ติดตามชมกิจกรรมในเวทีได้ที่นี่
ค่ายพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนสู่การเป็นพลเมืองรุ่นใหม่
ที่สามารถดึงศักยภาพของตนเองออกมารับใช้ชุมชนสังคมอย่างสร้างสรรค์
ครั้งที่ 2 วันที่ 30 เมษายน-11 พฤษภาคม 2561
ณ ศูนย์ปราชญ์พ่อคำเดื่อง ภาษี บ้านโนนเขา หมู่ 8
ตำบลหัวฝาย อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์
........................................................
ผู้ใหญ่ในสังคมปัจจุบันต่างตระหนักถึงความสำคัญของเด็กและเยาวชนที่จะเป็นอนาคตของท้องถิ่น และสังคมโลก ในขณะเดียวกันสังคมโลกภายใต้ยุคเทคโนโลยีการสื่อสารที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมมนุษย์อย่างรวดเร็ว วิธีการเรียนรู้แบบเดิมๆ คือการเรียนแบบท่องจำที่เคยใช้ได้ผลในยุคสมัยที่ผ่านมา ที่ต้องใช้ความจำ ความแม่นยำไม่อาจใช้ได้กับการทำงานในยุคนี้ เพราะหุ่นยนต์ประดิษฐ์ สามารถทำงานเหล่านี้ได้ดีกว่ามนุษย์ หลายองค์กรจึงได้ปรับลดปริมาณคนทำงานลงเป็นอย่างมาก และหันมาใช้หุ่นยนต์ ประดิษฐ์แทน
การงานของมนุษย์ในอนาคตจะต้องใช้คุณสมบัติที่แตกต่างออกไปจากหุ่นยนต์ประดิษฐ์ อันได้แก่ ความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ให้เกิดความงามในแง่มุมต่างๆ ซึ่งต้องอาศัยคุณสมบัติภายในของบุคคลอย่างยิ่ง เช่น ความมีน้ำใจ ความใส่ใจต่อสิ่งต่างๆ การสร้างความไว้วางใจ การทำงานเป็นทีม การตระหนักรู้ในตนเอง การเห็นคุณค่าของตนเอง การเห็นคุณค่าของผู้อื่น และที่สำคัญการรักในการเรียนรู้ พร้อมกับการมีเครื่องมือในการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์
การจัดการเรียนรู้ของเด็กเยาวชนในยุคนี้จึงต้องเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลก บนพื้นฐานของการสร้างโลกภายในจิตใจให้เป็นฐานรองรับที่มั่นคง มีสติและจิตใจที่ตั้งมั่นรู้เท่าทันปัจจุบัน
จากกระบวนการทำงานด้านการจัดการเรียนรู้ของสถาบันยุวโพธิชน สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ ค้นพบว่า กระบวนการเรียนรู้คือ กระบวนการบ่มเพาะให้เกิดคุณสมบัติภายในผ่านการลงมือปฏิบัติและใคร่ครวญ ภายใต้ชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน หมายถึง การมีพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กเยาวชนได้เรียนรู้ที่จะคิด ลงมือทำ และสัมผัสสิ่งเหล่านี้ด้วยหัวใจ บนฐานของการไม่ตัดสินด้วยมาตรฐานใดๆ พวกเขาก็จะสามารถดึงพลังด้านบวกที่มีอยู่ในตัวตนออกมาสร้างสรรค์สิ่งเกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และชุมชน
ค่ายพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนสู่การเป็นพลเมืองรุ่นใหม่ที่สามารถดึงศักยภาพของตนเองออกมารับใช้ชุมชนสังคมอย่างสร้างสรรค์ จึงใช้ระยะเวลา 10 วัน ในการบ่มเพราะทั้งได้จิตใจ ความรู้ และทักษะสำหรับแกนนำเยาวชนทั้ง 11 ตำบลให้สามารถดึงพลังสร้างสรรค์ของตนเองออกมารับใช้สังคมได้ หลังจากค่ายนี้ยังมีกระบวนการพัฒนาเยาวชนอย่างต่อเนื่องได้แก่ การมีพื้นที่ได้ทดลองทำโครงงานหรือกิจกรรมที่ตนเองคิด การได้นำเสนอ และการถอดบทเรียนอย่างต่อเนื่อง
วัตถุประสงค์
1.เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนในพื้นที่เครือข่ายนักถักทอชุมชน 11 อปท. ให้เป็นพื้นที่นำร่องของจังหวัดสุรินทร์ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน
2.เพื่อเสริมศักยภาพแกนนำเด็กเยาวชนให้เกิดภาวะผู้นำ มีทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นบนความแตกต่างหลากหลาย และนำเสนอความคิดของตนเองได้อย่างชัดเจน
3.แกนนำเด็กเยาวชนสามารถสร้างการมีส่วนร่วมทั้งเด็กเยาวชน และผู้ใหญ่ในชุมชนในการทำ “โครงงานคนรุ่นใหม่สร้างสรรค์ชุมชน” เพื่อให้คนในชุมชนเกิดความรักและภาคภูมิใจในชุมชนท้องถิ่นของตนเอง
4.เพื่อให้เกิดกลไกในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในระดับตำบลและชุมชน
กลุ่มเป้าหมาย
รุ่นที่ 2 ประกอบด้วย อบต.หนองอียอ, ทต.เมืองแก, ทต.กันตวจระมวล
วิธีการ ขั้นตอนการดำเนินงาน
1.ประชุมสร้างเป้าหมาย และวิธีการดำเนินงานร่วมกัน ทั้ง 11 อปท. สถาบันยุวโพธิชน สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561
2.แต่ละ อปท. จัดกระบวนการค้นหาและคัดสรรแกนนำเยาวชนที่จะเข้าค่าย 10 วัน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2561
3.เวทีเตรียมผู้เข้าร่วมค่าย 10 วัน วันที่ 9 เมษายน 2561
4.พัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนสู่การเป็นคนรุ่นใหม่ที่สามารถดึงศักยภาพ ของตนเองออกมารับใช้ชุมชนสังคมอย่างสร้างสรรค์ โดยเยาวชนจะมีโครงงานกลับไปทำต่อเนื่องในชุมชน เงื่อนไขโครงงานฯได้แก่
(1) องค์ประกอบของผู้รับผิดชอบโครงการ ได้แก่แกนนำเยาวชน อย่างน้อย 5 คน พี่เลี้ยง/นักถักทอโครงการละอย่างน้อย 2 คน
(2) เป็นโครงการที่สร้างการมีส่วนร่วมของเด็กเยาวชนและคนในชุมชน
(3) เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และชุมชน
(4) ใช้ทุนทางสังคม
(5) งบประมาณสนับสนุนจาก สรส./มูลนิธิสยามกัมมาจล
(6) ระยะเวลาภายในเวลา 1 เดือน
5.เวทีนำเสนอ “โครงงานคนรุ่นใหม่สร้างสรรค์ชุมชนต่อผู้นำชุมชน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง”
ผลลัพธ์ ผู้นำชุมชน และองค์กรที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมเรียนรู้ รวมทั้งการตระหนักรู้ถึงศักยภาพเด็กมีแนวนโยบายสนับสนุนงานต่อเนื่อง และแกนนำเด็กเยาวชนได้ฝึกการนำเสนอ
ระยะเวลา หลัง 15 พฤษภาคม 61
1.แกนนำเยาวชนขับเคลื่อนโครงงานให้สำเร็จใน 1 เดือน
ผลลัพธ์แกนนำเยาวชนได้เรียนรู้และฝึกฝนการทำงานแบบมีส่วนร่วม ให้ประสบผลสำเร็จ เด็กเยาวชนและคนในชุมชนเกิดความรักและภาคภูมิใจ ในชุมชนท้องถิ่นของตนเอง
ระยะเวลา1-30 มิถุนายน 61
2.เวทีสรุปบทเรียนในระดับตำบล
ผลลัพธ์เด็กเยาวชนเกิดการเรียนรู้หลังการลงมือทำโครงงาน และสามารถคิดพัฒนาต่อยอดโครงงานได้ รวมถึงเรียนรู้การถอดบทเรียนหลังการลงมือทำ
ระยะเวลา ต้นกรกฎาคม 61
3.เวทีสรุปบทเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 11 อปท.
ผลลัพธ์ เกิดการเรียนรู้จากกันและกัน กระตุ้นการลงมือทำและพัฒนาต่อยอด เรียนรู้การนำเสนอให้ผู้อื่นได้รับรู้และเข้าใจในสิ่งที่ตนเองทำและโจทย์สำหรับดำเนินงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นต่อไป
ระยะเวลา ปลายกรกฎาคม 61
4.เวทีพูนพลังเยาวชน พลัง อปท. จังหวัดสุรินทร์
ผลลัพธ์การเผยแพร่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการงานวิจัย และกระบวนการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อพัฒนาและขยายความร่วมมือในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในระดับชุมชน ตำบล อำเภอ และจังหวัด
ระยะเวลา ตุลาคม 61
คุณสมบัติของผู้เข้าร่วม
1.อายุ 14 ปีขึ้นไป
2.มีความต้องการในการพัฒนาตนเอง
3.มีศักยภาพในการเป็นผู้นำ
4.มีแนวโน้มในการรักการทำงานเพื่อผู้อื่น
สนับสนุนโดย
- มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
- กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
- สถาบันยุวโพธิชน สถาบันยุวโพธิชน มูลนิธิสัมมาชีพ
- สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น
- สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.)
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)
- มูลนิธิสยามกัมมาจล
ติดตามชมกิจกรรมค่ายครั้งที่ 1 (วันที่ 19 - 30 เม.ย.) ได้ที่นี่