กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
จาก "ของจิ๋ว" สู่ชีวิตแจ่มใส
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

เป็น ที่มาของโครงการ "อนุรักษ์ของจิ๋วสร้างอาชีพด้วยวิถีมอญ" ริเริ่มโดยกลุ่มเยาวชนจากรั้วแม่โดม ในการส่งเสริมของศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยนำโครงการขอรับการสนับสนุนจากโครงการ "กล้าใหม่...ใฝ่รู้" ประจำปี 2551 ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 




กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน
 อาจเป็นโชคร้ายของชุมชนบ้านงิ้ว อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ชุมชนชาวมอญที่ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี เพราะเป็นที่ราบลุ่มติดแม่น้ำเจ้าพระยา จนคนในพื้นที่ไม่เป็นอันทำมาหากิน ฐานะจึงพลอยยากจน ยังดีที่มีมรดกทางวัฒนธรรมเป็นต้นทุนชุมชนที่พลิกวิกฤติเป็นโอกาสได้ …

เป็นที่มาของโครงการ “อนุรักษ์ของจิ๋วสร้างอาชีพด้วยวิถีมอญ” ริเริ่มโดยกลุ่มเยาวชนจากรั้วแม่โดม ในการส่งเสริมของศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยนำโครงการขอรับการสนับสนุนจากโครงการ “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” ประจำปี 2551 ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
 

นายพูลสวัสดิ์ จันทร์ไทย หรือ "บอย" ประธานโครงการ ที่วันนี้เป็นบัณฑิตสาขาประชาสัมพันธ์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงแรงบันดาลใจในโครงการอนุรักษ์ของจิ๋วสร้างอาชีพด้วยวิถีมอญว่า เพื่อนำมรดกตกทอด คือ “ของจิ๋วชาวมอญสามโคก” สร้างรายได้ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยเชื้อสายมอญใน อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกับมหาวิทยาลัยให้ดีขึ้น

“ที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่จะทำงานในโรงงานย่านปทุมธานีเป็นอาชีพหลัก และไม่มีอาชีพเสริมอย่างอื่น เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเป็นประจำทุกปีก็เดือดร้อนกันทุกปี” บอยเท้าความและว่า “ของจิ๋ว” ซึ่งปั้นจากดินเพื่อใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ประดับตกแต่งบนโต๊ะ และชั้นวางของ เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ทีมโครงการเข้าสำรวจชุมชนและพบศักยภาพว่าน่าจะใช้เป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้ทดแทนที่ขาดหายไปในช่วงน้ำท่วม ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานหรือการรวมกลุ่มส่งเสริมการผลิตสินค้าชนิดนี้เป็นการเฉพาะ

ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจาก “ป้าอุบล นิกะดานนท์” ชาวบ้านในพื้นที่ ต้นตำรับผู้ชำนาญการปั้นของจิ๋วยินดีเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ชาวชุมชนคนอื่นๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางประกอบอาชีพ เพราะการฝึกปั้นของจิ๋วไม่ยากมากนัก อีกทั้งของจิ๋วมีราคาดี และยังเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกค้าในกลุ่มโรงแรม บ้านพัก และรีสอร์ท

เมื่อสำรวจต้นทุนในชุมชนดีแล้วจึงไม่รอช้า บอยและเพื่อนร่วมทีมจึงขันอาสาจัดการฝึกอบรมทำของจิ๋วให้แก่ชาวบ้านภายในชุมชนบ้านงิ้ว โดยตลอดการอบรมจำนวน 4 ครั้งในช่วง 2 เดือนของการลงชุมชนเป็นไปอย่างราบรื่น ผู้นำชุมชนและชาวบ้านให้การตอบรับเป็นอย่างดี มีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ชาวบ้านที่ทำงานในโรงงาน และที่รับราชการ เข้ารับการอบรม

“จากประสบการณ์ของป้าอุบล การทำของจิ๋วจะมีต้นทุนเพียงประมาณ 500 บาท แต่จะสร้างรายได้กลับคืนมาได้ถึง 4 -5 พันบาท คือกำไรถึงประมาณ 10 เท่า” อีกทั้งบอยและเพื่อนยังได้ช่วยชาวบ้านจัดหาตลาด การติดต่อกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมและบ้านพักเป้าหมาย และพยายามผลักดันให้ของจิ๋วสามโคกเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ระดับห้าดาว
   
"ผมแอบหวังลึกๆ ว่าระยะยาวแล้วอาชีพการปั้นของจิ๋วจะทำให้ชาวบ้านสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ อาจพัฒนาสู่การเป็นอาชีพหลัก เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมอย่างหนึ่งของท้องถิ่น และหากเป็นไปได้มากกว่านั้นก็อยากเห็นการเติบโตของชุมชนวิถีมอญให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไปด้วย ซึ่งจะเกิดเป็นความเข้มแข็งของชุมชนมากขึ้น" ประธานโครงการว่า ขณะที่ด้านหนึ่งเป็นการหาอาชีพสร้างรายได้เพิ่ม อีกด้านหนึ่งก็เป็นการอุดช่องว่างลดรายจ่ายเพื่อความยั่งยืนของชุมชนชาวมอญสามโคกบนวิถีทางของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อนร่วมทีมอย่าง นางสาวปรียารัตน์ บุญมี หรือ นุช บอกว่า ทีมกล้าใหม่ยังได้จัดการฝึกอบรมผลิตข้าวของเครื่องใช้ง่ายๆ ให้แก่ชาวชุมชน เช่น น้ำยาสระผม น้ำยาล้างจาน น้ำยาทำความสะอาดพื้น ครีมนวดผม ลิปมันทาปาก และครีมทากันส้นเท้าแตก

“กิจกรรมนี้ เราจัดสลับกับการอบรมสาธิตการทำของจิ๋วค่ะ จัดเดือนละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 2 เดือน รวม 4 ครั้ง ทำให้ชาวบ้านได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า เบื้องต้นก็ผลิตข้าวของไว้ใช้กันเองในครอบครัว เป็นการประหยัดสตางค์ แต่หากเหลือใช้ก็สามารถนำออกขายภายในชุมชน เด็กและชาวบ้านก็จะมีความรู้ติดตัว ต่อไปก็อาจพัฒนาเป็นอาชีพเลี้ยงตัวได้” นุชกล่าว

นอกเหนือจากชุมชนชาวมอญมีความเข้มแข็งขึ้นจากสิ่งที่ได้รับการหยิบยื่นให้ ฝ่ายคนทำโครงการเองก็เติบโตขึ้น บอยบอกว่า “แต่ก่อน ผมเป็นนักกิจกรรมที่มองว่าการทำกิจกรรมจะเป็นใบเบิกทางให้เรามีพอร์ตฟอร์ลิโอดีๆ เวลาไปสมัครงาน เราก็จะมีต้นทุนสูงกว่าคนอื่นๆ ได้งานดีๆ ผลตอบแทนมากๆ”

“แต่พอได้ลงมาสัมผัสกับคนในชุมชนจริงๆ แล้ว เราถึงรู้ถึงความยากลำบากของคนที่เขาลำบากกว่าเรา หากเรายังจะไปหาประโยชน์บนความยากลำบากของเขาอีก เราก็เป็นคนที่แย่มากๆ” บอยว่า
   
 

“ทุกวันนี้ การทำกิจกรรมของผมจึงเปลี่ยนไป คือ ไม่ได้ต้องการทำกิจกรรมเพื่อตัวเองอีกแล้ว แต่เป็นการทำงานเพื่อช่วยเหลือคนอื่น กลายเป็นจิตอาสาที่เป็นไปเพื่อคนอื่นจริงๆ เพราะเชื่อว่าเมื่อชุมชนเข้มแข็งดีแล้ว ผลสะท้อนจะกลับมาสู่ตัวเราเองไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง” บอย – ประธานโครงการกล่าว

ขณะที่นุช เสริมว่า การเข้าทำโครงการนี้ทำให้เธอได้พบประสบการณ์การทำงานใหม่ที่ต่างออกไปจากเดิม จำเป็นต้องปรับตัวและมีความรับผิดชอบมากขึ้นเมื่อเทียบกับการทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัย เพราะการทำงานกับชุมชน จำเป็นต้องทำงานร่วมกับผู้คนหลายช่วงวัยและหลายสถานะ ขณะเดียวกันก็รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนทำให้ชุมชนแห่งนี้เกิดความร่วมแรงร่วมใจ มีความสามัคคีในการที่จะพัฒนาชุมชนของตนเองให้ดีขึ้น

“หากอนาคตข้างหน้ามีเหตุการณ์ใดๆ ก็ตามที่เป็นภัยต่อชุมชนพวกเขาเกิดขึ้น พวกเขาก็จะร่วมมือกันปกป้องชุมชนของตัวเอง” นุช สมาชิกสาวของทีมปิดท้ายด้วยความเชื่อมั่น
 

โครงการกล้าใหม่...ใฝ่รู้
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

หัวหน้าโครงการ/ผู้ประสานงาน: พูลสวัสดิ์ จันทร์ไทย “บอย”
E-mail : poonsay@hotmail.com

ปรียารัตน์ บุญมี “นุช”
E-mail : preeya007@hotmail.com
"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ