บ้านในทอน มีพื้นที่ป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในจังหวัดตรัง ปกป้องชุมชนรอดพ้นจากคลื่นยักษ์สึนามิ แต่เครื่องมือเครื่องไม้ในการทำประมงเสียหาย คนในชุมชนออกไปประกอบอาชีพนอกหมู่บ้านมากขึ้น ใครจะเป็นคนปกป้องป่าชายเลนผืนนี้
เวทีชี้แจงโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งพื้นที่สึนามิ บ้านในทอน หมู่ 11 ต.สุโสะ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ครั้งที่ 1
29 มิถุนายน 2555
ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11 เวลา 17.00 – 20.00 น.
วัตถุประสงค์
เพื่อทำความเข้าใจโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ
เพื่อสำรวจความคิดเบื้องต้น วิเคราะห์ความเป็นไปได้
สรุป
พื้นที่หมู่ 11 บ้านในทอน เป็นอีกพื้นที่หนึ่งของจังหวัดตรังที่รับผลกระทบจากภัยสึนามิเมื่อเดือนธันวาคม 2547 แม้ว่าจะไม่มีผู้เสียชีวิต แต่หลายครอบครัวได้รับผลกระทบทางด้านอาชีพ เช่น กระชัง อวน ของชาวบ้าน ที่เสียหายเกือบ 100% การเยียวยาในสมัยนั้น มีการซื้ออุปกรณ์ทดแทนการทำประมง แต่ผิดสเปก ชาวบ้านใช้การไม่ได้ เลยขายต่อ
บ้านในทอนเป็นหมู่บ้านที่เพิ่งแยกตัวจากหมู่ 4 เมื่อปลายปี 2542 ผู้ใหญ่บ้านคนแรกและยังคงเป็นจนถึงปัจจุบันคือนายถนอม รอดเสน อายุ 58 ปี คนในชุมชน 93 % นับถือศาสนาอิสลาม ห่างจากเมืองตรังประมาณ 50 กิโลเมตร ถนนในหมู่บ้านเป็นถนนลาดยางไปจนถึงท่าเรือป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งประกอบอาชีพของคนในชุมชน ในอดีตป่าชายเลนที่นี่เคยรับการสัมปทานจนป่าเกือบหมด ระยะหลังมีการฟื้นฟู ปัจจุบันป่าชายเลนบ้านในทอนอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในจังหวัดตรัง ในป่าชายเลนมีคลองสายเล็กๆ หลายสาย ที่จะนำไปสู่ทะเลอันดามัน สมบูรณ์ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ และทัศนียภาพ แต่ไม่ค่อยมีการเผยแพร่ไปสู่สายตาคนภายนอกมากนัก
เมื่อก่อน บ้านในทอนแทบจะไม่ค่อยมีคนรู้จัก แต่เมื่อปี 2548 ได้ขอรับการอุดหนุนงบประมาณจากสกว.เพื่อทำวิจัยอนุรักษ์ป่าชายเลนและการจัดการความรู้ ทำให้ในทอนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง เห็นประโยชน์ ได้จัดงบประมาณก่อสร้างพิพิธภัณฑ์เตาถ่านขึ้น (ยังไม่เสร็จสมบูรณ์)
กระบวนการวิจัยได้พัฒนาคน พัฒนาศักยภาพการคิดของคนในชุมชนมากพอสมควร ศักยภาพของคนบ้านในทอนต่างจากอดีตค่อนข้างมาก ถือเป็นมิติใหม่ของชุมชน แต่เมื่อโครงการวิจัยจบ การรวมกลุ่มของคนในชุมชนน้อยลง ทุกคนมุ่งประกอบอาชีพของตัวเองเป็นหลัก โดยเฉพาะอาชีพรับจ้างทำสวนปาล์ม สวนยาง เพาะกล้ายาง หลายคนทำอาชีพในป่าชายเลนควบคู่กับงานรับจ้าง งานกรีดยาง
สำหรับการพูดคุยครั้งนี้เป็นการทำความเข้าใจกับแกนนำชุมชน และแกนนำในการทำวิจัยรอบที่ผ่านมา และให้ข้อคิดว่า ตั้งแต่โครงการวิจัยจบไป แทบไม่มีโอกาสในการรวมกลุ่มเพื่อพูดคุย ปรึกษาหารือเรื่องราวต่างๆ ในชุมชน การรวมกลุ่มต่างๆ ไม่มีการบริหารจัดการที่ดี ไม่มีคนเสียสละ ก็ล้ม คนในชุมชนหลายคนไม่เข้าใจกระบวนการ
คำถาม ถ้ากลุ่มแกนนำที่ดำเนินการอยู่นี้ ไม่ดำเนินการ จะมีใครดำเนินการแทน ในทอนในอนาคตจะเป็นอย่างไร
แตกแยกแน่นอน เหตุผลด้านการเมือง การประกอบอาชีพ เวลา การมีองค์กรอื่นเข้า คนในชุมชนเอาชุมชนไปต่อรองเพื่อรับงบประมาณ คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ และไม่มีการดำเนินการจริง และยิ่งนานก็จะยิ่งยาก เพราะแต่ละคนก็ไปทำงานส่วนตัว
คำถาม ยังต้องการรวมกลุ่มเพื่อทำสิ่งดีๆ ยั่งยืนให้เกิดขึ้นในชุมชนไหม?
การทำวิจัยถือว่าเป็นการทำงานที่ทุกคนพอใจ มีความสุข ได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดกันบ่อย ทั้งคนในชุมชน คนนอกชุมชน นักวิชาการ ถือว่าได้พัฒนาตัวเองมาก หลายคนกล้าพูด พูดเก่งขึ้น พูดเป็นระบบ กลายเป็นผู้นำ ได้รับเชิญเป็นวิทยากร เป็นจุดเด่นของในทอน สร้างสิ่งดีๆ คนรู้จักในทอนมากขึ้นเพราะงานวิจัย เมื่อโครงการวิจัยจบแทบไม่ได้พบหน้าแม้จะอยู่หมู่บ้านเดียวกัน ถ้ามีโอกาสก็อยากทำอีก แต่ปัญหาคือ คนที่จะมาร่วมทำ
คำถาม แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร?
ต้องคัดคน หาคนที่มีใจอาสาสมัคร ไม่หวังผลค่าตอบแทน มีเวลา เสียสละ เข้าใจงาน โดยใช้หอกระจายข่าวให้เป็นประโยชน์ ให้ผู้ใหญ่ ผู้ช่วย อบต. สลับกันแจ้งข่าว ทำความเข้าใจ ว่าจะทำวิจัยกันอีก แต่ครั้งนี้เป็นเรื่องการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอาชีพที่เข้มแข็ง ดูแลรักษาป่าชายเลนให้เป็นป่าชุมชน ไม่มีค่าตอบแทน เปิดรับสมัครพร้อมแจ้งคุณสมบัติ และอยากให้เยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญของในทอน ที่เรียนหนังสือไม่จบ มาเรียนรู้กับผู้หลักผู้ใหญ่ จะแก้ปัญหาการรวมกลุ่มทำเรื่องไม่ดี
คำถาม แล้วคิดว่าอาชีพอะไรที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับคนในทอน?
จริงๆ คนในทอนปัจจุบันรวมกลุ่มกันทำอาชีพยาก เพราะต่างคนต่างทำ เวลาไม่ตรงกัน อยากทำเรื่องการติดตายาง เพราะคนในชุมชนติดตายางกันมาก และถือเป็นจุดเด่น เป็นการทำแบบกลุ่ม แต่ต่างคนต่างไปทำ ถึงเวลาก็มานั่งคุยกัน
คำถาม แล้วถ้าเป็นอาชีพที่ต้องเกี่ยวข้องกับป่าชายเลน คิดว่าอะไรที่น่าสนใจ?
ถ้าในป่าชายเลน... ตอนนี้สาหร่ายมีเยอะ หาได้ทั้งปี และถือว่าเป็นจุดเด่นได้เหมือนกัน เพราะที่อื่นไม่ค่อยมี แต่คนบ้านเราก็ไม่ค่อยเก็บสาหร่ายไปขาย คนที่เก็บไปขายได้กิโลเป็นร้อยบาท กระบี่ก็รับซื้อ เกาะหมูแม้จะอยู่ตรังแต่เขาไม่มีสาหร่าย เขาก็ยังซื้อของเราไปกิน ตลาดทับเที่ยง ตลาดนัด ก็ขายดี ที่กระบี่มีการเลี้ยงสาหร่าย การเลี้ยงก็ไม่ยาก ทำกระชัง ไปเอาดินเลนที่มีเชื้อสาหร่ายอยู่ก่อนมาใส่ ไม่นานก็เก็บได้แล้ว แถมยังสะอาดกว่าที่อยู่เดิมของมันด้วย งบก็ไม่ได้มาก
ที่น่าสนใจอีกก็น่าจะเป็นปลา เพราะตอนนี้ปลาขายดีมาก แม้จะคนในหมู่บ้านก็ยังต้องซื้อปลากิน การเลี้ยงก็เลี้ยงไม่ยาก หลายชนิดไม่ต้องให้อาหารเลย บางชนิดก็เลี้ยงด้วยกันได้ แต่ก็ต้องมีคนเฝ้า ถึงจะได้ผลดี ปลาที่เลี้ยงได้เช่น ปลากะพง ปลาแก่แดด ปลาเก๋า ปลาม็อง และในตลาดสดก็ขาดแคลนปลาทะเล ราคาก็แพงมากขึ้นทุกวัน
คำถาม สมมติว่ามีการเลี้ยงปลาแล้ว คิดว่าจะยั่งยืนหรือไม่ อย่างไร?
อาหารทะเลโดยเฉพาะปลา เป็นอาหารที่คนส่วนใหญ่กินอยู่แล้ว ตลาดก็หาไม่ยาก อยู่ที่เราจะมีกำลังผลิตได้มากน้อยแค่ไหน ราคาก็สูง คุ้มต่อการลงทุนแน่นอน สามารถรองรับนักเรียน นักศึกษาที่จะมาดูเรียนรู้ รองรับการก้าวสู่แหล่งท่องเที่ยวในอนาคต
และยังสามารถทำควบคู่กันไปได้ระหว่างสาหร่ายทะเล ซึ่งจะต้องศึกษาควบคู่ไปกับความรู้วิชาการด้านคุณค่า ประโยชน์ และการเลี้ยงปลาในกระชัง หากทำได้ ต่อไปการทำแพเพื่อใช้เป็นสถานที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือทำแพลอยน้ำ ซึ่งรองรับการประชุมกลุ่มเล็กๆ พร้อมกับการบริการด้านอาหาร จะครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพราะในปัจจุบันหากมีกลุ่มเรียนรู้เข้ามาศึกษาดูงานก็ต้องจ้างเรือ หลายลำ จ้างชาวบ้านทำกับข้าว หรือไม่ก็หาเข้ามารับประทานเอง ซึ่งไม่สะดวกนัก และยังราคาแพงด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือคนที่จะมาทำงานร่วมกัน ซึ่งอาจจะต้องค่อยๆ ขยับ จากคนที่กลุ่มเล็กๆ ก่อน แล้วกลุ่มสนใจค่อยดึงเข้ามา พร้อมๆ กับเยาวชน แต่หากทำได้ ยั่งยืนแน่นอน
ข้อสังเกต
ทีมวิจัยเดิมไม่ครบทีมเนื่องจากงานส่วนตัว คนใหม่ที่เข้ามา ได้รับการการันตีจากทีมวิจัยว่า ใช้ได้..?
ประเด็นสำหรับบ้านในทอนน่าจะต้องค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากข้อจำกัดตัวบุคคล แต่ก็จับประเด็นได้ดี
ฐานทุนด้านอื่นๆ พร้อมและสมบูรณ์
การวางแผนการทำงาน ต้องไม่ซับซ้อน ร่วมกันคิดตั้งแต่ต้นจนปลายทาง ใช้ภาษาเข้าใจง่าย
การกระตุ้นต้องต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ถึงจะเห็นผลจริง
ข้อดีคือ แม้จะมีงานส่วนตัวแต่ทุกวันศุกร์อิสลามจะหยุดงาน 1 วัน และยังศรัทธาต่อกระบวนการทำงานและคนสกว.