอจุฬาภรณ์ (เยาวชนในถิ่นศิษย์เก่าวัดทุ่งโพธิ์) อำเภอทุ่งสง (บัณฑิตนักปฏิบัติคณะเกษตรศาสตร์) อำเภอชะอวด (อบต.และองค์กรภาคี) และอำเภอหาดใหญ่ (อบต.ท่าข้ามและแกนนำเยาวชน)

ทั้งนี้บางพื้นที่ เช่น ป่าละอู (ประจวบคีรีขันธ์และเพชรบุรี) มีแผนการลงพื้นที่ในต้นเดือนกันยายน 2551 ซึ่งสามารถติดตามได้ในยกต่อไป

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ