ผู้เฒ่าผู้แก่ และเกษตรกรบ้านแหลมและบ้านทุ่ง เล่าเรื่องการทำนาประสาคนเกาะสุกร
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ได้ข้อมูลเรื่องราวและปัญหาการทำนาของชุมชนเกาะสุกร
2. เพื่อวางแผนการจัดการปัญหาและการหาข้อมูลเพิ่มเติม
ผู้เข้าร่วมเวที
1. กลุ่มชาวนา ต.เกาะสุกรจำนวน 30 คน
2. ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.ตรัง จำนวน 2 คน
3. ผู้นำชุมชน (ผู้ใหญ่บ้าน/ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน) จำนวน 2 คน
บันทึกกิจกรรม
ชี้แจงวัตถุประสงค์ของเวที
นางสาวรัตนา ไชยมล แกนนำกลุ่มชาวนาบ้านแหลม หมู่ที่ 2
ต.เกาะสุกร
กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์ของการจัดเวทีในวันนี้ว่าเนื่องจากที่ได้ประชุมพูด
คุยกันมาก่อนหน้านี้ 2
ครั้งเกี่ยวกับการรวมกลุ่มทำวิจัยในประเด็นปัญหาที่ชุมชนต้องการ
จนกระทั่งสรุปว่าจะทำการศึกษาประเด็นการทำนาของชุมชนเกาะสุกร
เนื่องจากว่าชุมชนบ้านแหลมและบ้านทุ่ง (หมู่ที่ 2 และ 3 ตามลำดับ)
ยังมีวิถีการทำนาข้าวกันอยู่มากที่สามารถใช้เลี้ยงชีพแก่คนบ้านแหลมและบ้าน
ทุ่ง ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่าย
และทำให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าของที่ดินที่ช่วยให้มีข้าวกินกันมาตั้งแต่อดีต
จนถึงปัจจุบัน
แต่เนื่องจากการทำนาของพื้นที่เกาะสุกรในระยะหลังมานี้ประสบกับปัญหาหลาย
เรื่องมากทั้งเรื่องคุณภาพของข้าวที่ใช้เป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับปลูกในแต่ละปี
ค่อยๆ ด้อยคุณภาพลงทำให้ผลผลิตตกต่ำ
ปัญหาศัตรูพืชที่ระบาดหนักอย่างหอยเชอรี่ และหนูที่คอยกัดกินทำลายต้นข้าว
ปัญหาเรื่องน้ำซึ่งบางช่วงนาข้าวขาดแคลนน้ำต้องใช้เพียงน้ำฝน
พื้นที่เป็นดินทรายก็เก็บกักน้ำได้ไม่นาน
นอกจากนี้ยังมีปัญหาคนทำนาลดน้อยลง ขาดคนรุ่นใหม่รับช่วงต่อ
คนรุ่นเก่าก็เริ่มแก่ตัวทำนาไม่ไหว ปัญหาการขายที่ดินให้กับนายทุนข้างนอก
จนหลายปัญหากลายเป็นปัญหาใหญ่ของกลุ่มทำนา
เมื่อได้มานั่งคุยจึงสรุปว่ากลุ่มชาวนาในพื้นที่ต้องรวมตัวกันเพื่อแก้ไข
ปัญหาแต่ละอย่างให้ลุล่วงไป
แต่จะให้แก้พร้อมกันทีเดียวคงจะไม่ได้จึงต้องค่อยๆ ทำกันไป
จนได้ผลสรุปร่วมกันว่าเบื้องต้นจะแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้กับผู้ที่มีความ
รู้เรื่องการทำนา โดยเลือกไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับเรื่องพันธุ์ข้าวและการทำนา
เพื่อนำมาพัฒนาการทำนาของกลุ่มต่อไป
วันนี้จึงจัดเวทีขึ้นเพื่อการรวบรวมประวัต/ รูปแบบ/ปัญหาการทำนา
และความต้องการของชาวนาแต่ละคน
โดยได้เชิญผู้อาวุโสและชาวนาของชุมชนมาร่วมเวทีเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนร่วมกัน
ทั้งนี้การจะแก้ไขปัญหาได้เราต้องรวมพลังและเห็นปัญหาเป็นของเราเราต้องช่วย
กันแก้จึงจะไปได้
ชี้แจงวัตถุประสงค์โครงการ
นายมานพ ช่วยอินทร์ ผู้ประสานงาน สกว.ตรัง
กล่าวว่าโครงการที่จะทำนี้เกี่ยวกับการฟื้นฟูการทำนา
การทำอะไรก็ตามถ้าจะให้ยั่งยืนเราเห็นปัญหาของเราทั้งหมดครบทุกด้าน
ดังนั้นเรื่องการทำนาเราต้องรู้ประวัติการทำนาตั้งแต่อดีต
และความเป็นมาของการทำนาว่าเป็นอย่างไร มีปัญหาอย่างไร
จะทำให้เรารู้ว่าเราเป็นอยู่อย่างไร ต้องการความรู้อะไร
ซึ่งหน่วยงานเขาก็มีความรู้อยู่จะให้หน่วยงานสนับสนุนความรู้ให้ตรงตามความ
ต้องการ ได้อย่างไร
สำหรับโครงการที่จะลงมาทำนี้เป็นการเก็บข้อมูลให้ละเอียดทุกด้าน
ว่ามีพันธุ์ข้าวใดที่เหมาะสม คัดพันธุ์อย่างไร
ซึ่งก็มีศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวพัทลุงที่เขามีความรู้
จึงอยากให้พวกเราได้ไปศึกษาเรียนรู้
และถ้าคนรุ่นนี้มอบที่ดินให้ลูกหลานที่ไปเรียนจบมาคาดว่ารุ่นหลานก็คงไม่ทำ
นาต่อและคงขายที่ดินเสีย ทางศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น
จ.ตรังจึงจะมาหนุนกระบวนการวิจัยที่ไม่ติดระบบราชการ
โดยเอาเป้าหมายเป็นตัวตั้ง และต้องหาวิธีการทำ ทำไปแก้ไข
โครงการนี้ได้งบประมาณจากมูลนิธิสยามกัมมาจล
ที่ได้เงินบริจาคจากสึนามิมาแต่หากให้เงินแบบเดิมก็ทำให้ไม่เกิดประสิทธิภาพ
ต่างคนต่างจะเอาและขัดแย้งกัน ทาง
สกว.ตรังจึงรับมาดำเนินการเพื่อให้เราได้ทำงานแบบใช้ข้อมูลความรู้
ซึ่งพื้นนี้มีความสนใจ ต่อจากนี้คงไปแลกเปลี่ยนกับพื้นที่อื่นกันก่อน
สำหรับเรื่องของหน่วยงานเกษตรจังหวัดที่ให้ความรู้ได้นั้นคงจะได้ลงพื้นที่
ซึ่งเราก็บูรณาการทำงานร่วมกันได้
แลกเปลี่ยนประวัติ/วิธีการทำนาของชุมชนเกาะสุกร
สุทิน สีสุข ผู้ช่วยผู้ประสานงาน สกว.ตรัง บอกว่าที่ได้คุยกัน 2
ครั้งทำให้เห็นว่าที่นี่ยังมีการทำนากันอยู่มาก
รวมทั้งได้ฟังเรื่องการทำนาจากหลายๆ คนทำให้เกิดความสนใจ
แต่ข้อมูลที่เล่ายังไม่ได้จัดการอย่างละเอียด
จึงคิดว่าเราน่าจะได้รู้ประวัติ
รูปแบบหรือความเปลี่ยนแปลงในการทำนาของคนเกาะสุกรกันก่อน
ผู้ที่มาร่วมวันนี้มีกลุ่มภูมิปัญญา (ผู้อาวุโส) กลุ่มวัยทำงาน
และกลุ่มคนหนุ่ม (จำนวนไม่มากนัก) จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน
นายอล ไชยมล (ชายนวล) ผู้อาวุโสของชุมชน, อดีตผู้นำของชุมชน
อายุแปดสิบกว่าปีบอกว่าเราต้องมาคุยเรื่องการทำนา
เพราะต่อไปภายหน้าหากที่ดินไม่ได้ใช้ประโยชน์ลูกหลานจะขายดินกันหมด
ลูกหลานเดี๋ยวนี้พูดว่าทำไมแต่แรก(สมัยก่อน)ชาย(ปู่-ตา)ไม่สร้างที่ดินไว้
ให้มาก ๆ เป็นคำพูดที่น่าสลดใจ
ช่วงนี้เวลาขับรถไปแปลงนาเห็นที่หลายแปลงล้อมรั้วไว้คิดว่านายทุนคงลงมาซื้อ
กันหลายคนแล้ว ขอบคุณอาจารย์ที่มาช่วยปลุกพลังชาวนา
เพราะทุกคนที่เติบโตมาได้ก็เพราะข้าว ตอนนี้หลายคนก็แก่ชราอายุ 80
ปีกว่ากันแล้ว การบุกเบิกทำนานั้นแต่เดิมไม่ได้มีเครื่องอำนวยความสะดวก
เขาขุดนาโดยใช้แรงคนและแรงควาย
ถางป่าขุดไม้ออกให้หมดแล้วก็ปล่อยควายฝูงเข้าเหยียบให้เรียบเป็นบึ้งนา(แปลง
นา) ควายไม่พอก็ยืมของคนอื่นมาปล่อย การทำนาทำไร่เขาไม่ได้จ้าง
เขาสามัคคีช่วยเหลือกัน แต่ละบ้านสลับกันไปช่วย (น่าจะเริ่มตั้งแต่ประมาณปี
พ.ศ. 2480) เป็นการคาดการณ์เพราะผู้อาวุโสไม่ทราบข้อมูลที่ถูกต้อง
คิดจากว่าชายอายุสิบกว่าปี ก็ย้อนหลังได้เกือบเจ็ดสิบปี)
คนรุ่นหลังปู่ย่าตายายสร้างไว้ให้แล้ว
เด็กจึงควรรักษาไว้เพราะที่นาแปลงนี้แหละที่ทำให้ทุกคนได้เติบโต
อย่าเห็นแก่เงินขายให้นายทุน
เพราะถ้าขายไปแล้วไม่มีปัญญาจะซื้อที่ดินเพราะแต่ละไร่ราคาแพง
ระบบการทำนาเป็นนาฝน ปีหนึ่งทำครั้งเดียวตามฤดูกาล
หลังจากทำนาก็ปลูกแตงโมต่อ แตงโมเกาะหมูขึ้นชื่อว่าอร่อย ขายได้
และทั้งข้าวและแตงโมนั้นปลอดสารพิษ ข้าวที่ทำกินได้ทั้งปี
บางปีก็กินไม่หมดแบ่งปันให้ลูกหลานที่อยู่ข้างนอกได้
แต่ปัจจุบันมีสารเคมีเพิ่มมากขึ้นแล้ว ซึ่งวิธีการของคนแต่แรกนั้นปลอดภัย
คนแต่แรกปลูกกินเองปลอดสารพิษ แต่แรกใช้ต้นสูบา (ต้นเป็นยาง ขึ้นในพื้นที่
แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว) มาบดมาตำผสมน้ำ
เอาน้ำใส่กระบอกไม้ไผ่เจาะรูรดต้นข้าวรดผักเพื่อป้องกันศัตรูพืช
ส่วนการเลี้ยงควายนั้นขี้เป็นปุ๋ยอย่างดีในนาข้าว
และยังใช้ขี้ค้างคาวมาชุบรากต้นกล้าก่อนปักดำ แต่แรกใช้คันไถ
และแรงควายไถนา
ที่เราได้เติบใหญ่ก็เพราะเครื่องไถนานี้ช่วงหลังมีคนมาหาซื้อในราคาสูงแต่ใน
ชุมชนไม่เหลือแล้ว
คิดว่าเราทุกคนที่เป็นชาวนาที่มานั่งร่วมพร้อมใจกันวันนี้ ให้ทำนากันตลอดไป
อย่าขาย เพราะโจรลักไม่ได้ ไฟไม่กิน ยิ่งเก็บไว้ก็ยิ่งราคาสูง
พ่อแม่เราลำบากบุกเบิกทำกันมา
และคิดว่าทุกคนวันนี้จะทำนาตลอดไปจนชั่วชีวิตของเรา
(แต่ลูกหลานนั้นไม่แน่ใจ)
การขุดตอในพื้นที่บุกเบิกต้องฟันต้องขุดรากไม้ให้หมดเพราะควายจะเหยียบจะไถ
ไม่ได้ยิ่งต้นสนเอาออกยากมาก ต้องทำกันทีละนิด
บางทีทำกันเป็นปีก็ไม่ได้ทำนา เสร็จเมื่อใดก็ค่อยทำกัน
ควายที่ใช้เหยียบมีแม่ฝูงและลูกควายอีกยี่สิบ
ถ้าควายใครไม่พอก็ไปยืมของเพื่อนมา เมื่อก่อนตรงรีสอร์ทของดิค
(ตั้งอยู่หมู่ที่ 1) ปลูกข้าวได้ดีมาก ใช้ควายฝูงเหยียบสองที ก็ทำนาได้
คุณมานพ ช่วยอินทร์
บอกว่าเด็กรุ่นใหม่พูดว่าชายเราทำไมไม่ทำที่ดินให้ได้มากหวานี้
จะเห็นว่าคนแต่ก่อนกว่าจะทำมาได้ก็ด้วยความลำบาก
แต่คนรุ่นใหม่แม้จะมีเครื่องมือทันสมัยแต่ไม่ได้ทำที่ดินให้เพิ่มขึ้นเลย
คนแต่ก่อนใช้แรงมือแรงกายก็สร้างกันได้หลายไร่
แต่คนรุ่นใหม่นอกจากสร้างไม่ได้แล้ว ยังรักษาที่ดินบรรพบุรุษไม่ได้ด้วย
แล้วถามชายนวลว่าเรื่องสารบัตรเป็นอย่างไร
นายอล ไชยมล เล่าว่าเรื่องสารบัตรว่าเกิดขึ้นตอนชายยังเด็ก
ช่วงหลังจากสงครามโลกครั้งที่2 มาแล้ว
ตอนนั้นพ่อแม่ต้องออกไปหาข้าวสารจากอำเภอที่นอกเกาะ
เพราะข้าวในเกาะที่ปลูกไม่พอกินเนื่องจากเป็นช่วงสงคราม
การออกไปเอาข้าวสารต้องรอกันนาน แล้วก็ได้แค่สองถึงสามกิโล
เอามาก็ไม่พอกินในครอบครัว ตอนนั้นลำบากเป็นอย่างมาก
เมื่อรอรับที่อำเภอปะเหลียนไม่ได้ก็ต้องเดินทางต่อไปเอาที่เกาะเปียะกับญาติ
พี่น้องที่รู้จักกัน แล้วข้าวที่ได้มาก็ต้องหุงหาอย่างประหยัดมีหัวมัน
กล้วย ก็ใส่ลงไปให้ได้มากๆ จะได้พอกินสำหรับทุกคน
หลังจากคราวนั้นทำให้ทุกคนเห็นว่าการทำนาเองเป็นสิ่งจำเป็น
ทุกคนที่อดอยากหรือต้องกินอย่างประหยัดเริ่มเห็นว่าต้องทำนาให้มีข้าวพอกิน
เอง จึงบุกเบิกการทำนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งรุ่นหลังๆ
มามีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจมากขึ้นเริ่มมีการใช้ปุ๋ยเคมี
จนผ่านมาหลายปีถึงปัจจุบันนี้การทำนาก็เริ่มลดน้อยลง
แลกเปลี่ยนเรื่องพันธุ์ข้าวของชุมชน
กลุ่มชาวนาช่วยกันแลกเปลี่ยนว่าที่ผ่านมาใช้พันธุ์ข้าวอะไรกันบ้าง
และเป็นอย่างไร
พบว่าอดีตนั้นในชุมชนมีพันธุ์ข้าวที่ใช้มาหลายสายพันธุ์ได้แก่
ข้าวเบาร้อยวัน ข้าวเที่ยว ข้าวเบาหลวง ข้าวเบาขาว ข้าวเบามาเล
ซึ่งพันธุ์เหล่านี้ไม่มีอีกแล้ว จากนั้นก็มีขาว กข.7
แต่เก็บเมล็ดพันธุ์หลายปีจนกลายพันธุ์ไปก็เลิกใช้
จากนั้นช่วงหลังมาก็มีข้าวสังกะหรี ข้าวราไว (เป็นข้าวแข็ง หุงขึ้นหม้อ
ให้ผลผลิตดี) ข้าวเล็บนก ส่วนที่นิยมปลูกมากในตอนนี้คือ
ข้าวพันธุ์ปทุม(เป็นข้าวนาโคก ชาวนาชอบกิน) ข้าวหอมมะลิ(ข้าวนาโคก นิยมกิน)
ข้าวผอม(ข้าวนาลึก) ข้าวราชินี(ข้าวนาลึก เม็ดแข็ง) ข้าวอัลฮัม(ข้าวนาลึก
เม็ดแข็ง)
พันธุ์ข้าวที่ปลูกมีความหลากหลาย
เนื่องจากลักษณะของพื้นที่นาของบ้านทุ่งและบ้านแหลมมีทั้งที่เป็นนาลึกและนา
โคก(นาดอน) นาลึกส่วนใหญ่อยู่หมู่ที่ 3 นาโคกส่วนใหญ่อยู่หมู่ที่ 2
และการเลือกพันธุ์ข้าวยังขึ้นกับความชอบเมื่อนำมาหุงของแต่ละครัวเรือนหรือ
แต่ละคนด้วย บางคนก็ปลูกสองถึงสามชนิดในครอบครัวเดียวกัน
แต่ตอนนี้พันธุ์ข้าวที่ปลูกและเก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ปีต่อปีกันมาเริ่มด้อย
คุณภาพลงมากแล้ว ทำให้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร
ดังนั้นชุมชนจึงต้องพัฒนาการทำนาให้สามารถจัดการคัดและเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าว
ให้มีคุณภาพคงที่หรือดีกว่าเดิมให้ได้
เพราะหากทำไม่ได้ก็ต้องไปซื้อพันธุ์ข้าวจากที่อื่นทุกปีไป
สรุปปัญหาการทำนาของชาวเกาะสุกร
- เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เก็บมารุ่นต่อรุ่นเสื่อมคุณภาพลง ทำให้ข้าวที่ปลูกในปีหลังๆ ให้ผลผลิตน้อย
- มีศัตรูพืชระบาด ได้แก่ หอยเชอรี่ และหนู มาทำลายต้นข้าว
โดยเฉพาะหอยเชอรี่ซึ่งมีการขยายพันธุ์รวดเร็วกำจัดอย่างไรก็ไม่ลดลง
และยังกัดกินข้าวอย่างรุนแรง บางแปลงกินจนหมดจนไม่ได้ผลผลิตเลยก็มี
- คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยอยากทำนา เหลือแต่คนรุ่นเก่า
หรือผู้สูงอายุที่ทำนากันอยู่ จึงกลัวว่าคนรุ่นหลังจะไม่ทำนาต่อ
และอาจขายที่ดินให้แก่ผู้อื่นไป
- ที่ดินบนเกาะมีราคาสูง ทำให้ชาวนาหลายคนขายที่ดินให้แก่นายทุน
นายทุนซื้อแล้วก็ล้อมรั้วหนามทำให้พื้นที่ปล่อยเลี้ยงควายน้อยลง
- การปล่อยควายไม่เป็นฤดูกาลจึงไปกัดกินพืชพันธุ์ของชาวบ้าน
- การทำนาเปลี่ยนเป็นระบบการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น มีการใช้สารเคมีซึ่งอาจจะส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้
สรุปความรู้การทำนา
-
แรกเริ่มเดิมทีพื้นที่เกาะสุกรทำการบุกเบิกพื้นที่ทำนาด้วยแรงคนขุดต้นไม้
ออกแล้วใช้ควายฝูงปล่อยเหยียบนา
การทำนาเป็นระบบอินทรีย์ใช้ขี้ค้างคาวชุบรากต้นกล้าก่อนปักดำ
ก่อนทำนาก็ปล่อยควายไว้ให้ควายขี้ในนาเพื่อเป็นปุ๋ยเมื่อตอนปลูกข้าว
สำหรับศัตรูพืชใช้น้ำของต้นสูบามารด การทำนาต้องเอาใจใส่ดูแลนาตลอดการทำนา
วิธีนี้ชายนวนบอกว่าเราจะได้มีข้าวที่ปลอดภัยไว้กินทำให้สุขภาพดีไปด้วย
- แม้การบุกเบิกทำนาช่วงแรกของเกาะสุกรจะให้ผลผลิตไม่ดีนัก
เนื่องจากได้ขุดเอาหน้าดินมาทำคันนาเสียแล้ว
แต่หากใช้ขี้วัวขี้ควายบำรุงดินไปเรื่อยๆ ดินก็จะค่อยๆมีคุณภาพดีขึ้น
ทำให้ปลูกข้าวให้งามได้ต่อไป และลดการใช้ปุ๋ยเคมีที่มีราคาสูงได้
แต่หากเอาแต่ใส่ปุ๋ยเคมีไปตลอดต่อไปดินก็จะเสื่อมสภาพเร็ว
- การทำนาทำให้มีกินไม่อด
เมื่อเกิดวิกฤติอย่างเช่นช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก็สอนให้รู้ว่าถ้าสามารถ
ทำนาเก็บข้าวไว้กินได้เอง ชุมชนก็อยู่รอดได้
เพราะอาหารสำคัญที่สุดเมื่อเกิดภัยพิบัติ
สรุปสิ่งที่ต้องการดำเนินการ
- ความรู้เรื่องพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่และรูปแบบการทำนาของชุมชนเกาะสุกร รวมทั้งวิธีการคัดพันธุ์ การเก็บรักษา
- ความรู้เรื่องการให้ผลผลิตและลักษณะของข้าวแต่ละสายพันธุ์
- จัดตั้งศูนย์เมล็ดพันธุ์ของชุมชนเกาะสุกร โดยต้องการรู้ว่าใครสามารถมาอบรมให้ความรู้และทำวิจัยร่วมกันได้บ้าง
- เทคนิควิธีกำจัดหอยเชอรี่ และหนู ให้ได้ผล
-
ศึกษาดูงานเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้การทำนากับผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหา
การทำนาของชุมชนดังที่กล่าวมา จะได้นำกลับมาปรับปรุงการทำนาต่อไป
ให้การทำนาเกิดประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนได้
ได้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการทำนา
ได้ข้อมูลปัญหาของชุมชน
ได้แนวทางการทำงานต่อ