หลังจากเกษตรกรของชุมชนบ้านแหลม-บ้านทุ่ง ของตำบลเกาะสุกรกลับจากศึกษาดูงานเกี่ยวกับเรื่องการจัดการพันธุ์ข้าวเมื่อ 27 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมาแล้ว การศึกษาดูงานไม่ใช่แค่การไปดู แต่ไปแล้วต้องทบทวนว่าได้อะไรมาบ้าง แล้วจะทำอย่างไรต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อสรุปผลการศึกษาดูงาน
2. เพื่อร่วมวางแนวทางการทำงานต่อร่วมกัน
ผู้เข้าร่วมประชุม
- กลุ่มทำนาเกาะสุกร
- ทีมประสานงาน 4 คน
ประเด็นการพูดคุย
เมื่อถามว่าศึกษาดูงานได้อะไร ?/ รู้สึกอย่างไร ?
กว่าแต่ละคนจะตอบก็ใช้การเชิญชวนให้บอกกันอยู่นานพอควร มีคนบอกว่ารู้เรื่องพันธุ์ข้าวที่สามารถนำมาปลูกในพื้นที่เกาะได้ วิทยากรบรรยายฟังเข้าใจง่ายชัดเจน รู้วิธีการกำจัดหอยเชอรี่/หนู เอกสารที่ได้มากลับมาศึกษาก็ได้รู้จักพันธุ์ข้าว เพื่อเลือกพันธ์ข้าวที่เหมาะกับพื้นที่เกาะ แต่พันธุ์ข้าวที่นำเสนอมาส่วนใหญ่เป็นข้าวแข็ง ดูแล้วไม่เหมาะกับพื้นที่เกาะ การต้อนรับดี แนะนำพันธุ์ข้าวได้ดี แต่ต้องพิจารณาว่าพันธุ์อะไรเหมาะสมกับพื้นที่เกาะ การเดินทางล่าช้า ไม่ตรงเวลา วิทยากรที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวไม่เชื่อว่าพื้นที่เกาะจะปลูกข้าวได้ ได้ความรู้ใหม่เรื่องการคัดพันธุ์ข้าว ขั้นตอน/กระบวนการคัดพันธุ์ ในวันนั้นเป็นวันถือศีลอดไม่ทราบจำนวนคนที่บวช/ไม่บวชกี่คน? ( อิสลามถือศีลอด ) วิทยากรที่ศูนย์วิจัยข้าวพูดไม่ค่อยชัด แต่มีความรู้เรื่องข้าวดี และนำเสนอได้ดี วิทยากรไม่รู้จักเกาะสุกร ไม่รู้ว่าที่เกาะปลูกข้าวพันธุ์อะไร ? จึงนำเสนอพันธุ์ข้าวของ จังหวัดพัทลุงเป็นหลัก การกำจัดหอยเชอรี่ต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย กลุ่ม ชุมชน อบต. หน่วยงานเกี่ยวข้อง ศูนย์เมล็ดพันธุ์พร้อมสนับสนุนชุมชนผ่านการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ในชุมชน เสียดาย ไม่ได้เห็นแปลงนาข้าว นี่เป็นคำตอบจากกลุ่มชาวนา แต่ทุกคนสะท้อนว่าดีมากที่ได้ไปในครั้งนี้
วางแผนการทำงานต่อ
เนื่องด้วยนายก อบต. ไปดูงานด้วย เมื่อได้เห็นกระบวนการคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวจึงรับปากว่าจะหาเมล็ดพันธุ์ข้าวใหม่เพื่อนำมาใช้เป็นพันธุ์ตั้งต้นในการเก็บรักษาพันธุ์อย่างถูกวิธีในปีนี้ ดังนั้นชุมชนต้องสำรวจว่าต้องใช้พันธุ์ข้าวอะไร จำนวนเท่าไหร่ นอกจากนั้นก็เก็บข้อมูล จำนวนคนทำนา/จำนวนไร่ (พื้นที่) วิธีการจัดการพันธุ์? วิธีการจัดการศัตรูข้าว? มีการใช้วิธีการอะไรบ้าง เช่น วิธีการจัดการหอยเชอรี่ ที่ผ่านมาใช้การใส่แกลบ สารเคมี เก็บ เลี้ยงเป็ด ปล่อยน้ำเค็มเข้าที่นา แนวทางการจัดการกลุ่ม? ทุกกระบวนการกลุ่มทำนาต้องมีการจดบันทึก เพื่อนำข้อมูลจากการบันทึกของแต่ละคนมาศึกษาเรียนรู้ร่วมกันต่อไป และในวันที่ 22 สิงหาคม 2555 นัดหมายกลุ่มทำนาเก็บหอยเชอรี่ เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป และหลังจากนั้นก็จะทำน้ำหมักชีวภาพจากหอยเชอรี่ โดยเชิญเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดตรังมาให้ความรู้ : เตรียมอุปกรณ์ ( ถัง , หัวเชื้อ )
เมื่อได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันแล้วทุกคนที่มาก็แยกย้ายกันกลับ ส่วนแกนหลักของทั้งสองชุมชนมานั่งวางแผนการทำงานกันต่อ
ได้หน่วยงานความร่วมมือเพิ่มขึ้น ทั้ง ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าว และ อบต.เกาะสุกร