โครงการเสริมสร้างชุมชนบริหารจัดการตัวเองในพื้นที่ประสบพิบัติภัยสึนามิ
โครงการเสริมสร้างชุมชนบริหารจัดการตัวเองในพื้นที่ประสบพิบัติภัยสึนามิ
กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
เวทีสัญจร 1
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

        ออกแบบกระบวนการในพื้นที่จริงร่วมกัน ฝึกการวิเคราะห์ชุมชนอย่างมีส่วนร่วม และ นำเสนอความเคลื่อนไหวการทำงานในระดับจังหวัด..

­

เวทีสัญจรครั้งที่ 1

วันที่ 10-12 กรกฎาคม 2555

ณ จังหวัดระนอง

 

ผู้ร่วมประชุม

  ทีมมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น ทีมพี่เลี้ยงจังหวัด และทีมชุมชน รวม 24 คน

 

วัตถุประสงค์

- เรียนรู้การออกแบบกระบวนการและวิเคราะห์ชุมชนร่วมกันจากการลงพื้นที่จริง

- แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเครื่องมือการวิเคราะห์ชุมชนแบบมีส่วนร่วม

 

พื้นที่การเรียนรู้

- หมู่บ้านบางกล้วยนอก ต.นาคา อ.สุขสำราญ จ.ระนอง

- หมู่บ้านกำพวน ต. กำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง

 

­

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

สืบเนื่องจากการประชุมทำความเข้าใจโครงการ “สร้างชุมชนบริหารจัดการตัวเองในพื้นที่ประสบภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ” ในวันที่ 12-13 มิถุนายน 2555 ณ ร้านมิตรสัมพันธ์ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นการประชุมของทีมทำงานภายใต้โครงการดังกล่าวร่วมกันเป็นครั้งแรกได้ มีข้อสรุปให้มีการจัด “เวทีสัญจรครั้งที่ 1” ขึ้นในวันที่ 10-12 กรกฎาคม 2555 เพื่อเรียนรู้การออกแบบกระบวนการ และฝึกฝนทักษะการวิเคราะห์ชุมชนอย่างมีส่วนร่วมจากการลงพื้นที่จริง โดยกำหนดให้จังหวัดระนองเป็นพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันจึงได้เกิดเวทีใน ครั้งนี้ขึ้น โดยได้มีการนัดหมายให้ทุกคนเดินทางมาพักค้างคืนที่ สถานีวิจัยชายฝั่งทะเลอันดามัน (หาดประพาส) เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนถึงวันประชุมจริง โดยในครั้งนี้มีทีมพี่เลี้ยงงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจากจังหวัดพังงาเข้าร่วมเรียนรู้ด้วย..

   ดังนั้น วันที่ 9 ก.ค. 2555 หลังรับประทานอาหารเย็นแล้ว ในช่วงค่ำ คุณชีวัน ขันธรรม ผู้จัดการมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่นได้เชิญทุกคนประชุมเพื่อเตรียม ความพร้อมโดยได้มีการชี้แจงกำหนดการและทบทวนเป้าหมายในการจัดเวทีครั้งนี้ ว่า เป็นการช่วยทีมระนองวิเคราะห์ชุมชน และสร้างการเรียนรู้ให้กับทีมพื้นที่ร่วมกันซึ่งการออกแบบการเรียนรู้ใน ครั้งนี้คาดหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทั้ง 3 จังหวัด นอกจากนี้ยังได้เชิญ คุณพรทวี ยอดมงคล ผู้มีประสบการณ์ในการจัดอบรมหลักสูตรเทคนิคการวิเคราะห์ชุมชนแบบมีส่วนร่วม ของมูลนิธิฯ มาแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเครื่องมือการวิเคราะห์ชุมชนแบบมีส่วนร่วมให้กับทีม พื้นที่ในครั้งนี้ด้วย จากนั้นได้มีการตรวจสอบความพร้อมของทีมระนองในเรื่องการเตรียมกับตัวแทน ชุมชนที่จะมานำเสนอ พบว่า ได้มีการเตรียมการทั้งในส่วนเนื้อหาและตัวแทนชุมชนที่จะมานำเสนอไว้แล้ว ซึ่งจะมีตัวแทนชุมชนมาจาก 3 พื้นที่ คือ บ้านทะเลนอก บ้านบางกล้วยนอก และบ้านกำพวน แต่ในการลงพื้นที่จะลงเพียง 2 ชุมชน คือ บ้านทะเลนอก และบ้านกำพวน ส่วนบ้านบางกล้วยนอกจะเข้ามาเรียนรู้ด้วย..


ใน วันที่ 10 ก.ค. 2555 หลังการกล่าวต้อนรับ แนะนำตัว และชี้แจงความเป็นมาของการจัดเวทีแล้ว ได้มีการนำเสนอข้อมูลชุมชนที่จะลงพื้นที่ พร้อมซักถามแลกเปลี่ยน โดยอาสาสมัครพื้นที่ระนองและตัวแทนชุมชน ทั้งในเรื่องบริบททั่วไป กิจกรรมที่ชุมชนทำอยู่ ตลอดจนสภาพปัญหา และความต้องการในการพัฒนาชุมชน พบว่า ชุมชนบ้านทะเลนอกให้ความสนใจกับประเด็นการท่องเที่ยวโดยภายในชุมชนเองมี “กลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” ที่เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ แต่ในช่วงเกิดเหตุการณ์สึนามิ แกนนำหลายคนได้เสียชีวิตไป หลังจากนั้น เมื่อมีหน่วยงานข้างนอกมาสนับสนุนจึงได้เกิดการรวมกลุ่มขึ้นมาใหม่ซึ่งใน ปัจจุบันยังมีจุดอ่อนในเรื่องของภาษา และการพึ่งพาบริษัทจากข้างนอกพอสมควร ในขณะที่ บ้านกำพวน มีกลุ่มสตรีสัมพันธ์ที่รวมตัวกันทำงานพัฒนาชุมชนโดยประเด็นที่ให้ความสนใจตอนนี้คือ “กองทุนวันละหนึ่งบาท” ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเด็กกำพร้า โดยใช้หลักการทางศาสนาอิสลามเข้ามาช่วยโดยเฉพาะเรื่องของ “การเป็นผู้ให้ และรับอย่างสมศักดิ์ศรี” ปัจจุบัน ทางกลุ่มมีความต้องการในการยกระดับการพัฒนากองทุนในเรื่องฐานข้อมูลที่เป็น ระบบ และการอบรมพัฒนาจิตใจของสมาชิกกลุ่มที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อสานต่อการพัฒนาด้าน จิตใจในการเป็น “ผู้ให้” และสร้างทีมทำงานรุ่นใหม่ขึ้นมาช่วยสืบต่อในอนาคต...

­

สำหรับบ้านบางกล้วยนอก มีความสนใจประเด็นงานเรื่องทรัพยากร ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้เกิดงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น 2 โครงการที่เชื่อมโยงกัน โดยโครงการแรกเป็นการหมักน้ำปลาใช้เองซึ่งเชื่อมโยงไปสู่โครงการที่ 2 คือ ทรัพยากรสามวงล้อ กล่าวคือ จุดเริ่มต้นในการทำเรื่องทรัพยากรมาจากการหมักน้ำปลาซึ่งต้องใช้น้ำในการทำ จึงเชื่อมโยงไปสู่ฐานทรัพยากรที่ต่อเนื่องทั้ง ป่าชายเลน-การทำการเกษตร และป่าชุมชน และได้เชื่อมโยงคนทั้ง 3 กลุ่มที่เกี่ยวข้องได้แก่ คนต้นน้ำ-กลางน้ำ และ ปลายน้ำมา ร่วมกิจกรรมเพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงในเรื่องทรัพยากรอันจะนำไปสู่การร่วม กันดูแลรักษา และใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ ไม่ต่างคนต่างใช้เหมือนที่ผ่านมา กล่าวคือ เป็นการสร้างความตระหนักให้คนแต่ละกลุ่มคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่า ประโยชน์ส่วนตัว แต่ปัจจุบันพบว่า ชุมชนไม่ได้มีการหมักน้ำปลาแล้วจึงทำให้ขาดมิติในการอธิบายความเชื่อมโยงดัง กล่าว ดังนั้น จึงเป็นโจทย์ที่ชุมชนต้องไปสืบค้นต่อ..

   หลังการนำเสนอเรื่องราวของชุมชนข้างต้นแล้ว คุณชีวัน ได้เสนอให้ตัวแทนชุมชนเล่าถึงเบื้องหลังชีวิตของตนเองที่ทำให้สนใจเข้ามาทำ งานพัฒนาชุมชน พบว่ามีหลายเหตุผลที่ทำให้แกนนำเหล่านี้ลุกขึ้นมาทำงานให้สังคม เช่น บางคนก็เข้ามาเพราะสภาพปัญหาที่เกิดกับตัวเอง หรือ คนในชุมชนแล้วมีการรวมกลุ่มกันเพื่อแก้ปัญหาจนทำให้ได้ก้าวเข้ามาสู่แวดวง การทำงานพัฒนา และมีบางคนที่เห็นตัวอย่างการทำงานของรุ่นพี่แล้วเกิดความเลื่อมใส หรือ อุดมการณ์ที่อยากทำตาม ในขณะที่บางคนมีโอกาสเข้ามาเรียนรู้แล้วเสมือนการเปิดมิติมุมมองใหม่ ได้พบโลกกว้าง หรือ เห็นสภาพปัญหา ความทุกข์ยากของคนในชุมชนจึงทำให้อยากเข้ามาช่วยเหลือ นอกจากนี้พบว่า เหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิที่เกิดขึ้นกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตที่ทำ ให้คนในชุมชนบางกลุ่มได้คิดและตระหนักถึงความสำคัญของการช่วยเหลือซึ่งกัน และกัน โดยเฉพาะในฐานะของคนที่เคยเป็น “ผู้รับ” ได้กลับกลายมาเป็น “ผู้ให้” ต่อแก่สังคมมากมาย..สึนามิจึงไม่ได้มาพร้อมกับหายนะเท่านั้น แต่ยังได้นำความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะการพัฒนาจิตใจเข้ามาให้คนในชุมชนหลายคนในปัจจุบัน..

   เมื่อทีมชุมชนเดินทางกลับแล้ว ทีมพี่เลี้ยงระนองได้ให้ข้อมูลพื้นที่บางส่วนเพิ่มเติม โดยก่อนที่จะมีการออกแบบการลงพื้นที่ร่วมกันนั้น คุณพรทวี ยอดมงคล ได้นำเสนอเครื่องมือการวิเคราะห์ชุมชนอย่างมีส่วนร่วม ประกอบด้วย แผนที่รอบนอก แผนที่รอบใน ปฏิทินชุมชน ปฏิทินฤดูกาล ไทม์ไลน์ (เครื่องมือสืบค้นประวัติศาสตร์ชุมชน) โอ่งชีวิต การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนทำเนียบผู้รู้ เป็นต้น ทั้งนี้พี่เลี้ยงบางคนก็เคยนำเครื่องมือบางอย่างไปใช้แล้ว ในขณะที่บางคนบอกว่าเคยใช้แบบรวมๆ ไม่ได้ลงรายละเอียดลึกมากนัก ซึ่งในตอนท้ายได้มีการสรุปกันถึงเป้าหมายของการใช้เครื่องมือวิเคราะห์ชุมชน ว่า มี 2 อย่าง คือ ใช้เพื่อให้ได้ข้อมูลชุมชนโดยพี่เลี้ยงลงไปทำเอง และ ใช้เพื่อดึงการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยให้คนในชุมชนเป็นผู้ทำ ดังนั้น จึงอยู่ที่ว่าเป้าหมายในการลงพื้นที่ของแต่ละคนอยากได้ “ข้อมูล” (เนื้อหา) หรือ “การมีส่วนร่วม” (กระบวนการ) โดยในการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นมักจะเน้นอย่างหลัง คือ “ดึงการมีส่วนร่วม” มากกว่า ดังนั้น จึงไม่ควรติดอยู่กับเครื่องมือแต่ให้ใช้เป็นตัวอำนวยความสะดวกเท่านั้น..

   จากนั้นได้มีการแบ่งทีมทำงานออกเป็น 2 กลุ่มเพื่อวางแผนการลงพื้นที่ บ้านทะเลนอก และบ้านกำพวน ก่อนแยกกันไปจัดกระบวนการจริงในพื้นที่ วันที่ 11 ก.ค. 2555 ช่วงเช้า ซึ่งได้มีการนัดหมายเพื่อสรุปการลงพื้นที่ร่วมกันทั้ง 2 ทีมในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ณ ห้องประชุมบ่อน้ำร้อนพรรั้ง อ.เมือง จ.ระนอง 

   หลังจากมีการสรุปการลงพื้นที่ทั้ง 2 หมู่บ้านร่วมกันแล้ว จึงได้มีการสะท้อนบทเรียนการเรียนรู้ร่วมกันจากการลงพื้นที่ครั้งนี้ พบว่า สิ่งที่ทีมพื้นที่ได้เรียนรู้ คือ เป้าหมายทิศทางการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้น ตลอดจนจุดที่ตนเองต้องปรับปรุง เช่น เรื่องการตั้งคำถาม (บางครั้งก็ต้องการพี่ๆ ที่มีประสบการณ์มาช่วยตั้งคำถามเชิงลึกในเวที) โดยได้มีการฝึกตั้งคำถามจากการทำงานเป็นทีมทำให้ได้เรียนรู้จากกันและกัน และยังทำให้รู้จักบ้านตัวเองมากขึ้น (ทีมที่เป็นคนในพื้นที่) ทั้งนี้ได้มีการสะท้อนความรู้สึกในการทำงานของ คุณรอวีย๊ะ ทีมระนองซึ่งเป็นน้องใหม่ที่เพิ่งเข้ามาเรียนรู้ในครั้งนี้แต่ได้รับบทบาท ให้เป็นคนนำกระบวนการหลัก เปิดเผยว่า ในตอนแรกรู้สึกหนักใจและกดดันมาก แต่ก็ผ่อนคลายลงหลังจากได้รับกำลังใจจากเพื่อนร่วมงาน และเมื่อได้เห็นวิธีการทำงานของรุ่นพี่ก็ทำให้รู้สึกอยากพัฒนาตัวเองมากขึ้น

   ข้อเสนอแนะต่อการจัดกระบวนการ คือ การหนุนเสริมของทีมงานโดยการช่วยตั้งคำถามที่อยู่ในประเด็นที่มีการพูดคุย กันอยู่ ทั้งนี้ต้องพิจารณาบรรยากาศการพูดคุยของกลุ่มเป้าหมายด้วย เช่น ถ้าคนผูกขาดการตอบ อาจต้องตั้งคำถามที่เปิดโอกาสให้คนอื่นๆ ตอบ นอกจากนี้ควรมีการวางประเด็นในการชวนคุยไว้ก่อน เช่น “กว้าง แล้วลงลึก และขมวดในประเด็นหลักในช่วงสุดท้าย” ภาย ใต้การบริหารเวลาที่มีอยู่ ทั้งนี้การทำงานในพื้นที่นั้นการระมัดระวังเรื่องการเมืองเป็นเรื่องดีแต่ สิ่งที่ควรทำมากกว่าการหนีออกจากประเด็นการเมือง คือ พยายามหารอยต่อระหว่างกลุ่มเพื่อช่วยสร้างการความเข้าใจเรื่องการเมือง – อำนาจ – ความรู้ (ควรสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านความรู้)

   วิธีการคลี่คลายความรู้สึก: เมื่อเกิดแรงกดดันในการทำงาน พบว่า มุมมองของรุ่นน้องจะพยายามทำความเข้าใจว่าต้องสะสมประสบการณ์ ชั่วโมงบิน และความมั่นใจให้มากขึ้น ในขณะที่มุมมองจากรุ่นพี่ จะ ใช้วิธีการถอดบทเรียนการทำงานเพื่อสร้างกำลังใจ และวางแนวทางการทำงานต่อ และพยายามใช้เครื่องมือเข้ามาช่วย เช่น การวิเคราะห์ผู้เกี่ยวข้องที่สามารถให้ข้อมูลเพื่อเติมเต็มได้ หรือ มีการวางแผนการทำงานบนข้อมูลที่มีอยู่ (กลุ่มเป้าหมาย, โจทย์ ประเด็น, บทบาท, สถานที่, การจัดที่นั่ง, การจัดการเวลา ฯลฯ) ตลอดจนควรแบ่งบทบาท หรือสลับหน้าที่หมุนเวียนการทำงานในบทบาทที่หลากหลายเพื่อฝึกการ “นำคุย- จับประเด็น- บันทึก”

   ข้อเสนอความต้องการการหนุนเสริมทีมพื้นที่: การหนุนเสริมเรื่องการเป็นกระบวนกร (หลักการ, ระบบ, วิธีการ) “พาทำ – พาถอด - ปล่อยทำเอง” (ถอดเนื้อหา-กระบวนวิธีในการทำ ผลที่ได้- ได้ความรู้อะไรในการถอดบทเรียน)

   ประเมินผลการลงพื้นที่: ทีมระนองประเมินว่าเวทีครั้งนี้ ช่วยให้ทีมได้รับรู้ข้อมูลชุมชนที่ลึกมากขึ้นซึ่งทำให้เห็นประเด็นการ เคลื่อนงานต่อในอนาคต นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้ร่วมกันกับทีมต่างพื้นที่ในเรื่องฐานคิดการทำงานของ ชุมชนที่เป็นพื้นที่งานของทีมระนอง ซึ่งผลจากกระบวนการทำงานด้านในของชุมชนทำให้มั่นใจในทีมชุมชนมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ได้เห็นจุดอ่อนของตนเองในการลงไปทำกระบวนการครั้งนี้ทำให้ เห็นความสำคัญของกระบวนการทำงานมากขึ้นในหลายๆ เรื่อง เช่น การตั้งคำถาม และความเข้าใจวิธีการใช้เครื่องมือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้ ดังนั้น สิ่งที่จะนำไปปรับใช้ในการทำงานต่อไป คือ การออกแบบวิธีการทำงานให้มีความหลากหลายมากกว่าที่ผ่านมาซึ่งมักจะใช้วิธีลง ไปชวนคุยเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้คิดว่าจะต้องกลับไปวางระบบการทำงานร่วมกันในทีม ส่วนการเคลื่อนงานในชุมชนมองว่าจะจัดทำข้อมูลพื้นฐานร่วมกับชุมชน (ข้อมูลจะมีคุณค่าเมื่อต้องใช้ประโยชน์, คนรู้ข้อมูลเป็นใคร? จะเข้าหาได้อย่างไร? ทักษะของคนนำเสนอ) ซึ่ง คุณสมพงษ์ ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการวางระบบงาน ตามแนวทางการทำงานของพื้นที่สตูลว่า ควรมอบหมายหน้าที่ให้ทีมงานการบริหารหน้างานของตนเอง แต่ในการทำงานยังทำงานร่วมกันเป็นทีม กล่าวคือ มีเจ้าภาพเป็นผู้จัดการในประเด็นต่างๆ..

   หลังจากสรุปบทเรียนการลงพื้นที่แล้วได้มีการเล่าความคืบหน้าการทำงานในพื้นที่จังหวัดสตูล และจังหวัดตรัง (จากกำหนดการเดิม 12 ก.ค. ช่วงเช้า ปรับมาเป็น 11 ก.ค. ช่วงค่ำ) และในช่วงท้ายทีมพี่เลี้ยงหลายคนได้สะท้อนการทำงานภายใต้โครงการ “สร้างชุมชนบริหารจัดการตัวเองในพื้นที่ประสบภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ” ว่าเป็นโครงการที่เข้ามาช่วยเติมเต็ม และสร้างพลังการทำงานแก่คนทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นได้มาก ทั้งนี้ ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญหลง ได้ ให้ข้อคิดว่า งานนี้ถือเป็นงานใหม่จึงขอให้ใช้เป็นโอกาสในการร่วมกันคิดรูปแบบการทำงาน หรือ วิธีการใหม่ๆ ดังนั้น ขอให้ใช้โอกาสในการเรียนรู้กับงานนี้ให้มาก ด้วยการทำไปคิดไป เป็นโจทย์กว้างๆ ซึ่งทุกคนก็ยังถือเป็นคนทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นอยู่เพียงแต่ ไม่ต้องติดกับระบบการทำงานแบบเดิมเท่านั้น..

   ก่อนปิดเวทีสัญจรครั้งที่ 1 ได้มีการหารือเรื่องการพัฒนาศักยภาพทีมทำงาน มีข้อสรุปว่า คุณมานพ จะช่วยประสานเรื่องการอบรม “ system thinking” ไปทาง สกว. ให้ ส่วนในเรื่อง “กระบวนกร” จะใช้วิธีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติจริงในเวทีสัญจรแต่ละ ครั้ง ซึ่งจะมีการนำหลักคิดเข้ามาเสริมในระหว่างการปฏิบัติจริงด้วย กล่าวคือ เป็นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติและจะมีการถอดบทเรียนหลังปฏิบัติ ทั้งนี้ได้มีการนัดหมายเวทีสัญจรครั้งต่อไป (ครั้งที่ 2) ในวันที่ 5-7 กันยายน 2555 ที่จังหวัดสตูล โดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกการเป็นกระบวนกรและพิจารณากรอบการเขียนรายงาน...

­

"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ