กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
โครงการเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น สู่วิถีชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภาคเหนือ
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

หลักการเหตุผล

เยาวชนเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของ ประเทศ การที่เยาวชนจะเติบโตขึ้นเป็นประชากรที่มีคุณภาพได้นั้น ควรได้รับการพัฒนาให้มีความรู้ความสามารถ มี ความพากเพียรในการทำงาน มีความพร้อมในการต่อสู้กับอุปสรรคและสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งควรเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมด้วย เมื่อประชากรของประเทศมีคุณภาพดีย่อมส่งผลให้ สภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันสภาพสังคม และเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก ชุมชนที่เคยพึ่งพาอาศัยกัน กลายเป็นสังคมที่มีความห่างเหิน ระบบเงินตรา และระบบทุนนิยมที่ยึดกุมระบบสังคม เศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ส่งผลให้ชุมชนพึ่งพิงภายนอกมากขึ้นทั้งด้านอุปโภค บริโภคที่ไหลลื่นไปตามกระแสของระบบบริโภคนิยม เกิดหนี้สินที่นำมาใช้เป็นทุนในการทำการเกษตร การประกอบอาชีพ อีกทั้งทรัพยากรธรรมชาติเริ่มลดน้อยลง คนในชุมชนต้องต้องออกไปทำงานนอกเพื่อไปรับจ้าง เป็นแรงงานตามบริษัท ห้างร้าน โรงงาน

เมื่อมองในระดับครอบครัวซึ่งเป็นสถาบันหนึ่งของสังคม เด็กที่เรียนหนังสือในโรงเรียน บางคนมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดยาเสพติดติดเกมส์ ติดเพื่อน พากันโดดเรียนไปกินเหล้า สูบบุหรี่ มั่วสุม หนีเที่ยวตามสถานเริงรมย์ เด็กผู้หญิงบางคนตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร บางคนออกจากโรงเรียนกลางคัน ต้องสูญเสียอนาคตปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุหลายประการ ส่วนหนึ่งเกิดจากตัวเด็ก อีกส่วนหนึ่งเกิดจากครอบครัวที่แตกแยกกัน บางครอบครัวพ่อแม่ ผู้ปกครองมีเวลาน้อยลงในการอบรมสั่งสอนบุตรหลาน อีกด้านหนึ่งเกิดจากสื่อที่ไม่มีคุณภาพ นำเสนอสิ่งที่ไม่มีคุณธรรม จริยธรรม ทำให้เด็กเลียนแบบทางที่ไม่ดีจากที่สื่อนำเสนอออกมา

นายกิตติ สมานไทย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ (สท.) กล่าวถึงสถานการณ์เด็กและเยาวชนในปี ๒๕๕๑ ว่า ยังคงมีปัญหาที่น่าเป็นห่วงต่อเนื่องจากปีที่ผ่าน ๆ มา โดยเฉพาะ ๕ ปัญหาหลัก คือ การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่เด็กที่ตั้งครรภ์มีอายุน้อยลง ปัญหาวัยรุ่นมีแนวโน้มดื่มเหล้าสูบบุหรี่มากขึ้น และอายุผู้ดื่มก็น้อยลงเรื่อย ๆ อย่างน่าเป็นห่วง

ปัญหาสุขภาพจิต โดยเด็กอายุ ๘-๑๖ ปี มีปัญหาสุขภาพจิตและพฤติกรรม “ผิดปกติ” กว่า ๖ แสนคน เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า อยากฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ยังมีปัญหาพื้นที่สร้างสรรค์มีน้อยกว่าพื้นที่อบายมุข และปัญหาการรับค่านิยมตะวันตก ทำให้เกิดสภาวะบริโภคนิยมสูง เช่น ทุกคนต้องมีโทรศัพท์มือถือ หรือการบริโภคอาหารที่ไม่มีคุณประโยชน์

นโยบายของรัฐด้านการจัดการศึกษาในปัจจุบัน ไม่สร้างแรงจูงใจให้เด็กเห็นความสำคัญของชุมชนตนเอง วิชาที่สอนมีแต่เรียนรู้สิ่งภายนอก ไม่ได้เรียนรู้สิ่งที่อยู่ภายในชุมชนของตนเอง การปฏิรูปการศึกษาโดยกำหนดให้มีหลักสูตรท้องถิ่นเพิ่งจะมีขึ้นไม่นาน บางโรงเรียนก็ยังไม่เข้าใจเมื่อนำมาปฏิบัติ ทำให้เด็กไม่ได้เรียนรู้ตามเป้าประสงค์ของหลักสูตรท้องถิ่นที่แท้จริง ไม่มีหลักสูตรด้านทักษะชีวิตในระบบการศึกษาปกติ เพื่อสร้างและปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนสามารถตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับตนเองได้อย่างเหมาะสม โดยรู้จักรวบรวมข้อมูลข่าวสาร เพื่อมาประกอบการตัดสินใจ

ส่วนผู้ปกครองเองมีค่านิยมให้ลูกของตนเองเรียนจบในระดับสูง จบแล้วไปทำงานเป็นข้าราชการ เป็นเจ้าคน นายคน ไม่อยากจะให้มาทำการเกษตร หรือมาประกอบอาชีพในชุมชนเหมือนตนเอง ทำให้เด็กจบมาต้องออกไปหางานทำในเมืองใหญ่ ไม่มีเป้าหมายในชีวิตของตนเองบางคนอาย เกิดความไม่มั่นใจหรือไม่กล้าที่จะกลับมาทำประกอบอาชีพในชุมชนของตนเอง เพราะพ่อแม่ ญาติพี่น้อง และคนในชุมชนมองว่าจบการศึกษาสูง ต้องทำงานที่มีเกียรติ และมีเงินเดือน ไม่ใช่มาทำการเกษตร หรือประกอบอาชีพส่วนตัว

จะเห็นได้ว่าในสังคมปัจจุบัน มีจำนวนครอบครัวคุณภาพ สื่อคุณภาพ พื้นที่คุณภาพ และการศึกษาคุณภาพที่ไม่เพียงพอ ถ้าจะต้องปรับปรุงคุณภาพของครอบครัว ของสื่อ ของพื้นที่ในสังคม และระบบการศึกษา ทั้งหมดล้วนแต่จะต้องเริ่มต้นที่ผู้ใหญ่ทั้งหลาย ภาพที่เป็นอยู่และเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ก็คือกระจกสะท้อนภาพที่เป็นอยู่และเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่นั่นเอง

การที่จะทำให้เด็กและเยาวชนรักแผ่นดิน ถิ่นเกิด เกิดจิตสำนึกในการพัฒนาท้องถิ่นนั้น "การสร้างคน" เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาชุมชน พัฒนาสังคมและพัฒนาประเทศ ดังนั้นการเพิ่มทักษะ ความรู้ ความสามารถให้แก่เด็กและเยาวชนทั้งในด้านวิชาชีพ วิชาชีวิต วิชาการ และวิชาชุมชน จะทำให้เยาวชนสามารถพัฒนาตนเองได้ ตามหลักการจัดการความรู้สามารถกำหนดเป้าหมายชีวิตตนเอง ปักธงชีวิตของตนเองได้ เป็น”เยาวชนพันธุ์ใหม่” ที่มีคุณค่า มีคุณภาพ สามารถที่จะใช้ชีวิตในชุมชนได้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สามารถค้นคิดเกิดกิจกรรมใหม่ๆ ในชุมชนพร้อมที่จะเป็นผู้ริเริ่มในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของคนในชุมชน และมีการเชื่อมต่อกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นๆ ในชุมชน และภายนอกชุมชนเพื่อมาหนุนเสริมกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในอนาคต

โครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น ภาคเหนือจึงเกิดขึ้นภายใต้ฐานคิดเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นแบบพอเพียง ที่มีการนำหลักการจัดการความรู้มาใช้ในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ ให้เป็นเยาวชนพันธุ์ใหม่ที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนอย่างมีความมั่นใจ และมีคุณค่าต่อครอบครัว และชุมชนท้องถิ่น

วัตถุประสงค์

(๑)เพื่อค้นหาเยาวชนในและนอกระบบโรงเรียนที่มีใจรักในการพัฒนาตัวเอง/กลุ่มให้สามารถดำรงชีพอยู่ในชุมชนได้อย่างมีความสุขและมีศักดิ์ศรี

(๒)เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนในชุมชนท้องถิ่นภาคเหนือให้มีศักยภาพในการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผ่านการจัดการความรู้

(๓)เพื่อสร้างโอกาสและพื้นที่ให้กับเยาวชนในการดำรงชีวิตในชุมชนผ่านการสนับสนุนของผู้ปกครอง ผู้นำชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

พื้นที่เป้าหมาย


๑. จังหวัดเชียงใหม่

     ๑.๑ บ้านปางจำปี ต.ห้วยแก้ว อ.แม่ออน

     ๑.๒ บ้านทุ่งยาว ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด

     ๑.๓ บ้านป่าไม้แดง ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด

     ๑.๔ ต.สหกรณ์ อ.แม่ออน

     ๑.๕ ต.สะลวง

     ๑.๖ ต.ป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด

     ๑.๗ นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้

๒. จังหวัดเชียงราย

     ๒.๑ ตำบลเวียง อ.เชียงของ

๓. จังหวัดลำพูน

    ๓.๑ บ้านอุดมพัฒนา ต.ศรีวิชัย อ.ลี้

    ๓.๒ บ้านแม่ตืน ต.แม่ตืน อ.ลี้

    ๓.๓ บ้านไร่น้อย ต.ม่วงน้อย อ.ป่าซาง

    ๓.๔ ต.ห้วยยาบ อ.บ้านธิ

๔. จังหวัดพะเยา

    ๔.๑ ชุมชนแม่ต๋ำ อ.เมือง

    ๔.๒ ต.แม่กา อ.เมือง

๕. จังหวัดน่าน

     ๕.๑ต.ดู่พงษ์ อ.สันติสุข

    ๕.๒ต.ถึมตอง อ.เมือง

    ๕.๓ต.ขึ่ง อ.เวียงสา

    ๕.๔ต.น้ำเกี๋ยน อ.ภูเพียง



ขั้นตอนในการดำเนินงาน

(๑)โครงการค้นหาเยาวชนที่สนใจผ่านแกนนำในพื้นที่

(๒)เยาวชนกรอกแบบฟอร์มข้อมูลพื้นฐาน เพื่อประเมินทุกข์ ทุนในครอบครัว ความใฝ่ฝันในอนาคต ส่งให้กับโครงการ

(๓)โครงการจัดเวทีให้เยาวชนวิเคราะห์ตนเองและการปักธงชีวิตภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

(๔)โครงการสืบค้นรวบรวมแหล่งเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องและจัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อการสืบค้น

(๕)โครงการพาเปิดโลกทัศน์กับแหล่งเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการหรือเปิดโอกาสใหม่ๆทางความคิดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเองและชุมชนท้องถิ่นตรวจสอบความมั่นใจในการปักธงชีวิตของแต่ละคนกำหนดขั้นตอนการทำงาน และความรู้ที่จำเป็น

(๖)โครงการให้เยาวชนสืบค้นความรู้จากแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งการสืบค้นทาง Internet

(๗)โครงการจัดเวทีฝึกทักษะการทำแผนงานโครงการให้กับเยาวชน

(๘)เวทีนำเสนอแผนงานของเยาวชนต่อผู้ปกครอง อบต. และตัวแทนมูลนิธิสยามกัมมาจล

(๙)ปฏิบัติการตามแผนงานพร้อมบันทึกร่องรอยการทำงาน (เอกสารภาพถ่าย)

(๑๐)โครงการจัดประชุมถอดบทเรียนจากการปฏิบัติงานในพื้นที่ของเยาวชนและเสริม

การ เรียนรู้ประจำสัปดาห์ (วิชาชีวิตวิชาชุมชนวิชาชีพวิชาการ)

(๑๑)โครงการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามพื้นที่ของเยาวชน ผู้ปกครองอบต. ภูมิ

ปัญญาท้องถิ่นไตรมาสละครั้ง

(๑๒)โครงการจัดเวทีประชุมถอดบทเรียนสังเคราะห์องค์ความรู้และกำหนดแนวทาง

ในการยกระดับการทำงานในช่วงต่อไปปีละครั้ง

(๑๓) โครงการผลิตสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมในการเผยแพร่กิจกรรมของเยาวชนที่เข้า

ร่วมโครงการ

(๑๔) โครงการสร้างความเชื่อมโยงสถาบันการศึกษา องค์กรภาครัฐทั้งในและนอกพื้นที่เข้ามาเรียนรู้กิจกรรมของเยาวชน

ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ

๓ ปีนับตั้งแต่ พฤษภาคม ๒๕๕๑ – มิถุนายน ๒๕๕๓



ผลที่คาดว่าจะได้รับ


(๑)เกิดเยาวชนในพื้นที่ภาคเหนือที่มีจิตสำนึกในการพัฒนาตัวเองเพื่อสร้างอาชีพและพัฒนาชุมชนภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

(๒)เยาวชนเรียนรู้ศักยภาพและพลังที่นำมาใช้พัฒนาตัวเอง ครอบครัวและชุมชนผ่านการเรียนรู้จากการปฏิบัติการจริง

(๓)เยาวชนมีศักยภาพเพิ่มขึ้น อาทิ การเขียนโครงการ การค้นหาความรู้ การเขียนเรื่องเล่าจากการทำงานการผลิตสื่อ การถอดบทเรียน ที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนางานของตนเองได้ในอนาคต



ผู้รับผิดชอบโครงการ


สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

คณะทำงาน

๑.คุณสหัทยาวิเศษ

๒.คุณวันเพ็ญ พรินทรากูล

๓.คุณปณิธีบุญสา

๔.คุณอังคณา ทาลัดชัย

๕.คุณนิตยา โปธาวงค์

๖.คุณวีรพงศ์สมิทจิตต์

๗.คุณณัฐกานต์ จิตรวัฒนา



บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ


๑, ผู้ประสานงานภาค

  • ·รวบรวม ประมวลวิเคราะห์ สังเคราะห์ผลการดำเนินกิจกรรมตามพันธกิจที่กำหนดไว้และเขียนเป็นสรุปรายงานความก้าวหน้าประจำ ๖ เดือน
  • ·ร่วมกับทีมงานในการประสานงานกับเด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย หน่วยงาน องค์กร
  • ·ร่วมกับทีมงานในการจัดทำวิสัยทัศน์และแผนปฎิบัติการอย่างมีส่วนร่วม
  • ·ติดตาม สนับสนุนการดำเนินงานของเด็กและเยาวชนร่วมกับทีมประเมินผลการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
  • ·ประสานงานกับผู้จัดการโครงการและผู้ประสานงานภาคต่างๆในการจัดกิจกรรมร่วมกัน
  • ·จัดการให้เกิดการผลิตสื่อเพื่อสะท้อนผลการดำเนินงานที่หลากหลายในแต่ละช่วงการทำงาน
  • ·ร่วมออกแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้การพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนตามแผนการดำเนินงานแต่ละระยะร่วมกับทีมงาน


๒, ผู้ประสานงานชุมชน

  • ·ร่วมกับทีมงานในการประสานงานกับเด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย หน่วยงาน องค์กร
  • ·ร่วมกับทีมงานในการจัดทำวิสัยทัศน์และแผนปฎิบัติการอย่างมีส่วนร่วม
  • ·สนับสนุน ติดตามการดำเนินงานของเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ใกล้ชิดและพร้อมให้คำปรึกษากับเด็กและเยาวชนให้สามารถปฎิบัติงานตามเป้าหมายที่วางไว้
  • ·บันทึกร่องรอยการทำงานในการเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของเด็กและเยาวชน
  • ·ประสานงานกับครอบครัวชุมชน หน่วยงาน องค์กรต่างๆในการเชื่อมร้อยการทำงานของเด็กและเยาวชน
  • ·ร่วมออกแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้การพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนตามแผนการดำเนินงานแต่ละระยะร่วมกับทีมงาน


๓. เลขานุการโครงการ

  • ·จัดการด้านเอกสารของโครงการและเอกสารการเงินให้เป็นไปตามระเบียบของมูลนิธิที่สามารถตรวจสอบได้
  • ·เป็นศูนย์กลางติดต่อประสานงานกับเด็ก เยาวชน องค์กรภาคี หน่วยงาน รวมถึงทีมทำงาน
  • ·ติดตามบันทึกร่องรอยการทำงานของเด็กและเยาวชนผ่านสื่อต่างๆเพื่อนำไปup load ในเวปไซค์
  • ·ประสานงานในการผลิตสื่อการเรียนรู้ของโครงการ
  • ·ประสานงานการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแผนการดำเนินงาน
  • ·จัดทำระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก และเยาวชนและแหล่งเรียนรู้ต่างๆเชิงเอกสารและระบบปฎิบัติการคอมพิวเตอร์
  • ·หน้าที่อี่นๆตามที่ผู้ประสานงานภาคมอบหมาย

ดาวน์โหลดเอกสาร : โครงการเยาวชนภาคเหนือ(๓ พ.ค.๕๑)

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ