กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
เวทีพัฒนาโครงการพื้นที่่ประสบพิบัติภัยสึนามิ บ้านในทอน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ครั้งที่ 2
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

การทำงานในชุมชนต้องอาศัยองค์ประกอบหลายส่วน มีผู้นำต้องมีผู้ตาม มีผู้ใหญ่ก็ต้องมีเยาวชนมาช่วยสร้างสีสัน สร้างการเรียนรู้ร่วมกัน อนาคตต้องได้รับการสืบต่อจากอดีต เยาวชนในทอนก็เช่นกัน จะต้องมารับช่วงต่อจากคนรุ่นเก่า


เวทีทำความเข้าใจเพื่อพัฒนาโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนบ้านในทอน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ครั้งที่ 2

ณ  ที่ทำการศาลาเอนกประสงค์หมู่ 11 ต.สุโสะ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง

20  กรกฎาคม 2555

วัตถุประสงค์

- เพื่อทำความเข้าใจโครงการ

- เพื่อหาแนวทางการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับชุมชน และเป็นการทำงานแบบมีส่วนร่วม

ผู้ร่วมประชุม

  ผู้ใหญ่บ้าน  ผู้ช่วย อบต.  กลุ่มเยาวชน  คนที่ใช้ประโยชน์จากป่าชายเลน  กลุ่มแม่บ้าน  สกว.  รวม 26 คน

กระบวนการ

  ให้แต่ละคนแนะนำตัวเอง  งานที่ทำ  และในทอนมีอะไรดี

  ทีมวิจัยเดิม แนะนำโครงการที่ได้ทำมาแล้ว  สิ่งที่ได้รับ ปัญหาอุปสรรค

  เปิดให้มีการแลกเปลี่ยน คนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า

สรุป

  บ้านในทอนได้รับการสนับสนุนจากสกว.ฝ่ายท้องถิ่น 2 โครงการ คือโครงการอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านในทอนและโครงการการจัดการความรู้บ้านในทอน  และอีกโครงการคือโครงการยุติธรรมตำบลสุโสะ  ในฐานะเป็นพื้นที่และเป็นทีมวิจัยร่วม  ดังนั้นการทำงานกับสกว.ที่ผ่านมาถือว่าชุมชนและคนบ้านในทอนได้ประโยชน์มากมาย  หลายสิ่งหลายอย่างเป็นผลพวงจากการทำวิจัยกับสกว.   ช่วงที่มีการทำวิจัยกับสกว.พวกเราคนในชุมชนคึกคัก มีการประชุมปรึกษาหารือเรื่องต่างๆ กันเรื่อยๆ  เพราะไม่ใช่แค่ทำวิจัยแต่ในชุมชนมีปัญหาอะไรเราก็มานั่งปรึกษาหารือกันผ่านวงของสกว. เพราะสกว.เป็นตัวกลางให้พวกเราได้พูดคุยกันอย่างเปิดอก

    หลังจากเสร็จโครงการวิจัยกับสกว. พวกเราไม่มีโอกาสมานั่งปรึกษาหารือนั่งคุยกันเหมือนแต่ก่อน  ไม่เคยได้คุยกันเลย ตอนนี้ทุกคนมุ่งทำกินของตัวเอง  จนรู้สึกว่าชุมชนบ้านในทอนเริ่มจะแย่ลง   ถ้าสกว.จะเข้ามาหนุนต่อ พวกเราก็ยินดี  เพราะพวกเรากันเองคุยกันไม่ได้ จำเป็นต้องมีตัวกลาง  และที่ทำไปทั้งหมดก็ทำเพื่อลูกหลานคนในทอน

  บ้านในทอนมีของดีแต่คนนอกไม่ค่อยรู้  บ้านเรามีทั้งทรัพยากร ภูมิปัญญา มีความรู้  แต่การจะขยับขับเคลื่อนอะไรก็ต้องมาปรึกษากันก่อน  จ๊ะสาวบอกว่า  เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ได้ประชุมร่วมกันไปแล้วครั้งหนึ่ง ว่าอยากทำกระชัง อยากเลี้ยงสายไว้ในกระชัง เลี้ยงปลา  แล้วก็ทำที่ประชุมแบบลอยน้ำ  เพราะที่บ้านเรามีความเหมาะสมเป็นอย่างมาก สายสมบูรณ์มีทั้งปี  เราสามารถรองรับนักท่องเที่ยวหรือรองรับการเป็นที่ประชุมไปด้วย  บรรยากาศก็ดี ไม่มีเสียงรบกวน อาหารทะเลบ้านเราก็สด สั่งได้ หาได้  ไม่ต้องไปไกล มีอยู่แล้วในป่าชายเลน  แต่เราตอนนี้ทุกคนเช้าก็ออกนอกบ้านไปตัดยาง ไปสวนปาล์ม  เด็กวัยรุ่นก็ไม่ค่อยได้เรียน หลายคนออกมาทำงานอยู่กับบ้าน ทำงานกับพ่อแม่  แม้จะอยู่ได้ แต่พวกเราก็อยากมีอะไรที่พัฒนาชุมชนมากกว่านี้  ป่าชายเลนบ้านเราสวยมาก เราภูมิใจที่รักษาป่าผืนนี้ไว้  แต่คนตรังยังไม่ค่อยรู้จักบ้านในทอน แม้กระทั่งคนในตำบลเดียวกัน  ก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำ  จะมีก็แต่เครือข่ายวิจัย ที่รู้จักพวกเราดีทั้ง 4 ภาค  เพราะเขามาเที่ยวบ้านเราตอนที่เราทำวิจัย

  จากการพูดคุยในที่สุดได้ข้อสรุปว่า จะทดลองเลี้ยงสายในกระชัง  เลี้ยงปลาไปด้วย  และค่อยขยับทำที่ประชุมลอยน้ำ  แต่หลังจากนี้พี่เลี้ยงต้องไปหาพื้นที่ที่มีการเพาะเลี้ยงสาย  เพื่อหาความรู้ก่อน  แล้วค่อยมาทดลอง หลังจากนั้นจะวางแผนการทำงานร่วมกัน แล้วค่อยขยับไปเรื่อยๆ  ตอนนี้คนเฝ้ากระชังมีแล้ว เพราะกลุ่มวัยรุ่นเขารวมตัวกันอยู่แล้ว  ถ้ามอบหมายให้เขารับผิดชอบน่าจะทำได้ อีกอย่างจะได้ป้องกันวัยรุ่นนอกหมู่บ้านเข้ามาเพ่นพ่านในชุมชนด้วย

  สำหรับพิพิธภัณฑ์เตาถ่าน ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าทางอบจ.จะดำเนินการต่ออย่างไร  แต่อยากให้โอนให้อยู่ในการดูแลของอบต.หรือของชุมชน  เพราะอบจ.มีแค่งบฯ แต่ความรู้หรือการจัดการอย่างอื่นต้องเป็นคนในชุมชน  ตอนนี้ก็ทรุดโทรมไปเรื่อยๆ  แม้จะยังไม่ได้มีการเปิดอย่างเป็นทางการ

  หลังจากนี้อยากให้กลุ่มเยาวชน  คนในชุมชน  กลับไปลองคิดลองคุยกันต่อ  เพื่อจะได้หาทางออกร่วมกันที่เหมาะสม  สำหรับการหนุนเสริมครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากโครงการสึนามิ แต่ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน โดยเฉพาะเรื่องอาชีพ เพราะฉะนั้นงบประมาณจะได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ผ่านมาทางมูลนิธิวิจัยเพื่อท้องถิ่น  แล้วส่งต่อมายังnode 3 จังหวัดในภาคใต้ คือ ตรัง สตูล ระนอง  โครงการมีระยะ 3 ปี แบ่งเป็น 2 เฟส  งบประมาณเช่นเดียวกับสกว.  เป็นการต่อยอดที่เน้นเชิงรูปธรรม โดยใช้ข้อมูลที่เคยศึกษามาวิเคราะห์ วางเป้าหมาย วางทิศทาง กำหนดความต้องการให้ชัดเจน  ที่สำคัญยังคงเน้นการพัฒนาคนและการมีส่วนร่วมเหมือนเดิม  วางแผนและปฏิบัติการเพื่อให้เกิดประโยชน์สำหรับคนในชุมชน และยั่งยืน




กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ