
ชุมชนบ้านเหล่ายาว ตำบลวอเสริมกลาง อำเภอเสริมงาม
จังหวัดลำปาง อาจไม่ต่างจากอีกหลายๆ ชุมชนที่มีปัญหาการจัดการขยะ
ซึ่งบั่นทอนชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุมชน
จะต่างกันก็เพียงระดับความหนักเบาของปัญหา ซึ่งเรียกได้ว่า
ระดับปัญหาที่บ้านเหล่ายาวอยู่ในภาวะวิกฤติ
ชุมชนบ้านเหล่ายาว ตำบลวอเสริมกลาง อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง อาจไม่ต่างจากอีกหลายๆ ชุมชนที่มีปัญหาการจัดการขยะ ซึ่งบั่นทอนชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุมชน จะต่างกันก็เพียงระดับความหนักเบาของปัญหา ซึ่งเรียกได้ว่า ระดับปัญหาที่บ้านเหล่ายาวอยู่ในภาวะวิกฤติ
ยังดีที่มีพลังสร้างสรรค์จาก 11 นักศึกษา คณะวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ในการส่งเสริมของศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่รู้สึกร้อนหนาวไปกับปัญหาของชุมชน โดยจัดทำ โครงการเตาเผาขยะชุมชนลดมลภาวะ เพิ่มผลิตภัณฑ์ สร้างความเป็นอยู่แบบพอเพียง เพื่อขอรับการสนับสนุนจากโครงการ “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งผลสำเร็จของมันทำให้โครงการได้รับเสียงเชียร์จากพนักงานไทยพาณิชย์ โหวตให้ได้รางวัล “ขวัญใจไทยพาณิชย์” ประจำปี 2551
นายวีระ นากระโทก หรือ โอห์ม แกนนำโครงการเท้าความปัญหาขยะของชุมชนว่า ชาวชุมชนมีความยากลำบากในการจัดการขยะอย่างมาก เพราะไม่มีแหล่งทิ้งขยะของชุมชน ชาวบ้านจำนวนมากต้องนำขยะไปทิ้งที่ลานทิ้งขยะนอกชุมชนซึ่งอยู่ไกลออกไป 4 กิโลเมตร แถมยังไม่ใช่ที่ทิ้งขยะที่เหมาะสม เพราะอยู่ใกล้แหล่งน้ำ น้ำขยะไหลนองและทำให้แหล่งน้ำเน่าเสีย
ขณะที่ชาวบ้านอีกไม่น้อยเลือกที่จะทิ้งขยะไว้สองข้างถนน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์โรคร้ายจากหนูและสัตว์ที่มาคุ้ยเขี่ยหาเศษอาหาร ยิ่งไปกว่านั้นบางรายยังเลือกเผาขยะกลางแจ้ง ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งเดือดร้อนกันทั้งหมู่บ้าน ซึ่งจากการสังเกตพฤติกรรมการทิ้งขยะของชุมชนแล้ว พบว่าชาวบ้านยังไม่รู้จักการคัดแยกขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ซ้ำ
“โครงการที่พวกเราเข้าไปจุดประกายให้แก่ชุมชน คือ การก่อสร้างเตาเผาขยะชุมชนที่ได้มาตรฐาน ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลของการจัดการขยะ เพื่อให้ชุมชนมีที่ทิ้งและกำจัดขยะ ลดมลพิษที่ชาวชุมชนจะได้รับ จึงเป็นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยตรง” โอห์มกล่าว
ขณะเดียวกันก็มีผลพลอยได้จากการเผาขยะ คือ ถ่านจากเศษไม้และน้ำส้มควันไม้ไว้ใช้ประโยชน์ในชุมชน ซึ่งหากมีเหลือมากก็สามารถจำหน่ายเสริมสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ การพึ่งพาตนเองบนวิถีพอเพียง อันจะเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยอ้อม
สำหรับการเข้าชุมชน
โอห์ม บอกว่า เริ่มต้นจากการจัดเวทีเสวนาระหว่างชาวบ้านและนักศึกษา เพื่อให้ชาวบ้านได้เห็นปัญหาและตระหนักถึงผลกระทบของปัญหา โดยเน้นการเสนอแนวคิดการสร้างเตาเผาขยะต้นทุนต่ำเพื่อใช้งานในชุมชน
“ในเวลานั้น เมื่อเราสร้างความเข้าใจและหาทางออกในการแก้ปัญหาให้แก่ชุมชนได้แล้วนักศึกษาและชาวบ้านก็ร่วมกันสร้างเตาเผาขยะชุมชนขึ้นตามรูปแบบที่ได้ศึกษาค้นคว้าจากงานวิจัยต่างๆ โดยใช้ดินเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้างเพื่อลดต้นทุน อีกทั้งยังเป็นการนำเอานวัตกรรมใหม่มาประยุกต์ใช้งานคือ การนำเอาขยะแห้งมาเป็นเชื้อเพลิงในการกำจัดขยะอื่นๆ ทำให้ลดต้นทุนในการกำจัดขยะได้อีกส่วนหนึ่ง”
โอห์มบอกต่อไปว่า จากการลงมือลงแรงร่วมกันแก้ปัญหาในหมู่บ้านของชาวบ้านและนักศึกษา ทำให้ตัวโครงงานมีส่วนช่วยลดปัญหามลภาวะในชุมชนได้เป็นที่น่าพอใจ ชุมชนมีเตาเผาขยะเป็นของตนเอง โดยยังได้รับเกียรติจากนายอำเภอเสริมงามเป็นประธานพิธีเปิดเตาเผาขยะ ทุกวันจะมีชาวบ้านนำขยะมาเผาที่เตาเผาขยะแห่งนี้โดยเฉลี่ยประมาณ 70% ของปริมาณที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ที่สำคัญยังเป็นต้นแบบให้กับชุมชนข้างเคียงที่แสดงความสนใจในแนวคิดเตาเผาขยะชุมชนเป็นอย่างมาก
“ปัจจุบัน ทางกลุ่มของเราก็ยังไม่หยุดที่จะทำโครงการต่อนะครับ เรายังได้จัดตั้ง กลุ่มนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ขึ้นเพื่อให้เป็นกลุ่มที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมให้แก่ชาวบ้านและชุมชนภายใต้กระบวนการจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์...
“โดยอีกกิจกรรมที่เราทำควบคู่ตลอดโครงการยังมีการส่งเสริมพัฒนาเด็กๆ บ้านเหล่ายาว ซึ่งเป็นรากแก้วของชุมชนให้รู้จักการอนุรักษ์รักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรมละครเวทีและการเขียนเรียงความอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะเขาเหล่านี้จะผู้ทำให้เกิดความมั่นคง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา ตลอดจนผลักดันให้เกิดคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เกิดมิติของการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนที่บ้านเหล่ายาวในที่สุด” โอห์มปิดท้าย
โครงการกล้าใหม่...ใฝ่รู้
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
หัวหน้าโครงการ/ผู้ประสานงาน:
วีระ นากระโทก “โอห์ม”
E-mail : weera_yui@hotmail.com