กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
โครงการตุงล้านนาภูมิปัญญาชาวเหนือ
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

บทที่ 1
บทนำ


สาระสำคัญ

ตุง เป็นภาษาถิ่นประจำภาคเหนือซึ่งตรงกับคำว่า ธง ในภาษาไทยภาคกลางและตรงกับคำว่า ธุง ในภาษาท้องถิ่นอีสานมีลักษณะเป็นแผ่นวัตถุ ส่วนปลายแขวนติดกับเสาห้อยเป็นแผ่นยาวลงมา ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า ธง ไว้ว่า “ ธง น. ผืนผ้าโดยมากเป็นสีและบางอย่างมีลวดลายเป็นรูปต่าง ๆ ที่ทำด้วยกระดาษหรือสิ่งอื่น ๆ ก็มีสำหรับใช้เป็นเครื่องหมายบอกชาติ เครื่องหมายตามแบบสากลนิยม เครื่องหมายเดินทะเลอาณัติสัญญาณตกแต่งสถานที่ในงานรื่นเริงหรือกระบวนแห่ ” การใช้ตุงทางภาคเหนือ ได้ปรากฏหลักฐานในตำนานพระธาตุดอยตุง ซึ่งกล่าวถึง การสร้างพระธาตุไว้ว่า เมื่อพระมหากัสสปะเถระได้นำเอาพระบรมสารีลิกธาตุพระรากขวัญเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า มาถวายแด่พระยาอชุตราชกษัตริย์แห่งราชวงศ์สิงหนวัติ พระองค์ได้ทรงขอที่ดินของพญาลาวจก (ราชวงศ์ลวจังคราช) ในหมู่เขาสามเส้าเป็นที่ก่อสร้างพระมหาสถูปนั้น ทำให้ทำตุงตะขาบยาวถึงพันวา ปักไว้บนยอดดอยปู่เจ้า ถ้าหางตุงปลิวไปเพียงใดกำหนดให้เป็นรากฐานสถูป

­

ปัจจุบันชาวล้านนาส่วนใหญ่ยังนิยมสร้างตุง เพื่อใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ ทั้งทางศาสนา ประเพณีเกี่ยวกับการตาย งานเทศกาลและเฉลิมฉลองต่าง ๆ ตามคติความเชื่อเดิม แต่แนว โน้มการใช้ตุงเริ่มเปลี่ยนไปเนื่องจากบรรดาหน่วยงานทั้งภาคราชการและเอกชนมักนิยมใช้ตุงประดับตามสถานที่จัดงานต่าง ๆ เพื่อความสวยงาม หากไม่มีการอนุรักษ์และศึกษารูปแบบคติความเชื่อเกี่ยวกับการใช้ตุงให้เข้าใจถ่องแท้ก่อนนำ ไปใช้แล้ว อนาคตการใช้ตุงในพิธีการต่าง ๆ ตามคติความเชื่อเดิมคงจะถูกดัดแปลงให้เพี้ยนไปในที่สุด

­

ที่มาและความสำคัญของโครงงาน

ปัจจุบันนี้ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นับว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิต ต่อศิลปะวัฒนธรรมของชาวล้านนาที่มีคุณค่ามีมาแต่โบราณได้เปลี่ยนแปลงไป เนื่องมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตชาวบ้านในอดีตบรรพบุรุษของชาวล้านนาได้ประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ด้วยฝีมือ เช่น การทำตุงล้านนา โดยทุกบ้านช่วยกันทำตุง เพื่อไว้ใช้ในงานหรือประกอบพิธีกรรม จากการที่ทุกบ้านได้มีการทำตุงด้วยตนเองนั้นเป็นการแสดงออกถึงการอนุรักษ์ศิลปะ ภูมิปัญญาของชาวล้านนาให้สืบทอดมาสู่รุ่นลูกหลาน

­

แต่ปัจจุบันนี้เด็กรุ่นลูก หลานเป็นจะส่วนใหญ่ก็หันมาใช้ตุงที่เป็น ผลผลิตจากโรงงานหรือร้านค้าต่างๆ จึงทำให้คุณค่าของตุงได้ลดน้อยถอยลงไป ส่งผลทำให้ไม่มีผู้อนุรักษ์วิธีการทำตุง และอาจไม่มีตุงที่เกิดจากฝีมือของชาวล้านนา

­

ผู้จัดเป็นผู้หนึ่งที่เห็นคุณค่า มีความสนใจในเรื่องตุงล้านนา ซึ่งถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นเอกลักษณ์ของล้านนา พิธีกรรม และความเชื่อของชาวล้านนาตั้งแต่อดีตไปจนถึงปัจจุบัน คณะผู้จัดทำจึงได้จัดทำโครงงาน “ตุงล้านนาภูมิปัญญาชาวเหนือ” ขึ้นมา

­

วัตถุประสงค์ของทำโครงงาน

1. เพื่อออกแบบลวดลายตุงล้านนา

2. เพื่อประดิษฐ์ “ตุงไส้หมู” ได้

3. เพื่อเป็นการอนุรักษ์ตุงให้อยู่คู่กับประเพณีต่อไป

­

สมมุติฐานของการศึกษาค้นคว้า

ตุงล้านนาที่เป็นประดิษฐ์ คือ ตุงไส้หมู มีลวดลายที่สวยงามและนำไปใช้ในงานพิธี

ต่าง ๆ ของชาวเหนือได้

­

แนวทางการศึกษาค้นคว้า

แผนระยะที่ 1 เริ่มต้นโครงงาน

1. ศึกษาปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นสล่าทำตุงล้านนาในตำบลแม่ข้าวต้ม

2. วิเคราะห์ กำหนดเรื่องที่จะทำโครงงาน โดยจัดทำเป็นโครงงาน “ตุงล้านนาภูมิปัญญาชาวเหนือ” และประโยชน์ที่จะได้รับจากการประดิษฐ์ทำขึ้น

3. วางแผนในการไปเรียนวิธีการทำตุงจากปราชญ์ชาวบ้าน จากนั้นจัดเตรียมวัสดุ – อุปกรณ์ ในการดำเนินกิจกรรม โครงงาน “ตุงล้านนาภูมิปัญญาชาวเหนือ”

­

แผนระยะที่ 2 พัฒนาโครงงาน

1. นำวัสดุ – อุปกรณ์ไปเรียนวิธีการทำตุงจากปราชญ์ชาวบ้าน ลงมือปฏิบัติ ดัดแปลง ตกแต่ง ลวดลาย สีสัน ตามความชอบ

2. รายงานผลการดำเนินกิจกรรม รายงานถึงขั้นตอนและกระบวนการทำงานโครงงาน “ตุงล้านนาภูมิปัญญาชาวเหนือ”

­

แผนระยะที่ 3 รวบรวม สรุป

1. การแสดงผลงาน โครงงาน “ตุงล้านนาภูมิปัญญาชาวเหนือ”

2. สรุปการดำเนินกิจกรรม / ข้อเสนอแนะ ปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงาน พร้อมกันนี้ร่วมกันสรุปถึงขั้นตอนหรือกระบวนการทำงาน ประโยชน์ในการประดิษฐ์ ตุงล้านนา ตลอดจนร่วมกันเสนอแนะข้อคิดเห็นในการดำเนินกิจกรรมครั้งต่อไป

­

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. ได้ผลงานคือลวดลายตุงล้านนาที่สวยงาม

2. ลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อหาและสามารถนำไปประกอบเป็นอาชีพได้

3. รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

4. เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมล้านนา

­

บทที่ 2

เอกสารที่เกี่ยวข้อง


การจัดทำ โครงงาน “ตุงล้านนาภูมิปัญญาชาวเหนือ” นี้ ผู้จัดทำได้ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  1. ประวัติความเป็นมาของตุงล้านนา
  2. ประเภทและลักษณะของตุงล้านนา
  3. ความเชื่อของชาวเหนือที่มีต่อตุงล้านนา
  4. แนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่ “ตุงล้านนา”
  5. ตุงไส้หมู


1. ประวัติความเป็นมาของตุงล้านนา

ตั้งแต่สมัยโบราณมนุษย์ต้องการสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายต่างๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายประจำตัว ครอบครัว กลุ่ม ทั้งนี้เพื่อต้องการแบ่งแยกให้เห็นถึงความแตกต่างเฉพาะ ของแต่ละคนหรือกลุ่มโดยใช้เป็นสัญลักษณ์

­

ความเป็นมา “ธง” ตามคติสากลอาจเชื่อมโยงไปกับหลักฐานอันเก่าแก่ตั้งแต่สมัยโบราณ ดังปรากฏในภาพเขียน การแกะสลัก รูปปั้น ศิลาจารึก และคัมภีร์ เป็นระยะเวลายาวนานนับพันปีตั้งแต่สมัยอียิปต์ และกรีกโบราณ “ธง” ในทวีปเอเชียพบว่าแหล่งอารยะธรรมอันยิ่งใหญ่ เช่น ประเทศจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ธิเบต และเนปาล ได้มีการใช้ธงมาตั้งแต่สมัยบรรพกาลแล้ว

­

ส่วนความเป็นมาของตุงล้านนา “ตุง” หรือ “ จ้อ” เป็นภาษาถิ่นทางภาคเหนือที่ชาวล้านนาเรียกขานกันทั่วไป ซึ่งหมายถึง “ธง” ในภาษาภาคกลาง มีลักษณะตรงกับภาษาบาลีว่า “ปฎากะ” หรือ “ ธงปฎาก” “ ธงตะขาบ” ซึ่งเมื่อครั้งสมัยหริภุญชัยในช่วงศตวรรษที่17 พบว่าชาวหริภุญชัย เคยมีโรคอหิวาตกโรคระบาด ผู้คนต่างพากันหนีไปอาศัยอยู่ที่เมืองสะเทิง เมื่ออหิวาตกโรคหายไปก็พากันกลับมาบ้านเมืองเดิม คาดว่าคงได้มีการรับวัฒนธรรมการถวายธงหรือตุงที่มีเสาหงส์มาจากชาวมอญมาด้วย ซึ่งเราพบว่า หงส์ล้านนานี้เป็นสิ่งสำคัญมากของชาวรามัญนั้น ได้ปรากฏว่า เป็นส่วนประกอบอยู่กับตุงในล้านนาคือ “ตุงกระด้าง” ซึ่งมีลักษณะรูปทรงเหมือนกัน และมีลักษณะของธงตะขาบของชาวรามัญก็คล้ายคลึงกับ “ตุงไชย” ของล้านนาด้วยเช่นกัน ราวปี พ.ศ.1839 พระพุทธศาสนาได้เข้ามาในดินแดนล้านนา เกิดมีการผสมผสานระหว่างความเชื่อดั้งเดิม คือ การนับถือผีบวกกับคติความเชื่อทางศาสนาเข้าด้วยกัน จึงเกิดวิวัฒนาการที่เกี่ยวกับคติความเชื่อต่างๆผสมผสานปนเปกันมากมาย อีกทั้งด้านความสัมพันธ์กันระหว่างดินแดนต่างๆ ได้ส่งอิทธิพลทางวัฒนธรรมต่อกัน จึงไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่า ประเพณีถวายทานตุงของชาวล้านนานับได้ว่ามีต้นกำเนิดมาจากที่ใด และได้รับอิทธิพลความเชื่อและรูปแบบต่างๆมาจากแหล่งใดบ้างได้เพียงแต่สันนิษฐานในบางกรณีว่า วิวัฒนาการเริ่มแรกเดิมทีนั้นก่อนที่จะมีการรวบรวมดินแดนเป็นอาณาจักรล้านนา พระยามังรายมหาราชทรงเคยปกครองอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำกกมาก่อน ซึ่งได้แก่ เมืองเชียงแสน เชียงราย และดอยตุงเราเชื่อว่าความเป็นมาของตุงคงมีจุดกำเนิดมาจากดอยตุง

­

ดังปรากฏหลักฐานจากเรื่องราวโบราณสถานที่เกี่ยวกับประวัติพระธาตุดอยตุงซึ่งกล่าวถึงการสร้างพระธาตุไว้ว่า พระมหากัสสปะเถระได้นำพระบรมสารีลิกธาตุพระรากขวัญเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า มาถวายแด่พระเจ้าอรุตราชกษัตริย์แห่งราชวงศ์สิงหนวัติ พระองค์ได้ทรงขอที่ดินจากพญาลาวจก (ราชวงศ์ลวจังคราช) ในหมู่เขาสามเส้าเป็นที่ก่อสร้างพระมหาสถูปนั้น ทำให้ตุงตะขาบยาวถึงพันวา ปักไว้บนยอดดอยปู่เจ้า ถ้าหางตุงปลิวไปเพียงใดกำหนดให้เป็นรากฐานสถูป

­

ในช่วงเวลาต่อมาคติความเชื่อดังกล่าวจึงกระจัดกระจายทั่วไปในดินแดนล้านนา เนื่องจากชาวล้านนามีความเชื่อเกี่ยวกับ “อนุจักรวาล” การย่อส่วนความคิดเรื่องจักรวาลระดับจากชนชาติลัวะ ความเชื่อเรื่องผีปู่และย่า หรือผีบรรพบุรุษ (ผีปู่ย่า) นี้เป็นความเชื่อดั้งเดิมที่เห็นได้ชัดว่า แต่เดิมชาวบ้านได้มีโลกทรรศน์ผูกพันอยู่กับผีมาก และเมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาในท้องถิ่นภายหลังจึงผสานแนวความคิดเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะเรื่องของวิญญาณและชีวิตหลังความตาย ด้วยการถวายตุงให้เป็นทานแก่ผีบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว อันจำส่งผลให้ไปเกิดในภพภูมิที่ดีขึ้น ช่วยให้พ้นจากทุกขเวทนาในนรก และในขณะเดียวกันก็ถวายให้กับตนเองด้วย เพื่อหวังอานิสงส์เกื้อกูล ให้ไปสู่ชีวิตที่ดีในภายภาคหน้า ทำให้ประเพณีการถวายทานตุงมีบทบาทมากขึ้นในชุมชนเป็นที่นิยม และยึดถือศรัทธาสืบกันมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

­

โดยสรุปเรื่องราวของตุงในล้านนา ตามหลักฐานที่ปรากฏในคัมภีร์ใบลาน หรือตำนานต่างๆ เห็นได้ชัดว่าประเพณีการสร้างตุงนั้น มีมาแต่โบราณกาลแล้วดังปรากฏในตำนานที่สำคัญๆ และได้กล่าวถึงตุงชัดเจนมากที่สุด คือ ตำนานพระธาตุดอยตุงอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย


2. ประเภทและลักษณะของตุงล้านนา

ในเขตภาคเหนือและภาคอีสาน มีการแบ่งประเภทของ “ตุง” ตามลักษณะของวัสดุที่นำมาใช้ทำ ลักษณะของตุงผ้าทอแบ่งออกตามลักษณะการใช้งาน คือ

14 . ตุงยอดพระธาตุ (จ้อตุง) ทำด้วยโลหะที่มีค่า เช่น เงิน ทองคำ ทองเหลือง เป็นรูปสามเหลี่ยม ขนาดไม่จำกัด ใช้ประดับบนยอดพระธาตุเหนือจากฉัตรขึ้นไป ที่ประเทศพม่านั้น “ จ้อตุง ” ทำเป็นคัดสวมลงในกระบอกสามารถหมุนได้ เมื่อลมพัดมา นอกจากจะสวยงานแล้ว ยังสามารถบอก ทิศทางลงได้อีกด้วย ตุงยอดธาตุ ถือว่าเป็นของมีค่าและสำคัญ

15 . ตุงแฮ คือตุงที่ทำด้วย ผ้าแฮ ( ผ้าที่โปร่งบางอ่อน) แต่ไม่ใช่ผ้าแพรซึ่งทึบแต่อ่อนพริ้ว ปัจจุบันมักเข้าใจว่าเป็นอันเดียวกัน มีลักษณะ หลายรูปแบบใช้ประโยชน์หลายอย่างตามรูปแบบตุงเพียงแต่ทำด้วย “ ผ้าแฮ ” เท่านั้น

16. ตุงไม้ ที่ประดับด้วยวัสดุต่างๆ เช่น ประดับหรือฉาบด้วยทราย เรียกว่า“ ตุงทราย ” วัสดุอื่นๆ ได้แก่ ตุงข้าวเปลือก ตุงข้าวสาร ตุงแก้ว ตุงดิน ใช้ในพิธีกรรมและงานบุญต่าง ๆ

17 . ตุงฮาว เป็นรูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม ทำด้วยกระดาษ หรือผ้า เป็นสีต่าง ๆ ขนาดประมาณฝ่ามือ หรือโตกว่านั้นเล็กน้อย ใช้ประดับอาคาร ประรำผามเบียง เต้น รั้ว โดยทากาวติดกับเส้นด้าย เชือกมัดขึงใช้ในงานบุญ วันสำคัญ ปัจจุบันมักจะเป็นธงชาติ ธงเสมาธรรมจักร ตุงอวมงคล

­

ตุงอวมงคล

18 . ตุงแดงหรือตุงถอน ทำด้วยผ้าสีแดง ลักษณะคล้ายตุงไจย แต่ต่างกันตรงสี ที่เป็นสีแดง หากมีคนตายมักจะตายด้วยอุบัติเหตุ หรือตายโหง หลังจากนั้น ๗ วัน หรือภายใน ๗ วัน จะต้องนำตุงแดงมาปักไว้ตรงจุดที่ตาย พร้อมกองทรายกองใหญ่ ๑ กอง กองเล็ก ๑๐๐ กอง และเครื่องสังเวย ( ขันข้าว) มาทำพิธีตานตุง เพื่อให้วิญญาณผู้ตายหลุดพ้นไปผุดไปเกิดไม่เป็นผีวนเวียนอยู่ตรงนั้น นอกจากนี้ตุงแดงยังสามารถ ทานแก่ผู้ล่วงลับไปแล้วในวันปีใหม่ได้อีกด้วยใช้เป็นเครื่องอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้ตาย และสูตถอน

19. ตุงสามหาง ทำด้วยผ้าสีขาว หาง (ชายตุง มี ๓ แฉก) ใช้นำหน้าศพ

­

3. ความเชื่อของชาวเหนือที่มีต่อตุงล้านนา

ตุง : สัญลักษณ์แห่งศิริมงคล
ตุง คือ ธงแขวนแบบหนึ่งในศิลปะล้านนา พบเห็นได้ในภาคเหนือของประเทศไทยทำด้วย ผ้า ไม้ โลหะ ด้าย หรือกระดาษ เป็นรูปแถบยาว ห้อยลง ใช้ประดับ หรือประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ โดยมีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับพิธีกรรมที่ใช้ตุง


'ตุง' สัญลักษณ์แห่งล้านนา


"ตุง" ของล้านนา ก็คือ "ธง" ของไทยภาคกลางนั่นเอง มีลักษณะเป็นแผ่นวัตถุส่วนปลายแขวนติดกับเสาห้อยเป็นแผ่นยาวลงมา วัสดุที่ใช้ทำ ตุงนั้นมีหลายอย่าง เช่น ไม้ สังกะสี ผ้า กระดาษ ใบลาน เป็นต้น ตุงเป็นสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธีทางพุทธศาสนา โดยมีขนาด รูปร่าง และ รายละเอียดด้านวัสดุตกแต่งแตกต่างกันไปตามความเชื่อและพิธีกรรม ตลอดจนตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่นด้วย


ส่วนจุดประสงค์ของการทำตุงล้านนาก็คือ ทำถวายเป็นพุทธบูชาโดยทั้งชาวไทยยวน ไทลื้อ ไทเขิน และไทใหญ่ จะถือว่าเป็นการทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือถวายเพื่อเป็นปัจจัยส่งกุศลให้แก่ตนไปในชาติหน้า ด้วยความเชื่อว่าเมื่อตายไปแล้ว จะได้เกาะยึดชายตุงขึ้นสวรรค์

­

4. แนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่ “ตุงล้านนา”

หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข

พอประมาณ ในการนำสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากภูมิปัญญามาประดิษฐ์เองโดยไม่ต้องใช้งบประมาณในการจัดหาซื้อ ลดค่าใช้จ่าย เพราะสามารถประดิษฐ์เองได้

มีเหตุผล รูปแบบและลวดลายของตุง แสดงถึงลักษณะการนำไปใช้ในงาน การนำตุงล้านนาไปใช้จึงต้องมีการศึกษาประเภทและความเหมาะสมของลวดลาย และรูปแบบของตุงล้านนา

มีภูมิคุ้มกันที่ดี 'ตุง' เป็นสื่อที่แสดงถึงความเชื่อใน พุทธศาสนา เป็นของสูง ที่ควรบูชา

สร้างความตระหนักในการมีสติ ความรอบรอบ และลดความประมาท

ความรู้ ได้รับความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมา ประเภทของตุง ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนวิธีการทำตุง และลักษณะของการนำตุงไปใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ
คุณธรรม สร้างจิตสำนึกที่ดีในการอนุรักษ์ "ตุงล้านนา" ให้อยู่กับภาคเหนือ ที่สื่อถึงความเอกลักษณ์ของภาคเหนือ ของล้านนา

­

5. ตุงไส้หมูหรือ ตุงไส้ช้าง

"ตุงไส้หมู หรือ ตุงไส้ช้าง" เป็นชื่อตุงที่นิยมใช้กันในภาคเหนือ ในถิ่นอื่นอาจเรียกแตกต่างกันไป เช่น ลำปางเรียกช่อพญายอ จังหวัดเชียงรายและลำพูนเรียกว่า ตุงไส้ช้าง ภาคกลาง เรียก พวงมโหตร (พวง-มะ-โหด) คำที่หลายคนไม่ทราบความหมาย ไม่เคยได้ยิน ทั้งที่อาจจะเคยผ่านตามาแล้วก็ตามลักษณะตุงไส้หมูมีรูปทรงเหมือนเจดีย์ ทำจากกระดาษว่าวหลากสี ใช้ปักบนกองเจดีย์ทรายคู่กับตุง 12 ราศี เพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณี และพระธาตุประจำปีเกิด ในจังหวัดพะเยาและเชียงรายใช้ตุงไส้หมูหรือตุงไส้ช้างสีขาวและสีดำประดับรอบปราสาทศพ เชื่อว่าให้ผู้ตายไปสวรรค์ จึงเห็นได้ว่าตุงไส้หมูหรือตุงไส้ช้างนั้นเป็นได้ทั้งตุงมงคลและอวมงคล ทั้งนี้แล้วแต่ว่าในแต่ละพื้นที่จะมีการใช้งานไปอย่างไร แต่จุดประสงค์หลักก็ยังเป็นการบูชาพระพุทธ ศาสนานั่นเอง

­

จึงเห็นได้ว่า ควรใช้งานตุงอย่างเหมาะสมถูกต้อง มิให้เปลี่ยนแปลงหรือเพี้ยนไปจากความมุ่งหมายเดิมที่มีเป้าหมายเพื่อการบูชาหรือพระพุทธศาสนาเป็นเป้าหมายใหญ่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 อธิบายว่า เป็นพวงอุบะ ซึ่งห้อยประดับอยู่ที่คันดาลฉัตร ทำด้วยผ้าตาดทอง ส่วนคันดาลฉัตร คือ คันฉัตรที่มีรูปเป็นมุมฉาก ๒ ทบ อย่างลูกดาล เพื่อปักให้ฉัตรอยู่ตรงเศียรพระพุทธรูป

­

บทที่ 3

การทำตุงไส้หมูไส้หมูหรือตุงไส้ช้าง

วัสดุที่ใช้ในการทำตุงไส้หมูไส้หมูหรือตุงไส้ช้าง

1.กระดาษสาหรือผ้า

2.กระดาษว่าว

3.กระดาษแข็ง

4.ไม้ไผ่

5.กรรไกร

6.เข็ม

7.เชือก

­

วิธีทำตุงไส้หมู

1.นำกระดาษว่าว 2 แผ่นๆ ละสีมาซ้อนกันพับให้เป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า ตัดส่วนปลายที่เหลือออก

2.พับครึ่งรูปสามเหลี่ยมอีก 2 ครั้ง ตัดชายด้านที่ไม่เท่ากันให้เป็นลวดลายสวยงามตามต้องการ

3.ใช้กรรไกรตัดเส้นตรงจากด้านที่เปิดได้เข้าไปลึกเหลือช่องว่างไม่ให้ขาดไว้พอประมาณ กลับด้านแล้วตัดเส้นตรงขนานกับเส้นแรก จากนั้นตัดสลับกันไปตลอดความกว้างจนถึงปลาย เหลือปลายไว้ประมาณ 4 เซนติเมตร เพื่อทำหัวตุง

4.ตัดเสร็จแล้ววางลงให้เหมือนเดิม แล้วเปิดด้านข้างที่ซ้อนกันออกจนเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า จับปลายด้านที่ซ้อนกันเปิดเป็นสี่เหลี่ยมทั้งสองแผ่น จับตรงกลางกระดาษยกขึ้น

5.ตัดกระดาษแข็งเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณหนึ่งนิ้ว ทากาวติดด้านในของหัวตุง ใช้ด้ายร้อยด้านบน นำไปผูกติดกับปลายไม้ไผ่ เป็นอันเสร็จนำไปใช้งานได้

­

บทที่ 4
ผลการจัดทำตุงไส้หมูหรือตุงไส้ช้าง

จากการศึกษาวิธีการทำตุงไส้หมู ซึ่งตุงประเภทหนึ่งของตุงล้านนาที่มีผู้คนนิยมนำมาใช้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ค่อนข้างมาก นักเรียนสามารถประดิษฐ์ ตุงไส้หมู ได้อย่างสวยงาม โดยมีการออกแบบลวดลายเพิ่มเติม การออกแบบสีของกระดาษ และตุงไส้หมูที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้สามารถนำไปใช้ในงานพิธีกรรมต่างๆ ได้

­

บทที่ 5
สรุปผลและอภิปรายผลการทำตุงไส้หมูหรือตุงไส้ช้าง


สรุปผลการทำตุงไส้หมูหรือตุงไส้ช้าง
จากการทำตุงไส้หมู ครั้งนี้พบว่า นักเรียนสามารถเลือกใช้วัสดุ อุปกรณ์ได้อย่างถูกต้อง และสามารถออกแบบลวดลายตุงไส้หมูได้อย่างสวยงาม และสามารถทำตุงไส้หมูได้ และนำไปใช้ในทางศาสนาได้


อภิปรายผลการทำตุงไส้หมูหรือตุงไส้ช้าง

จากการทำตุงไส้หมู ครั้งนี้พบว่า นักเรียนสามารถเลือกใช้วัสดุ ได้แก่ กระดาษว่าว ได้โดยมีการใช้สีที่หลากหลายทำให้ตุงมีสีสันที่สวยงาม และสามารถอุปกรณ์ ได้แก่ กรรไกร เชือก ไม้ เข็มได้อย่างถูกต้อง และสามารถออกแบบลวดลายตุงไส้หมู โดยมีการออกแบบสลับลายให้มีหลายชั้นและมีการตัดอย่างประณีตทำให้ได้คุงที่สวยงาม อ่อนช้อย และนำตุงไส้หมูไปใช้ นักเรียนได้นำตุงไส้หมูที่ประดิษฐ์ไปใช้ในงานทอดผ้าป่าสามัคคี งานปอยหลวง งานบุญวันพระได้ ทำให้นักเรียนเห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมของล้านนา รู้จักการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้


บรรณานุกรม

ผู้ให้ข้อมูล

พ่ออุ้ยแปง คำแฮ บ้านสันแฟน ปราชญ์ชาวบ้าน “ตุงล้านนา”

เอกสารอ้างอิง

ตุงล้านนาภูมิปัญญาบรรพชน อาจารย์ ศราวุธ มโนเรือง โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี อำเภอ แม่ฟ้าหลวง จ. เชียงราย
Flash Page Flip ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์มนตรี เลากิตติศักดิ์

พ่ออุ้ยแปง คำแฮ บ้านสันแฟน ปราชญ์ชาวบ้าน “ตุงล้านนา”

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ