กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
สำรวจข้อมูลเยาวชน กล้าใหม่..ใฝ่รู้
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

โครงการกล้าใหม่ใฝ่รู้ ได้ดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 7 โครงการดังกล่าวถือได้ว่าเป็นโครงการที่ผลิตเยาชนที่มีความสามารถหลากหลาย รูปแบบ แต่เมื่อโครงการจบลง ก็ขาดการติดต่อกับเยาวชนที่เป็นผลผลิตจากโครงการ ด้วยเหตุนี้จึงควรจะมีการสำรวจข้อมูลของเยาวชนที่เคยเข้าร่วมโครงการกล้า ใหม่...ใฝ่รู้ อีกครั้งเพื่อเป็นการจัดระบียบฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด และเพื่อเป็นการทำความเข้าใจและรู้จักเยาวชนจากโครงการมากขึ้น เพื่อที่จะได้นำเอาความรู้ความสามารถของเยาวชนที่มีอยู่มาใช้และสร้างสรรค์ ให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมมากที่สุด


การสำรวจข้อมูลเยาวชน "กล้าใหม่...ใฝ่รู้" ปี 1- 6

โครงการต่อยอดเครือข่ายเยาวชนกล้าใหม่ใฝ่รู้

 

ที่มาและความสำคัญ
 

“โครงการ กล้าใหม่ใฝ่รู้” ได้ดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 7  โครงการดังกล่าวถือว่าเป็นโครงการผลิตเยาชนที่มีความสามารถหลากหลายรูปแบบ แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เนื่องจากเมื่อโครงการจบลง ก็ขาดการติดต่ออย่างต่อเนื่องกับเยาวชนที่เป็นผลผลิตจากโครงการ  อีกทั้งระบบการจัดการฐานข้อมูลของโครงการนั้นยังขาดความเที่ยงตรงและความ ทันสมัยของข้อมูล  ด้วยเหตุนี้ผู้ดำเนินโครงการจึงเล็งเห็นว่า ควรจะมีการสำรวจข้อมูลของเยาวชนที่เคยเข้าร่วมโครงการกล้าใหม่...ใฝ่รู้ อีกครั้งเพื่อเป็นการจัดระเบียบฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด และเพื่อเป็นการทำความเข้าใจและรู้จักเยาวชนจากโครงการมากขึ้น ถึงความต้องการมีส่วนร่วมต่อการทำกิจกรรมจิตอาสา เพื่อที่จะได้นำเอาความรู้ความสามารถของเยาวชนที่มีอยู่มาใช้และสร้างสรรค์ ให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมมากที่สุด

 

เป้าหมาย
 

เพื่อ เชื่อมโยงเยาวชนที่เคยผ่านการเข้าร่วม “โครงการกล้าใหม่...ใฝ่รู้” ให้กลับมารวมตัวกันในลักษณะของชมรม เครือข่าย เพื่อผลักดันให้เกิดกิจกรรมหรือการร่วมปฏิบัติงานจิตอาสากับทางธนาคารไทย พาณิชย์ มูลนิธิสยามกัมมาจล หน่วยงานและองค์กรอื่นๆ ต่อไป

 

วัตถุประสงค์
 

1.  เพื่อทำความรู้จักกลุ่มเยาวชน “กล้าใหม่....ใฝ่รู้” ที่เคยเข้าร่วมโครงการ

2.  เพื่อจัดระเบียบฐานข้อมูลเยาวชน “กล้าใหม่ ... ใฝ่รู้” ให้เป็นปัจจุบัน

 

          กลุ่มเป้าหมาย

  • กลุ่ม เยาวชนที่เคยเข้าร่วมโครงการ “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” ปีที่ 1-6  ระดับอุดมศึกษา (กล้าใหม่สร้างสรรค์ชุมชน) ที่เข้ารอบ 20 ทีมสุดท้าย ปี พ.ศ.2551– 2554 จำนวน 642 คน

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

รายงานผลการสำรวจข้อมูลเยาวชน “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” ปี 1 - 6
โครงการต่อยอดเครือข่ายเยาวชนกล้าใหม่ใฝ่รู้

 

สรุปผลการสำรวจ


1.ลักษณะทางประชากร


จาก การสำรวจข้อมูลเยาวชน “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” ระดับอุดมศึกษา (กลุ่มกล้าใหม่..สร้างสรรค์ชุมชน) จำนวน 642 คน ผู้สำรวจสามารถเก็บข้อมูลของกลุ่มดังกล่าวด้วยวิธีการโทรศัพท์สัมภาษณ์และ จากการเข้ามาตอบแบบสำรวจผ่านทางเว็บไซต์ของมูลนิธิฯ จำนวนทั้งสิ้น 265 คน เป็นเพศหญิง จำนวน 111 คน และเพศชาย 154 คน เยาวชนส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและมีบางส่วนที่กำลังศึกษาอยู่ใน ระดับปริญญาโท ตามสาขาเดิมที่ตนเองได้ศึกษามา คณะที่เยาวชน “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” ศึกษามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ คณะบริหารธุรกิจ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และ คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ตามลำดับ


ภูมิ ลำเนาของเยาวชนส่วนใหญ่นั้นอยู่ในต่างๆ จังหวัดเป็นส่วนใหญ่ จากการสำรวจพบว่าส่วนมากยังคงอาศัยอยู่ในภูมิลำเนาเดิม หรือ ย้ายไปทำงานในจังหวัดใกล้เคียงกับภูมิลำเนาของตนเอง มีส่วนน้อยมากที่อาศัยหรือย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพมหานคร


ใน เรื่องของการประกอบอาชีพสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ กลุ่มกล้าใหม่ที่ประกอบอาชีพแล้ว และ กลุ่มที่ยังคงศึกษาอยู่ ในส่วนของกลุ่มที่ประกอบอาชีพแล้ว พบว่า ส่วนใหญ่เยาวชนจะประกอบอาชีพตามสาขาที่ตนเองได้ศึกษาเล่าเรียนมา โดยประกอบอาชีพในบริษัทเอกชนเป็นหลัก รองลงมาประกอบอาชีพรับราชการ เป็นลูกจ้างและประกอบอาชีพส่วนตัว ตามลำดับ มีส่วนน้อยมากที่ประกอบอาชีพอิสระและไม่ได้ประกอบอาชีพแต่อย่างใด


การ ใช้เวลาว่างของเยาวชน “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” ส่วนใหญ่หมดไปกับการพักผ่อน เช่น การอ่านหนังสือ ดูทีวี เล่นดนตรี ร้องเพลง เป็นต้น รองลงมาคือการออกกำลังกายและการสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เนท ตามลำดับ แต่พบเยาวชนที่ใช้เวลาว่างในการทำงานจิตอาสา หรือ เข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสาเป็นจำนวนน้อยมาก


ใน ด้านความสามารถและความเชี่ยวชาญของเยาวชน “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” จากการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่มีความสามารถและความถนัดทางด้านวิชาการ ด้านกีฬาและด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับสาขาวิชาที่เยาวชนกลุ่มดังกล่าวจบการศึกษามา อีกส่วนที่พบจากการสำรวจ คือ เยาวชน “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” มีความสามารถทางด้านงานศิลปะ การออกแบบ ดนตรี ร้องเพลง รวมถึงงานที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อแระชาสัมพันธ์ หรือการประสานงาน เนื่องจากมีประสบการณ์มาจากการทำโครงการ “กล้าใหม่...ใฝ่รู้”

 

2.การรับรู้และมีส่วนร่วมต่อโครงการ


เมื่อ สอบทานถึงเรื่องการรับรู้และการมีส่วนร่วมต่อโครงการที่ผ่านมานั้นพบว่า เยาวชนส่วนใหญ่อยากเข้าร่วมโครงการเพราะต้องการหาประสบการณ์และต้องการใช้ เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และชอบทำกิจกรรมประเภทดังกล่าวอยู่แล้ว เพราะ เยาวชน “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” บางคนเป็นนักกิจกรรมของคณะหรือมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ดังนั้นจึงรู้สึกว่าอยากจะเข้าร่วมทำกิจกรรมของโครงการและเป็นโอกาสที่ดีที่ ได้ร่วมทำกิจกรรมกับทางธนาคาร นาอกจากนั้นเข้าร่วมเพราะว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเรียน เนื่องจากปัจจุบันหลายมหาวิทยาลัยมีการเน้นและส่งเสริมให้เยาวชนต้องออกไปทำ กิจกรรมเพื่อชุมชน เพื่อเป็นคะแนนเก็บหรือเพื่อเป็นการประเมินการผ่านเกณฑ์การศึกษา จึงมีความจำเป็นในการเข้าร่วม และในการเข้าร่วมกิจกรรมจากเหตุผลดังกล่าว ก็มีแรงจูงใจจากอาจารย์ประจำสาขาวิชา ที่เป็นผู้ชักชวนให้เยาวชนเข้าร่วมกิจกรรม  นอกจากเหตุผลดังกล่าวก็ยังมีเหตุผลอื่นๆ เช่น การได้เห็นต้นแบบจากรุ่นพี่ที่เคยเข้าร่วมโครงการ การต้องการสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองรวมถึงมหาวิทยาลัย และมีแรงจูงใจจากเรื่องของเงินรางวัล

 

3.ความต่อเนื่องของการทำงานจิตอาสา


หลัง จากจบโครงการ “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” เยาวชนกลุ่มดังกล่าวบางส่วนยังคงมีความต่อเนื่องในการทำกิจกรรมจิตอาสา แต่บางส่วนก็ไม่ได้ทำกิจกรรมจิตอาสาต่อ เนื่องจากเมื่ออยู่ในชั้นปีที่สูงขึ้น บางคนก็เรียนหนักขึ้นจึงทุ่มเทให้กับการเรียนเป็นอันดับแรก และไม่มีเวลาในการลงมาทำกิจกรรมเหมือนตอนทำโครงการ จึงขาดการสานต่อในการทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อชุมชน หรือ บางส่วนไม่ได้ทำต่อเพราะว่าไม่รู้จะเริ่มทำอย่างไร เนื่องจากยังเข้าใจว่าการทำงานจิตอาสา คือ การต้องลงไปทำงานเป็นโครงการและจำเป็นต้องมีเงินทุนสนับสนุนในการทำโครงการ เมื่อไม่มีแหล่งที่สนับสนุนประกอบกับเวลาที่ไม่เอื้ออำนวย ก็ขาดการทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง แต่จากสัดส่วนของผู้ที่ยังคงทำกิจกรรมจิตอาสาอย่างต่อเนื่องจะพบว่าเป็นเพศ ชายในปริมาณที่มากกว่าเพศหญิง


สำหรับ ผู้ที่ยังคงทำกิจกรรมจิตอาสาอย่างต่อเนื่องนั้น พบว่า ส่วนใหญ่ทำกิจกรรมจิตอาสาอย่างน้อย 1-2 ครั้ง ต่อปี ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความสะดวกในเรื่องของเวลา เพราะจากการสำรวจพฤติกรรมการร่วมกิจกรรมจิตอาสาของเยาวชนกลุ่มดังกล่าวจะมี ลักษณะของความมีส่วนร่วมก็ต่อเมื่อตนเองมีโอกาส  มีเวลาว่างหรือมีความสะดวกที่เข้าร่วมทำกิจกรรม ถึงแม้ว่าจะเกิดการรับรู้และตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมก็ตาม และในส่วนของพฤติกรรมการมีส่วนร่วมต่อองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ พบว่าองค์กรที่เยาวชนเหล่านี้มักเข้าร่วมเป็นประจำคือ มหาวิทยาลัย หน่วยงานรัฐบาล องค์กรอิสระ และมีเพียงบางส่วนที่ริเริ่มการทำกิจกรรมด้วยตนเอง

 

4.แนวโน้มและความต้องการในการทำงานจิตอาสาเพื่อผู้อื่น
 

4.1  ความตระหนักและความต้องการ
 

จาก การสำรวจถึงความยินดีและความต้องการในการเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสากับทาง มูลนิธิฯ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ หน่วยงานอื่นๆ พบว่าส่วนมากมีความยินดี และต้องการที่จะเข้าร่วม หากมีการจัดกิจกรรมเกิดขึ้น ในส่วนของผู้ที่ไม่ยินดีเข้าร่วม ให้เหตุผลว่า ไม่สะดวกในการเข้าร่วม เนื่องจากมีภาระในเรื่องงาน ส่วนหนึ่งเป็นทหารและปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ส่วนหนึ่งไปศึกษาต่อต่างประเทศ และบางส่วนแต่งงานและมีครอบครัวจึงไม่มีเวลาที่จะเข้าร่วมกิจกรรมที่จัด ขึ้น  สัดส่วนของผู้ที่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสาพบว่า ยังคงเป็นเพศชายที่มีความยินดีในการเข้าร่วมทำ กิจกรรมมากกว่าเพศหญิง


เมื่อ ให้ผู้ตอบแบบสำรวจที่มีความยินดีในการเข้าร่วมกิจกรรม ประเมินตนเองถึงระดับความสนใจในการทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อผู้อื่น พบว่าเยาวชนกลุ่มดังกล่าว ให้ความสนใจต่อการเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสาอยู่ในระดับมาก เกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ให้ข้อมูล

 

4.2  ความพึงพอใจในการเข้าร่วมกิจกรรม


จาก การสำรวจข้อมูล พบว่า งานที่กลุ่มเยาวชน “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” ต้องการเข้าร่วมเป็นอันดับแรกคือ การช่วยเหลือด้วยแรงหรือการทำงานสนับสนุน  เนื่องจากเป็นงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะมากและไม่ต้องใช้เวลานานหรือต่อเนื่อง สามารถเข้าร่วมและทำจบได้เป็นครั้งๆ ไป  รองลงมาคืองานติดต่อประสานงาน และการเป็นผู้ให้การอบรมและให้ความรู้ตามทักษะที่ตนเองมี รวมถึงเป็นผู้นำกิจกรรม เนื่องจากเยาวชนเหล่านี้มีประสบการณ์ดังกล่าวจากการทำโครงการกล้าใหม่ใฝ่รู้ มาก่อนหน้านี้แล้ว จึงมีทักษะและความสามารถดังกล่าวเป็นอย่างดี ส่วนกิจกรรมที่เยาวชนกลุ่ม “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” ให้ความสนใจน้อยที่สุด เรื่องของการระดมทุนและการระดมอาสาสมัคร เนื่องจากขาดประสบการณ์ในส่วนดังกล่าว เนื่องจากตอนที่ดำเนินโครงการ “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” เยาวชนกลุ่มดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทุนและได้รับความช่วยเหลือประสานงาน ส่วนอื่นๆ จากทางอาจารย์เป็นหลัก จึงไม่มีประสบการณ์ต่อเรื่องดังกล่าว นอกจากนั้นจะพบว่าในลักษณะของการทำงานโครงการกล้าใหม่ที่ผ่านมา เยาวชนกลุ่มดังกล่าวมักจะชักชวนเฉพาะคนที่รู้จัก เพื่อนสนิท ที่เรียนอยู่ในสาขาวิชาที่ตนเองศึกษาอยู่เป็นส่วนใหญ่ ยังขาดการเชื่อมโยงเพื่อนนักศึกษาจากคณะอื่นๆ ทำให้ไม่คุ้นเคยกับการระดมอาสาสมัครจากคนที่มีความสัมพันธ์ระดับที่ไกลออกไป

 

4.3  ความสนใจและแรงจูงใจ


จาก การสำรวจประเด็นความสนใจต่อการทำงานจิตอาสาเพื่อผู้อื่น พบว่าประเด็นที่เยาวชนให้ความสนใจเป็นหลัก คือ การพัฒนาชุมชน เยาวชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ใกล้เคียงกับประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำโครงการ “กล้าใหม่...ใฝ่รู้”  ประเด็นที่เยาวชนเหล่านี้สนใจรองลงมา ได้แก่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ การศึกษา ผู้สูงอายุ ศาสนาและวัฒนธรรม และสุขภาพ  เป็นต้น ถ้าหากต้องการให้เยาวชนเหล่านี้เข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสา แรงจูงใจหลักที่สำคัญที่สุด พบว่า เป็นเรื่องของประเด็นกิจกรรมที่ตรงกับความสนใจและความสามารถของเยาวชน  เนื่องจากเยาวชนจะได้ใช้ความสามารถและความถนัดของตนเองได้อย่างเต็มที่ เหมือนครั้งที่ทำโครงการ “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” นอกจากนั้นเรื่องของเพื่อนก็เป็นอีกแรงจูงใจหนึ่งที่จะสามารถช่วยกระตุ้นให้ เกิดการร่วมทำกิจกรรมจิตอาสาได้ เพราะหากตนเองมีเพื่อนที่รู้จักหรือสนิทเข้าร่วมกิจกรรมด้วย จะทำให้รู้สึกเป็นกันเอง ไม่ขัดเขินและไม่ต้องปรับตัวมากเท่าไหร่ จึงทำให้อยากเข้าร่วมการทำกิจกรรมจิตอาสามากขึ้น นอกจากนั้นการเล็งเห็นว่ากิจกรรมที่ตนเองจะเข้าร่วมนั้น สามารถก่อให้เกิดประโยชน์หรือช่วยเหลือผู้อื่นได้จริงและหากกิจกรรมมีรูปแบบ ที่นาสนใจมีความทันสมัย ก็จะทำให้เพิ่มความรู้สึกยินดีในการเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้นตามไปด้วย เช่นกัน

 

4.4  ข้อจำกัดในการเข้าร่วม
 

4.4.1  วัน เวลา และสถานที่

วัน และเวลาที่เยาวชนส่วนใหญ่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้นั้น คือ วันหยุดสุดสัปดาห์ ช่วงปิดเทอม หรือวันหยุดในวันสำคัญต่างๆ แต่อย่างไรก็ตามการเข้าร่วมกิจกรรมก็ยังขึ้นอยู่กับความสะดวกของตนเองเป็น หลัก ถึงแม้ว่าจะเป็นวันหยุดก็ตาม ส่วนในเรื่องของพื้นที่ที่สามารถเข้าร่วมได้นั้น พบว่าส่วนใหญ่แล้วเยาวชนจะอาศัยอยู่ในภูมิลำเนาเดิมของตนเองหรือย้ายถิ่นฐาน ไปยังจังหวัดที่ใกล้เคียงเพื่อไปประกอบอาชีพ ดังนั้นการเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสา จึงควรจัดอยู่ในพื้นที่ที่ใกล้เคียงกับภูมิลำเนาของเยาวชน จึงจะสะดวกต่อการทำกิจกรรม แต่อย่างไรก็ตาม เยาวชนกล้าใหม่ใฝ่รู้ก็มีความยินดีที่จะเข้าร่วมกิจกรรมในพื้นที่อื่นๆ หากทางมูลนิธิหรือองค์กรต่างๆ มีความต้องการอาสาสมัคร แต่ทั้งหมดก็จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของเวลาและความสะดวกดังเช่นที่ได้กล่าวมา


4.4.2 ช่องทางการติดต่อสื่อสาร

ช่อง ทางที่เยาวชนต้องการให้ใช้ในการติดต่อสื่อสารมากที่สุด คือ การส่งอีเมลแจ้ง การใช้เฟสบุค(Facebook)และการโทรศัพท์ในการแจ้งข้อมูลข่าวสาร เนื่องจากส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงวัยที่ทำงานแล้วและจะใช้อีเมลในการติดต่อสื่อ สารมากที่สุด และจากการสำรวจ พบว่า อีเมลส่วนตัวที่ใช้ เป็นอีเมลเดียวกับบัญชีเฟสบุค (Facebook account ) เช่นกัน


4.4.3 ความต้องการในการได้รับการสนับสนุน

เยาวชน ส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการค่าตอบแทนในการเข้าร่วมทำกิจกรรม เพราะ รู้สึกว่าอยากเข้าร่วมด้วยใจ และอยากเข้าร่วมด้วยตนเอง แต่สำหรับผู้ที่ต้องเดินทางไกลเพื่อมาร่วมทำกิจกรรม เยาวชนในกลุ่มนี้เห็นว่าหากมีการสนับสนุนในเรื่องของค่าเดินทาง หรือการจัดพาหนะสำหรับการเดินทาง เช่น การจัดรถรับส่งตามจุดสำคัญก็จะทำให้การเดินทางสะดวกขึ้นและประหยัดค่าใช้ จ่ายกับกลุ่มเยาวชนได้ นอกจากนั้นเรื่องสวัสดิการอาหารและเครื่องดื่มถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ เยาวชนมีความต้องการด้วยเช่นกัน มีเพียงส่วนน้อยที่ยังคงคาดหวังในเรื่องของการรับรางวัล เช่น เกียรติบัตร ประกาศนียบัตร เป็นต้น


ส่วน กลุ่มที่ทำโครงการหรือกิจกรรมด้วยตนเองนั้น มีความต้องการได้รับการสนับสนุนในเรื่องงบประมาณดำเนินการบางส่วนเพื่อขับ เคลื่อนกิจกรรมที่ตนเองตั้งใจจะทำได้ นอกจากนั้นเยาวชนกลุ่มนี้ต้องการได้รับการสนับสนุนในเรื่องของการประชา สัมพันธ์กิจกรรมและโครงการที่ตนเองได้จัดขึ้น การประสานงานกับหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงต้องการวิทยากร บุคลากร ที่มีความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับกิจกรรมที่ตนเองทำเพื่อมาให้ความรู้หรือเป็นผู้นำ กระบวนการได้


4.5  ความคาดหวังและความรู้สึกต่อการทำงานจิตอาสา


เยาวชน ส่วนใหญ่คาดหวังว่าตนเองจะสามารถถ่ายทอดความรู้ความสามารถที่ตนเองมีอยู่ให้ กับผู้อื่น หรือชุมชนและสังคมได้ เพราะ เยาวชนเหล่านี้มีความมุ่งหวังที่จะเห็นการพัฒนาเกิดขึ้นในชุมชนและสังคมที่ ตนเองอาศัยอยู่ ยิ่งไปกว่านั้นเยาวชนกลุ่มนี้ยังต้องการที่จะเห็นความสุขและความร่วมมือที่ เกิดขึ้นจากการลงไปทำกิจกรรมกับผู้อื่น และคาดหวังว่าจะได้เกิดการเรียนรู้กระบวนการต่างๆ จากการทำงาน และถือเป็นโอกาสในการสร้างเพื่อนหรือความสัมพันธ์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้


เยาวชน ที่ผ่านโครงการ “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” ส่วนมากรู้สึกดีและยังเล็งเห็นถึงคุณค่าและประโยชน์ของการทำกิจกรรมจิตอาสา เพื่อผู้อื่น จึงอยากที่จะทำสิ่งดีๆ เหล่านี้ต่อไป ถ้าหากว่าตนเองยังมีโอกาสที่จะทำได้ มีเพียงส่วนน้อยมากที่รู้สึกไม่อยากทำต่อ เพราะ มีเงื่อนไขทางเวลา ทางการศึกษา และไม่มีเพื่อนที่จะคอยร่วมทำกิจกรรมด้วยกัน

 

5.สรุป
 

จาก การสำรวจข้อมูลเยาวชนที่เคยเข้าร่วมโครงการ “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” สร้างสรรค์ชุมชน (ระดับอุดมศึกษา) ในปี 2551 – 2554 ผู้สำรวจสามารถเก็บข้อมูลด้วยวิธีการโทรศัพท์สัมภาษณ์และจากการเข้ามาตอบแบบ สำรวจผ่านทางเว็บไซต์ของมูลนิธิฯ จำนวนทั้งสิ้น 265 คน จากฐานข้อมูลที่มีอยู่ จำนวน 642 คน


เยาวชน ส่วนใหญ่ได้รับกระบวนการเรียนรู้เรื่องการทำงานชุมชนและจิตอาสาจากการเข้า ร่วมโครงการดังกล่าว และเกิดการตระหนักต่อการทำประโยชน์เพื่อชุมชนหรือสังคมที่ตนเองอาศัยอยู่ จนกลายเป็นประสบการณ์ที่ติดตัว รวมถึงมีความรู้สึกที่ดีจากการทำโครงการดังกล่าว สามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนและศักยภาพในการทำงานเป็นหมู่คณะได้ ถึงแม้ว่าในตอนต้น บางคนจะมาจากพื้นฐานที่แตกต่างกัน หรือ บางคนก็ไม่ทราบมาก่อนว่าจะต้องมาทำงานหรือกิจกรรมอะไรบ้าง บางส่วนก็มาจากทางอาจารย์ หรือ มีหลักสูตรจากทางมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง แต่หลังจากผ่านโครงการนี้แล้ว เยาวชนเกิดความเข้าใจและตระหนักต่อการทำงานชุมชนและจิตอาสาเพื่อผู้อื่น และบางส่วนยังคงทำกิจกรรมจิตอาสาหรือกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง แต่มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา ทั้งจากการเรียน และปัจจุบันเยาวชน “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” ส่วนใหญ่จบการศึกษาและประกอบอาชีพเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เวลาในการออกไปทำกิจกรรมเพื่อชุมชนหรือสังคมเริ่มมีน้อยลง จะสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้เฉพาะในช่วงวันหยุดและไม่มีภาระใดๆ จึงจะสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ แต่อย่างไรก็ตามเยาวชนที่จากโครงการกล้าใหม่...ใฝ่รู้ ส่วนใหญ่ยังมีความยินดีที่จะเข้าร่วมกิจกรรมและพร้อมที่จะทำสิ่งดีๆ เพื่อชุมชนและสังคมต่อไป

 

นายศุทธิวัต นัสการ (เจ้าหน้าที่มูลนิธิสยามกัมมาจล)

ผู้สำรวจข้อมูล


"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ