จัดทำโดย
วลีรัตน์ มิ่งศูนย์
ผลงาน
สบู่มะละกอ
รางวัลชนะเลิศอันดับ 3 จาก 16 โรงเรียนทั่วประเทศ
โครงงานวิทยาศาสตร์เข้าแข่งขันงานจุฬาวิชาการ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ช่วงที่กำลังเรียนอยู่ ม. 4 วลีรัตน์ส่งผลงานสบู่มะละกอ โครงงานวิทยาศาสตร์เข้าแข่งขันงานจุฬาวิชาการ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนได้รางวัลชนะเลิศอันดับ 3 จาก 16 โรงเรียนทั่วประเทศที่เข้าประกวด สร้างความภาคภูมิใจให้กับตนเอง เพื่อนในทีม ครูอาจารย์ และผู้ปกครองเป็นอย่างมาก ความสำเร็จที่ได้มา และกล้าพูดได้เต็มปากว่า เธอได้รางวัลที่ 3 มาจากหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพราะยึดเป็นแนวทางและกำหนดทิศทางในการเรียนและการทำโครงงาน ถ้าถามคำถามเดิมๆว่า โครงงานวิทยาศาสตร์สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร วลีรัตน์กล่าวว่าสิ่งที่ทำอยู่สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงทุกอย่าง เพราะเรารู้ว่าเราทำเพราะอะไร แรงจูงใจที่ทำให้เธอเลือกทำโครงงานผลิตสบู่มะละกอ “เหตุผลหลัก” เพราะรู้สึกประทับใจในคุณค่าของสมุนไพร ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่คนไทยในปัจจุบันไม่เห็นคุณค่าและประโยชน์ของสมุนไพรไทย แต่หันไปให้ความนิยมกับการใช้สารเคมีแทน ประการต่อมาคือ การใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น สามารถประหยัดเงินทุน ไม่ต้องเสียค่าสารเคมีที่มีราคาสูง เธอจึงรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ สอบถามว่าบ้านใครมีอะไรบ้าง เพื่อนก็บอกว่าที่บ้านมีมะละกอ เงาะ มังคุด ที่สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ต้องซื้อหา เวลาเราทำงานก็ไม่ต้องใช้เงินมากซึ่งตรงกับ “หลักพอประมาณ” นี่คือเหตุผลที่เลือกมะละกอเป็นวัตถุดิบหลัก อีกทั้งเรามี “ความรู้” เดิมจากฐานสมุนไพรอยู่แล้วว่า สมุนไพรตัวไหนมีประโยชน์อย่างไร ความรู้บางอย่างก็หาเพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ต
ในการค้นคว้าได้ใช้ความรู้ประกอบ เพื่อตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผล เช่น การหาข้อมูลทำให้ค้นพบว่า มะละกอมีประโยชน์กับร่างกาย เพราะยางในเนื้อมะละกอมีสารเคมีชื่อ "ปาเปอีน"ที่มีประโยชน์ในการย่อยสลายโปรตีนในร่างกายบางชนิด และสารปาเปอีนยังสามารถนำไปหมักเนื้อได้ด้วย ซึ่งหากนำมาใช้กับร่างกายคน ปาเปอีนที่อยู่ในเนื้อมะละกอจะช่วยในการขจัดเซลล์ผิว ผลการทดลองมะละกอ 3 สายพันธุ์ คือ โคโค่ แขกดำ และพันธุ์พื้นเมือง ทำให้ทราบว่าพันธุ์แขกดำดีที่สุด มีค่า Phที่เหมาะสมสำหรับทำสบู่ ส่วนอีก 2 สายพันธุ์ มีฤทธิ์เป็นกรดหรือเบสไม่เหมาะกับการนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผิว หลังผลิตได้สบู่มะละกอแล้วต้องมีการสุ่มทดลองใช้ที่มือเพื่อให้ทราบว่า ผู้ใช้เกิดอาการแพ้หรือไม่เพื่อเป็น “ภูมิคุ้มกัน” ในเรื่องการเก็บข้อมูลการผลิตที่สามารถลดความผิดพลาดลงได้
นอกจากนี้ในการวางแผนเธอยังได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามากำหนดเป็นแผนการทำงานและการเรียนได้อย่างลงตัว เริ่มที่ “ความพอประมาณ” คิดวางแผนแบ่งเวลาว่า หลังเลิกเรียนในแต่ละวันต้องทำการบ้านให้เสร็จก่อนจึงจะใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ด้วยการสังเกตสิ่งที่กำลังทดลอง ซึ่งการสังเกตถือเป็น “ภูมิคุ้มกัน” ในการทำงาน ตามด้วยการยึด “เงื่อนไขคุณธรรม” เป็นการสร้างความอดทน มีการวางแผนการทำงานล่วงหน้า ความซื่อสัตย์สุจริต ความมีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมงาน ในข้อนี้คิดว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมีเพราะอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว แต่มักจะไม่ได้นำมาใช้ ส่วน “มิติสิ่งแวดล้อม”นำมาใช้ในเรื่องการเลือกใช้มะละกอปลอดสารพิษที่มีอยู่ในโรงเรียนมาใช้ สำหรับ “มิติสังคมและมิติเศรษฐกิจ” นั้น เธอเชื่อว่าในอนาคตโครงงานวิทยาศาสตร์อาจสร้างรายได้ให้ชุมชนก็ได้