
โรงเรียน บ้านคูเมือง(อ่อนอนุเคราะห์) เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เปิดทำการสอนชั้นอนุบาลปีที 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้บริการนักเรียนในเขตอำเภอวารินชำราบถึงเขตอำเภอสำโรง เขตบริการ 17 กิโลเมตร จำนวน 20 หมู่บ้าน ปัจจุบันมีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 635 คน นักเรียนที่มาเข้าเรียนในโรงเรียนแห่งนี้มีความหลากหลายแตกต่าง ทั้งทางสภาพครอบครัว ความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ การเลี้ยงดูเอาใจใส่ดูแล จากการรู้จักนักเรียนรายบุคคลของครูที่ปรึกษาและทำการคัดกรองนักเรียน ทราบว่านักเรียนจำนวน 33 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนทั้งหมด ไม่มีพ่อและแม่ บางคนมีเฉพาะพ่อหรือแม่คนเดียว และอีกกว่า 50 คน มีพ่อแม่แต่อาศัยอยู่กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่พ่อและแม่ ทำให้นักเรียนเหล่านี้มีปัญหา ขาดความอบอุ่น ความเป็นอยู่ ความประพฤติ และด้านการเรียน เป็นภาระให้ครูและทางโรงเรียนต้องหาทางแก้ไขปัญหาอยู่เป็นประจำ ปัญหาซ้ำซ้อนดังกล่าวอาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ให้กับชุมชน สังคมต่อไป เพื่อลดปัญหาดังกล่าว โรงเรียนบ้านคูเมือง(อ่อนอนุเคราะห์) จึงได้ตั้งโครงการ ?สานฝัน ปันรอยยิ้มให้สังคม? ขึ้นเมื่อปี พุทธศักราช 2553 โดยจัดการให้ความช่วยเหลือดำเนินการในสี่ลักษณะ กล่าวคือ 1) จัดหาพื้นที่ทำการเกษตร เพื่อการบริโภคให้กับทุกคนในโครงการ 2) สร้างที่พักอาศัยให้กับนักเรียนในโครงการ ระยะที่ 1 จำนวน 10 คน ระยะที่ 2 จำนวน 10 คน 3) จัดหาทุนการศึกษาและทุนหมุนเวียนเพื่อดำเนินการ 4) แสวงหาองค์กร /เอกชน /บุคคล /หน่วยงาน สร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือในรูปแบบต่าง ๆ ปัจจุบันมีนักเรียนในโครงการที่ดำเนินการช่วยเหลือไปแล้ว 31 คน
วัตถุประสงค์
- เพื่อช่วยเหลือนักเรียนยากไร้ ลดพื้นที่เสี่ยงเพิ่มพื้นที่ที่ดีให้แก่สังคม
- จัดหาที่ดินสำหรับทำการเกษตร และสร้างที่พักอาศัยให้นักเรียน
- เพื่อจัดหาทุนหมุนเวียน และทุนการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส
- ค้นหาเพื่อส่งเสริม ยกย่อง เชิดชูเกียรติ ให้ ขวัญกำลังใจแก่ผู้อุทิศตนเพื่อสังคม ในรูปแบบต่างๆ
- แสวงหาองค์กร/เอกชน/บุคคล/หน่วยงาน สร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือในรูปแบบต่าง ๆ
เป้าหมาย
ด้านปริมาณ
- นักเรียนในโครงการทุกคนได้รับการช่วยเหลือ ในรูปแบบต่าง ๆ
- มีทุนหมุนเวียน ไม่น้อยกว่าสองแสนห้าหมื่นบาท
- ผู้อุทิศตนเพื่อสังคม จังหวัด อุบลราชธานีและจังหวัด ศรีสะเกษ จำนวนจังหวัดละ 1 คน ได้รับการยกย่องปีละ 1 ครั้ง
- มีเวทีเสวนาเครือข่ายความร่วมมือ ปีละ 1 ครั้ง
ด้านคุณภาพ
- นักเรียนจำนวน 25 คน รับความช่วยเหลือด้านทุนการศึกษา และนักเรียนจำนนวน 6 คน รับการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย อาหารรับประทาน และปัจจัยที่จำเป็น
- นักเรียนในโครงการทุกคน ได้รับการบริโภคอาหารที่ผลิตจากพืชและสัตว์ที่ปลอดสารพิษ และมีทักษะการดำรงชีวิตที่ดี
- นักเรียนในโครงการทุกคนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดี สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
- มีเครือข่ายคนดีเพื่อสังคมดีมากขึ้น
ขอบข่ายการเข้าร่วมโครงการ
- นักเรียนใน จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียง
- กองทุนหมุนเวียน ได้ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส สามารถแก้ปัญหาครอบคลุม ครบวงจร
- ลดปัญหาด้านพฤติกรรมและการเรียนได้ สร้างความเชื่อมั่นในเรื่องการทำความดี ได้รับสิ่งดีเสมอและสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กๆ อันเป็นทุนทางสังคมสืบไป
มีเครือข่ายเพื่อเติมความดีงามให้สังคม มากขึ้น