"กิจกรรมอนุรักษ์และสืบสานหัตถกรรมพื้นบ้านเสื่อจันทบูร" เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีการศึกษา 2536 เพราะผู้บริหาร ครู และนักเรียนโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์เล็งเห็นว่าการทอเสื่อเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านของจังหวัดจันทบุรี เป็นอาชีพดั้งเดิมของชุมชนจันทนิมิตที่โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ตั้งอยู่ และเคยเป็นงานยังชีพของภคินีคณะรักกางเขนผู้เป็นเจ้าของโรงเรียน เมื่อกาลเวลาและสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป อาชีพทอเสื่อนับวันจะสูญหายไปจากชุมชน จึงได้ร่วมใจอนุรักษ์ และสืบสานหัตถกรรมพื้นบ้าน "เสื่อจันทบูร" เพื่อดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชุมชน พร้อมทั้งสร้างสรรค์ลวดลายใหม่จากการทอเสื่อให้สวยงามแปลกใหม่ มีการบูรณาการกับสาระการเรียนรู้ของนักเรียน และมีการพัฒนาผลงานบนพื้นฐานของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
วัตถุประสงค์
1. เพื่ออนุรักษ์งานหัตถกรรมพื้นบ้านเสื่อจันทบูร ซึ่งเป็นงานท้องถิ่นของจังหวัดจันทบุรี และเป็น งานดั้งเดิมของคณะรักกางเขน แห่ง จันทบุรี
2. เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
3. เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน
4. เพื่อสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น
5. เพื่อให้นักเรียนเกิดความภาคภูมิใจและมั่นใจในการพัฒนาสร้างสรรค์
สิ่งใหม่ๆ
6. เพื่อให้นักเรียนรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
ขั้นตอนการดำเนินโครงการ
1. เชิญชวนนักเรียนที่สนใจ สมัครใจที่จะร่วมอนุรักษ์หัตถกรรมพื้นบ้านเสื่อจันทบูรให้รวมกลุ่มกัน
ทำกิจกรรมในรูปของชุมนุม
2. สมาชิกชุมนุมทอเสื่อร่วมกับครูที่ปรึกษา ประชุมวางแผนร่วมกัน
3. ปฏิบัติกิจกรรมทอเสื่อตามแผนที่วางไว้
ระยะเวลาดำเนินโครงการ นักเรียนแต่ละรุ่นจะปฏิบัติงานวาระละ 1 ปีการศึกษา
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรม
- ครูได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์งานท้องถิ่น ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น นักเรียนได้เป็นผู้อนุรักษ์และสืบสานงานท้องถิ่น ได้เรียนรู้และเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตมากขึ้น ได้พัฒนาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ บนพื้นฐานของงานท้องถิ่น ได้รู้จักประยุกต์วิชาความรู้ที่เรียนไปใช้ในชีวิตจริง และได้รับรายได้พิเศษในระหว่างเรียน
- ผู้ปกครอง ชุมชนได้เห็นคุณค่าของงานท้องถิ่น ผู้ใหญ่เห็นความสำคัญและคุณค่าของเยาวชน
เงื่อนไขความสำเร็จ
โรงเรียนได้น้อมรับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะร่วมกันปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้ดำรงชีวิตจากวิถีชีวิตแบบสังคมไทยด้วยการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น การเห็นคุณค่าของทรัพยากร รู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ฝึกการอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกันอย่างพากเพียรอดทน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปันมีจิตสำนึก รักษ์สิ่งแวดล้อม รู้จักพึ่งตนเองเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมท้องถิ่น รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนหารายได้ระหว่างเรียน
กิจกรรมเด่นอื่นๆ
1. กิจกรรมธรรมชาติกับความพอเพียง
เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนมีความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของพืชสมุนไพรในท้องถิ่น เกิดความสามัคคี เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน ประหยัด รู้คุณค่าของทรัพยากรของท้องถิ่นรวมทั้งให้นักเรียนนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และขยายผลสู่ชุมชน ท้ายที่สุดนักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และและฝึกทำอาชีพเพื่อหารายได้
ระหว่างเรียน
2. กิจกรรมอัจฉริยะข้ามวันร่วมกันเรียนรู้สู่ความพอเพียง
เพื่อให้ลูกเสือ-เนตรนารีได้เข้าศึกษาและปฏิบัติกิจกรรมตามฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ มีโอกาสนำ ความรู้ที่ได้จากการศึกษาและปฏิบัติกิจกรรมตามฐานต่าง ๆ นำไปปฏิบัติเป็นวิถีชีวิตของตนเองพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้คนอื่นได้ รวมถึงได้นำแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ในการดำเนินชีวิตของตนเองอย่างยั่งยืน