กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านหนองไผ่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 3 ปีการศึกษา 2554
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

                โรงเรียนบ้านหนองไผ่ เป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 3 ได้ตระหนักถึงความสำคัญของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเพื่อเป็นการตอบสนองวิสัยทัศน์โรงเรียน ที่กล่าวว่า "โรงเรียนบ้านหนองไผ่ สามารถพัฒนาครูได้ตามมาตรฐาน ประสานกับชุมชน โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมจัดการศึกษาให้เด็กทุกคนมีคุณธรรมนำความรู้ เป็นผู้นำด้านวิชาชีพตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" สนองพันธกิจข้อ 5 ที่ว่า "พัฒนาการจัดการเรียนการสอนด้านอาชีพ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ตามแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" และกลยุทธ์การพัฒนาสถานศึกษา ข้อที่ 2 คือ "พัฒนาคุณธรรม ความสำนึกในความเป็นชาติไทยและวิถีชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"

­

วัตถุประสงค์


  1. เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างถูกต้อง
  2. เพื่อให้นักเรียนสามารถปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างถูกต้อง
  3. เพื่อให้นักเรียนเป็นผู้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
  4. เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กับนักเรียน ครู/บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครองและหน่วยงานอื่น


เป้าหมาย


  • ด้านปริมาณ
  1. นักเรียน ร้อยละ 80  มีความรู้ ความเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างถูกต้อง
  2. นักเรียน ร้อยละ 80  สามารถปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างถูกต้อง
  3. นักเรียนร้อยละ 80 มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ “อยู่อย่างพอเพียง” ในระดับดีขึ้นไป
  4. นักเรียน ครู/บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง  ร้อยละ 70  ใช้ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านหนองไผ่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 3  เป็นแหล่งเรียนรู้
  5. มีศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา แบบครบวงจร จำนวน  1 ศูนย์
  • ด้านคุณภาพ
  1. นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างถูกต้อง
  2. นักเรียนเป็นผู้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ “อยู่อย่างพอเพียง” ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
  3. นักเรียน ครู/บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง และหน่วยงานอื่น ใช้ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านหนองไผ่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 3 เป็นแหล่งเรียนรู้
  4. มีศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแบบครบวงจร


    วิธีดำเนินการ

    • ขั้นเตรียมการ
    1. ประชุมครู/บุคลากรทางการศึกษาและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และศึกษาเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ได้แก่ แผนปฏิบัติราชการประจำปี 2553 และรายงานการประเมินตนเอง  ประจำปีการศึกษา  2553 ของโรงเรียนบ้านหนองไผ่ เพื่อศึกษาความต้องการจำเป็น ความสอดคล้องเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ รวมทั้งการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับความพร้อมของบุคลากรและทรัพยากรซึ่งประกอบด้วยวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ อาคารสถานที่ และงบประมาณว่ามีความเพียงพอและเหมาะสม ในการดำเนินโครงการหรือไม่
    2. ให้ความรู้และบูรณาการการเรียนการสอน  เรื่องแนวทางการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1  ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  ในชั่วโมงการสอน
    3. สำรวจความสนใจของนักเรียนและผู้ปกครองที่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
    4. ประชุมครู/บุคลากรทางการศึกษาและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อกำหนดกิจกรรมของโครงการ รวมทั้งการวางแผนการดำเนินงานในแต่ละกิจกรรม
    5. เขียนโครงการและเสนอโครงการเพื่อขออนุมัติ

    ­

    • ขั้นดำเนินการ


    ขั้นที่ 1  ระเบิดจากข้างใน  ผู้บริหารต้องสร้างศรัทธาให้ครูและนักเรียนในโรงเรียนเห็นคุณค่าของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสให้คนไทยนำมาปฏิบัติใช้ในการดำรงชีวิต โดยจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ ศึกษาดูงานแก่ครูและนักเรียนอย่างต่อเนื่อง

    ขั้นที่ 2 เลือกกิจกรรมการเรียนรู้ตามศักยภาพของตนเอง โดยครูและนักเรียนศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการของชุมชน ปฏิบัติกิจกรรมพัฒนาการเรียนรู้ที่ตอบสนอง กับบริบท และสภาพแวดล้อม ปัญหาของสังคม ในชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่

    ขั้นที่ 3 ประชุมวางแผนสร้างหลักสูตร ให้ตอบสนองมาตรฐานการเรียนรู้ ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ว่าเราควรจะใช้กิจกรรมอย่างไร จึงจะสร้างอุปนิสัยพอเพียงให้นักเรียนได้ โดยเน้นการจัดกิจกรรมที่หลากหลายด้วยการลงมือปฏิบัติจริง และใช้แหล่งเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน

    ขั้นที่ 4 จัดทำแหล่งเรียนรู้แบบเกื้อกูลภายในโรงเรียน จำนวน 17 ฐาน ประกอบด้วย ฐานนาข้าว  ฐานเห็ดนางฟ้า  ฐานปุ๋ยชีวภาพ  ฐานผักปลอดสารพิษ ฐานหมูหลุม ฐานโรงสีข้าว ฐานสมุนไพร ฐานธนาคารขยะ ฐานเพาะเลี้ยงกบ ฐานเพาะเลี้ยงปลา ฐานไก่ไข่  ฐานไผ่หวาน ฐานป่าภูมิรักษ์ ฐานน้ำส้มควันไม้ ฐานถ่านผลไม้ ฐานห้องสมุด  ฐานห้องคอมพิวเตอร์ (แหล่งเรียนรู้แบบเกื้อกูล หมายถึง แหล่งเรียนรู้ที่ใช้ทรัพยากรสนับสนุนซึ่งกันและกัน เช่น  นำฟางข้าวจากฐานนาข้าวมาทำก้อนเห็ดนางฟ้าไว้ประจำที่ฐานเห็ดให้นักเรียนได้เก็บดอกขาย เมื่อก้อนเห็ดนางฟ้าหมดอายุไม่ออกดอกแล้ว นำก้อนเห็ดไปทำปุ๋ยหมักที่ฐานปุ๋ย เพื่อใส่แปลงผักที่ฐานผักปลอดสารพิษ เป็นต้น) เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริงเห็นคุณค่าของทรัพยากรต่างๆ ฝึกการพึ่งตนเองและอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่พร้อมที่จะแบ่งปัน  มีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมและเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมค่านิยมเอกลักษณ์ ความเป็นไทย

    ขั้นที่ 5 สร้างความรู้ ความเข้าใจให้นักเรียนและผู้ปกครองได้เห็นประโยชน์ของการเรียนรู้กิจกรรมอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการพึ่งตนเองจะส่งผลต่อคุณภาพการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น

    ขั้นที่ 6 ออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนแบบมีส่วนร่วมระหว่างครูกับนักเรียน  หมายถึง ต้องลดบทบาทการบรรยายของครูมาเป็นการใช้คำถามให้นักเรียนฝึกคิด โดยจัดกระบวนการให้นักเรียนได้ฝึกคิดเชื่อมโยง คิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ จากแหล่งเรียนรู้ที่ได้ปฏิบัติจริง

    ขั้นที่ 7 ประเมินแผนการจัดการเรียนรู้  โดยใช้แบบประเมินตรวจสอบว่าสิ่งที่ครูออกแบบกิจกรรมการสอนไปนั้นครอบคลุมและเหมาะสมสามารถทำให้นักเรียนบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ โดยประเมินจากผลการเรียนรู้ของนักเรียน พิจารณาเป็นรายบุคคล และต้องประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้วยเครื่องมือที่สร้างขึ้นสำหรับตรวจสอบอุปนิสัยพอเพียงอย่างต่อเนื่อง

    ขั้นที่ 8  จัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยการใช้โครงงาน เพื่อสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ด้วยการค้นคว้าหาความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ด้วยตนเองจากแหล่งเรียนรู้

    ขั้นที่ 9 ประเมินผลการสอน  โดยการตรวจสอบนักเรียนเป็นรายบุคคล ด้วยการทดสอบความรู้ ทักษะการปฏิบัติ ประเมินพฤติกรรม และผลงานที่ปรากฏ แล้วบันทึกสรุปผลหลังการสอน ว่า นักเรียนบรรลุตามจุดประสงค์มากน้อยเพียงใด มีปัญหาและอุปสรรคที่ต้องแก้ไขหรือไม่ และ มีคำแนะนำเพื่อจะนำไปพัฒนาการสอนต่อไปอย่างไร 

    ขั้นที่ 10 การเผยแพร่กิจกรรม ครูสามารถพัฒนาการเรียนการสอนที่ตอบสนอง บริบท และสภาพปัญหาของสังคม ชุมชน นำผลงานไปจัดนิทรรศการ โรงเรียน หน่วยงานต่างๆ มาขอศึกษาดูงานการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนบ้านหนองไผ่  อีกทั้งสื่อต่างๆ อาทิ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ วารสาร นิตยสารต่างๆ นำผลงานของโรงเรียนไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

    • ขั้นประเมินผล
    1. ทดสอบความรู้ความเข้าใจของนักเรียนเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเมื่อเสร็จสิ้นการดำเนินโครงการ
    2. ประเมินความสามารถของนักเรียนในการปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
    3. ประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านหนองไผ่ “อยู่อย่างพอเพียง”
    4. คำนวณค่าร้อยละของจำนวนนักเรียน ครู/บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง ที่ใช้ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านหนองไผ่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 3  เป็นแหล่งเรียนรู้
    5. ประเมินความพึงพอใจครู/บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง และหน่วยงานอื่น ที่ใช้ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านหนองไผ่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 3 เป็นแหล่งเรียนรู้

    ­

    • ขั้นสรุป รายงานผล
    1. ประเมินกิจกรรมและสรุปผลการดำเนินงาน
    2. เสนอแนะแนวทางแก้ไขปรับปรุง
    3. รายงานผลการดำเนินงานตามโครงการ


    ระยะเวลาการดำเนินการ

    - ตลอดปีการศึกษา 2554


    งบประมาณ 870,000 บาท 


    ผลที่คาดว่าจะได้รับ

    1. นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างถูกต้อง
    2. นักเรียนเป็นผู้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ “อยู่อย่างพอเพียง” ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
    3. นักเรียน ครู/บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง และหน่วยงานอื่น ใช้ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านหนองไผ่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 3 เป็นแหล่งเรียนรู้
    4. มีศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแบบเกื้อกูล

­

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ