จัดทำโดย
เด็กหญิงอรทัย คีรีบำรุง รหัสประจำตัว 7264
เด็กหญิงสุกัญญา แซ่กือ รหัสประจำตัว 7607
เด็กหญิงพิชชาภา ทารินทร์ รหัสประจำตัว 9058
ที่ปรึกษา : นายพิริยพงษ์ ลอยเลิศ
ที่มาและความสำคัญ
แผนการศึกษาแห่งชาติ แผนพัฒนาการศึกษานโยบายของรัฐบาล ต่างมุ้งเน้นการจัดการการศึกษา “เพื่อชีวิตและสังคม”ให้เยาวชนของชาติ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ มีวัฒนธรรม คุณธรรม สามารถทำงานเป็นกลุ่ม พึ่งตนเองและเห็นแนวทางในการประกอบอาชีพรวมทั้งสามารถใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ในชีวิต ดังนั้น เมื่อนำแผนและนโยบายไปสู่การปฏิบัติในรูปของหลักสูตรระดับมัธยมศึกษา แนวทางหนึ่งที่จะทำให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่เรียนจากรายวิชาและกิจกรรมต่าง ๆ มาใช้ในลักษณะบูรณาการ การส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระเพื่อการมีรายได้ระหว่างเรียน ซึ่งการส่งเสริมดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ความรู้และทักษะหลายอย่างประกอบกัน นอกจากนี้ยังมุ้งเน้นให้นักเรียนมั่นใจในคุณค่าของการเรียน ว่าสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริง มั่นใจในศักยภาพของตน รู้จักแหล่งความรู้ รู้จักคิดแก้ปัญหา รู้จักสร้างงาน และมีคุณธรรมที่เอื้อประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม
ด้วยโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ตาก เป็นโรงเรียนประจำ ประเภท ด้อยโอกาส 10 ประเภท ประกอบด้วยชนผ่าต่าง ๆ อาทิเช่น เผ่าม้ง เผ่ากะเหรี่ยง เผ่าลีซอ เผ่าเย้า อาข่า มูเซอ และเผ่าไทย โดยมุ้งเน้นให้นักเรียนมีสมรรถนะสำคัญ คือ
1. ความสามารถในการคิด เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ การคิดอย่างสร้างสรรค์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิดเป็นระบบเพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้หรือสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองและสังคมได้อย่างเหมาะสม
2. ความสามารถในการแก้ปัญหา รู้จักการแก้ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เผชิญได้อย่างถูกต้องเหมาะสมบนพื้นฐานของหลักเหตุผล คุณธรรม ประยุกต์ความรู้มาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา และมีการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อม
3. ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต เป็นการนำกระบวนการต่าง ๆ ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การทำงาน และการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคล การจัดการปัญหาและความขัดแย้งต่าง ๆ อย่างเหมาะสม การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม และสภาพแวดล้อมและการรู้จักหลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น ด้วยการปฏิบัติจริงในศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง
โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ตาก เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ จึงมีเศษอาหารที่เหลือจากการรับประทานอาหาร เช้า กลางวัน และเย็น ของนักเรียนในแต่ละวัน เป็นจำนวนมากจึงทำให้เกิดปัญหาเรื่องขยะที่เกิดจากเศษอาหารซึ่งเหลือจากการรับประทานอาหารกลางวันอยู่มากพอสมควร ถึงแม้ว่าเศษอาหารบางส่วนนำไปเลี้ยงหมูอยู่บ้างและจากที่คณะกรรมการได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินชีวิต ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ซึ่งพระองค์ทรงสอนให้ประชาชนให้รู้จักดำเนินชีวิต แบบพึ่งพาตนเองให้รู้จักนำสิ่งต่างๆ รอบตัวเรามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงทำให้คณะกรรมการมีแนวคิดที่จะเปรียบเทียบประสิทธิภาพการกำจัดกลิ่นของน้ำหมักชีวภาพ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนสู่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จากกลิ่นมะกรูด ตะไคร้ และใบเตย โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ตากจึงได้จัดตั้งโครงการส่งเสริมอาชีพอิสระเพื่อการมีรายได้ระหว่างเรียน ซึ่งเป็นวิธีการที่จะช่วยหารายได้เสริมระหว่างเรียนเพื่อแบ่งเบาภาระ ผู้ปกครอง สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประจำวันของคณะกรรมการ สามารถนำน้ำหมักชีวภาพมาดับกลิ่นที่เกิดจากห้องน้ำของโรงเรียน ที่ส่งกลิ่นเหม็นรบกวน ครู และนักเรียนอยู่เป็นประจำ แทนการใช้สารเคมีเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ให้กับคณะกรรมการและยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน อีกทั้งเป็นการสนองพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับการดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง
วัตถุประสงค์ในการศึกษา
1. เพื่อศึกษาวิธีการทำน้ำหมักชีวภาพกลิ่นธรรมชาติ กลิ่นมะกรูด กลิ่นตะไคร้ และกลิ่นใบเตย
2. เพื่อเปรียบเทียบน้ำหมักชีวภาพกลิ่นธรรมชาติ กลิ่นมะกรูด กลิ่นตะไคร้ และกลิ่นใบเตย
3. เพื่อปลูกฝังนิสัยให้นักเรียนมีนิสัยรักการทำงาน ทำงานร่วมกับผู้อื่น และพึ่งตนเองได้
4. เพื่อศึกษาความพึงพอในการใช้น้ำสกัดชีวภาพกลิ่นธรรมชาติกับน้ำหมักชีวภาพกลิ่นมะกรูด กลิ่นตะไคร้ และกลิ่นใบเตย
วิธีการดำเนินงาน
1. นำเศษอาหารคลุกกับน้ำหมักชีวภาพขยายและกากน้ำตาลคนให้เข้ากันในกะละมัง ใส่ถังพลาสติกปิดฝาให้สนิท เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศเข้า ทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ จะนำน้ำสกัดชีวภาพ (EM) ที่ได้เป็น หัวเชื้อ (จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ)
2. นำน้ำหมักชีวภาพ (EM) (หัวเชื้อ จากข้อ 1) ปริมาณ 150 มิลลิลิตร ผสมกับน้ำเปล่า 5 ลิตรในถังพลาสติกเติมกากน้ำตาล 150 มิลลิลิตร คนให้เข้ากัน ปิดฝาทิ้งไว้ 1 คืน ได้น้ำสกัดชีวภาพกลิ่นธรรมชาติ
3. นำน้ำหมักชีวภาพ (EM) (หัวเชื้อ จากข้อ 1) ปริมาณ 150 มิลลิลิตร ผสมกับน้ำเปล่า 5 ลิตรในถังพลาสติกเติมกากน้ำตาล 150 มิลลิลิตร คนให้เข้ากัน หั่นมะกรูดและ บีบเอาน้ำใส่ไปในถังทั้งเปลือกมะกรูดและน้ำมะกรูดปิดฝาทิ้งไว้ 1 คืน ได้น้ำสกัดชีวภาพกลิ่นมะกรูด
4. นำน้ำหมักชีวภาพ (EM) (หัวเชื้อ จากข้อ 1) ปริมาณ 150 มิลลิลิตร ผสมกับน้ำเปล่า 5 ลิตรในถังพลาสติกเติมกากน้ำตาล 150 มิลลิลิตร คนให้เข้ากัน หั่นตะไคร้ ปริมาณ 1 กิโลกรัม ปิดฝาทิ้งไว้ 1 คืน ได้น้ำสกัดชีวภาพกลิ่นตะไคร้18
5. นำน้ำหมักชีวภาพ (EM) (หัวเชื้อ จากข้อ 1) ปริมาณ 150 มิลลิลิตร ผสมกับน้ำเปล่า 5 ลิตรในถังพลาสติกเติมกากน้ำตาล 150 มิลลิลิตร คนให้เข้ากัน หั่นใบเตย ปริมาณ 1 กิโลกรัม ปิดฝาทิ้งไว้ 1 คืน ได้น้ำสกัดชีวภาพกลิ่นใบเตย
6. นำน้ำสกัดชีวภาพกลิ่นธรรมชาติ กลิ่นมะกรูด กลิ่นตะไคร้ และกลิ่นใบเตย ตามลำดับ ปริมาณ 500 มิลลิลิตร ใส่กระบอกฉีดน้ำแล้วนำไปฉีดบริเวณพื้นและบริเวณโถส้วม ห้องสุขา ห้องที่ 1,2, 3, 4 และ 5 ให้ทั่ว จำนวน 5 ครั้ง สังเกตและบันทึกผล
7. ทำการทดลองซ้ำ ข้อที่ 6 โดยใช้ห้องสุขา ห้องที่ 2, 3, 4 และ 5 ตามลำดับ สังเกตและบันทึกผล
วัสดุอุปกรณ์
1. เศษอาหาร 2 กิโลกรัม
2. สารน้ำหมักชีวภาพขยาย 600 มิลลิลิตร
3. กากน้ำตาล 600 มิลลิลิตร
4. กะละมังขนาดเล็ก 1 ใบ
5. ตะกร้าพลาสติก 1 ใบ
6. ผ้าบางใช้แล้ว 1 ผืน
7. ทัพพี 1 ด้าม
8. บีกเกอร์ขนาด 200 ml 1 ใบ
9. ขวดพลาสติกขนาดเล็ก 40 ขวด
10. มะกรูด 1 กิโลกรัม
11. ตะไคร้ 1 กิโลกรัม
12. ใบเตย 1 กิโลกรัม
13. น้ำเปล่า 20 ลิตร
14. ถังพลาสติกพร้อมฝาปิด 4 ใบ
15. กระบอกฉีดน้ำ 4 ใบ
สรุปผล อภิปรายผลและข้อเสนอแนะ
การศึกษาอิทธิพลของน้ำหมักชีวภาพที่มีผลต่อการกำจัดกลิ่น เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนสู่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเปรียบเทียบน้ำหมักชีวภาพกลิ่นธรรมชาติ น้ำสกัดชีวภาพกลิ่นมะกรูด กลิ่นตะไคร้หอม และกลิ่นใบเตยหอม โดยตั้งสมมติฐานการศึกษาค้นคว้า คือ เศษอาหารสามารถนำมาทำน้ำสกัดชีวภาพ (EM) ที่มีประสิทธิภาพในการดับกลิ่น และน้ำหมักชีวภาพกลิ่นมะกรูด น้ำหมักชีวภาพกลิ่นตะไคร้ และน้ำหมักชีวภาพกลิ่นใบเตย มีประสิทธิภาพมากกว่าน้ำหมักชีวภาพกลิ่นธรรมชาติ มีขอบเขตการศึกษา คือ เปรียบเทียบน้ำหมักชีวภาพกลิ่นธรรมชาติ น้ำหมักชีวภาพกลิ่นมะกรูด น้ำหมักชีวภาพกลิ่นตะไคร้ และน้ำหมักชีวภาพกล่นใบเตย กำหนดตัวแปรต้น คือ น้ำหมักชีวภาพ ตัวแปรตาม คือ กลิ่นของห้องน้ำ ตัวแปรควบคุม คือ ปริมาณที่ใช้ในห้องน้ำ พบว่า การใช้น้ำสกัดชีวภาพกำจัดกลิ่นโดยภาพรวม การใช้น้ำหมักชีวภาพกลิ่นมะกรูด มีค่าความยาวนานของกลิ่นได้นานกว่า ร้อยละ 163.27 นาที รองลงมา คือ น้ำหมักชีวภาพกลิ่นใบเตยมีความยาวนานของกลิ่นได้นาน ร้อยละ 147 นาที และน้ำหมักชีวภาพกลิ่นตะไคร้มีความยาวนานของกลิ่นได้นานร้อยละ 127.73 นาที การศึกษาความพึงพอในการใช้น้ำสกัดชีวภาพกลิ่นธรรมชาติกับน้ำสกัดชีวภาพกลิ่นมะกรูดระดับความพึงพอใจที่มีต่อการใช้น้ำสกัดชีวภาพกำจัดกลิ่นอยู่ในระดับดีมากที่สุด คือ กลิ่นเหม็นและการถ่ายเทในห้องน้ำดีขึ้นเนื่องจากการใช้น้ำสกัดชีวภาพ ความสะอาดในการใช้ห้อง และความสวยงามของห้องสุขา นักเรียนเรียนรู้การประกอบธุรกิจเพื่อการจำหน่าย โดยกานำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ รู้จักการพึ่งตนเอง การสืบค้นข้อมูล การตัดสินใจอย่างมีเหตุผล การลงทุน การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ความคิดสร้างสรรค์ ได้รู้จักการลงมือปฏิบัติด้วยกระบวนการอย่างเป็นระบบ การใช้หลักคุณธรรมในการแก้ปัญหา รวมทั้งผลักให้การประกอบธุรกิจประสบความสำเร็จ ซึ่งวัดจากกำไรจากการประกอบการ การนำผลกำไรไปคืนประโยชน์ต่อสังคมเป็นหลัก เพื่อการร่วมกันอย่างมีความสุขระหว่างคนในท้องถิ่นกับชุมชน จากการทำโครงงานอาชีพ ส่งผลให้เยาวชนในชุมชนเริ่มตระหนัก เห็นคุณค่าของการดำรงชีวิตแนวคิด นำจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาใช้ในการให้ธรรมชาติจัดการกันเองโดยไม่ใช้สารเคมี และนักเรียนได้นำมาใช้แก้ปัญหาในโรงเรียนซึ่งอยู่บนพื้นฐานของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอันเป็นจุดเริ่มต้นในการรักษาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป นักเรียนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภายในท้องถิ่นและเป็นส่วนหนึ่งในการปลูกจิตสำนึกของนักเรียนให้รักบ้านเกิดของตนเอง รูกจักหวงแหนและเห็นคุณค่าความสำคัญของสิ่งแวดล้อม
ข้อเสนอแนะ
1. ห้องสุขาที่ใช้ทดสอบประสิทธิภาพไม่ควรเปิดให้นักเรียนใช้ในระหว่างการทดสอบ
2. สารน้ำหมักชีวภาพที่ได้อาจไปทดสอบปรุงแต่งกลิ่นผลไม้ชนิดอื่น ๆ หรือกลิ่นของใบไม้
3. เศษอาหารที่นำมาใช้จะเป็นเศษอาหารที่ไม่มีน้ำผสมอยู่หรือมีน้ำผสมอยู่ก็ได้
4. ไม่ควรนำน้ำหมักชีวภาพมาฉีดโดนตัวคนหรือสัตว์โดยตรง
5. ควรจะนำน้ำหมักชีวภาพ (EM) ที่ผลิตได้ ไปทดลองใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ด้วย
ประโยชน์ที่ได้รับ
1. สามารถนำขยะประเภทเศษอาหารมาทำน้ำสกัดชีวภาพ
2. สามารถนำน้ำหมักชีวภาพไปกำจัดกลิ่นเหม็นของห้องสุขา
3. ช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน
4. นำความรู้ไปเผยแพร่ให้ผู้อื่น
5. สร้างเจตคติที่ดีต่อวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี (งานเกษตร)