บ้านเจ้าไหม..ชุมชนประมงเล็กๆ ติดชายฝั่งอันดามัน เป็นพื้นที่ที่เคยถูกคลื่นยักษ์สึนามิโถมเข้าใส่ วันนี้คนบ้านเจ้าไหมลุกขึ้นมารวมกลุ่มเพื่อสร้างสิ่งดีๆ ใหม่ เพราะสยามกัมมาจลให้โอกาส
ประชุมพัฒนาโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งพื้นที่ประสบภัยสินามิบ้านเจ้าไหม อ.กันตัง จ.ตรัง ครั้งที่ 1
ณ ห้องประชุมชายหาดเจ้าไหม ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง
วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม 2555
วัตถุประสงค์
เพื่อดูความสนใจในการรวมกลุ่มเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง
เพื่อดูความเป็นไปได้ทั้งเรื่องคนทำงาน ประเด็นที่สนใจ ความเป็นไปได้ของพื้นที่
ผู้ร่วมประชุม
ผู้ใหญ่บ้าน แกนนำชุมชน กลุ่มสตรี คนทำงานในชุมชน สกว. รวม 20 คน
สรุป
บ้านเจ้าไหม เป็นหมู่บ้านประมงเล็กๆ ริมทะเลฝั่งอันดามัน ห่างจากอำเภอเมืองตรังประมาณ 50 กิโลเมตร ลักษะเป็นหย่อมบ้าน ส่วนใหญ่เป็นบ้านชั้นเดียว ไม่ถาวรนัก 95% นับถือศาสนาอิสลาม ผู้ชายออกทะเลหาปลา ส่วนผู้หญิงเป็นแม่บ้าน รายได้ส่วนใหญ่ของครอบครัวจึงมาจากทะเล ก่อนจะถูกคลื่นยักษ์โถมเข้าใส่ชุมชนบ้านเจ้าไหมอยู่อย่างสงบสุข ดำเนินชีวิตเรียบง่าย หาปูหาปลาตามฤดูกาล สีนามิทำให้คนที่เคยออกทะเลหวาดกลัว บางครอบครัวก็ย้ายออกไปอยู่ที่อื่น คนที่อยู่ยังคงใช้ทะเลเป็นแหล่งรายได้แหล่งอาหารเหมือนเดิม เพียงแต่บางอย่างเปลี่ยนแปลงเพราะองค์กรภายนอก หน่วยงานที่เข้าไป มีทั้งสร้างสรรค์และทำลาย กลุ่มผู้หญิง แกนนำ พยายามปรับตัว เรียนรู้ และทำความเข้าใจกับบทบาทใหม่ และการปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และพยายามจัดการกับทรัพยากรที่มีอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
จากการพูดคุย คนในชุมชนแลกเปลี่ยนว่า 2-3 ปี มานี้ พยายามรวมกลุ่มด้านต่างๆ แต่ก็ไปไม่รอด อยู่ไม่ได้นาน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เกิดจากความต้องการของหน่วยงานภายนอก เป็นไปตามกระแส ตามนโยบาย ของแต่ละหน่วยงาน ไม่ได้มีการติดตามต่อเนื่องอย่างจริงจัง คนในชุมชนจึงเริ่มที่จะเบื่อหน่ายการรวมกลุ่มลักษณะนี้ และต้องการทำอะไรที่สามารถช่วยให้ชุมชนยืนหยัด มีรายได้ ช่วยเหลือกันได้ภายในชุมชน
ทุนของชุมชน
- ทุนทางด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม หาดยาวมีความพร้อม มีศักยภาพทั้งด้านสถานที่สำหรับท่องเที่ยว มีทั้งภูเขา ทะเล ปากน้ำ และเป็นหน้าด่านสำหรับการไปท่องเที่ยวทะเล เกาะแก่งต่างๆ เรือจากภูเก็ต ก็มาแวะพักที่นี่เพื่อไปต่อยังลังกาวี นักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้ความสนใจ
- ทุนทางด้านอาชีพ คนในชุมชนประกอบอาชีพเกี่ยวกับการประมง จึงมีทุนหรือภูมิปัญญาด้านการประกอบอาชีพ การประกอบอาหารทะเล การแปรรูป อาชีพอื่นๆ ที่หน่วยงานเข้ามาสนับสนุน แม้ว่ากลุ่มจะยืนหยยัดไม่ได้นาน แต่ชาวบ้านก็ได้ความรู้เรื่องนั้น ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดได้ เช่น การทำผ้าบาติก
- ทุนทางด้านอาหาร เพราะเป็นพื้นที่ที่คนในชุมชนประกอบอาชีพประมง อาหารทะเลจำพวกกุ้ง หอย ปู ปลา จึงสมบูรณ์ สด และไม่มีสารพิษ
- ทุนทางด้านคน กลุ่มผู้หญิง เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ เพราะไม่ได้ออกไปประกอบอาชีพประมง บ้างก็ค้าขายเล็กๆ น้อย อยู่กับบ้าน บ้างก็ทำธุรกิจส่วนตัว การรวมตัวของกลุ่มผู้หญิงจึงน่าสนใจ
- ทุนด้านผู้นำ ผู้นำชุมชนเป็นคนรุ่นใหม่ ต้องการพัฒนาชุมชน และคนในหมู่บ้าน และยังมีแกนนำที่คนให้ความเชื่อถือ ถ้าสามารถร่วมทีมกันได้ น่าจะสร้างพลังขับเคลื่อนได้
- ทุนทางด้านภูมิปัญญาด้านต่างๆ น่าสนใจในการรวบรวมความรู้เพื่อเป็นจุดขาย
ข้อสังเกต
- คนในชุมชนมีความพร้อม แต่ต้องการความมั่นใจ ในการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
- กลุ่มผู้หญิงเป็นกลุ่มที่มีเวลาว่างมากช่วงที่สามีออกทะเล
- การแปรรูปจากปลาที่ไม่ได้ขนาด ที่จะสามารถเป็นของกิน ของฝาก ของที่ดีต่อสุขภาพ
- สภาพชุมชนเป็นหย่อมบ้าน ง่ายต่อการรวมกลุ่มหรือการสื่อสาร