การเคลื่อนงานของโครงการวิจัยในพื้นที่จังหวัดสตูล ตรัง และระนอง ได้เดินทางมาถึงครึ่งทางของการทำงาน ระยะที่ 2 ทีมสนับสนุนฯ จึงจัดเวทีสรุปงานครึ่งทางขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ 2 เรื่องสำคัญ คือ 1) ชวนตั้งหลักทบทวนสิ่งที่ทำมา และ 2) มองแนวทางการเดินงานต่อเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของงานระยะที่ 2 และแนวทางที่จะทำให้งานจบแต่โครงการไม่จบ โดยคาดหวังว่าจะต้องมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ในงาน 2 วันนี้ก็จะมีการตั้งคำถามชวนกันคิด ดังนี้
1) เราจะไปไหนกัน
2) เรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร ด้วยวิธีการอะไร
3) เกิดอะไรขึ้นมาบ้างในระหว่างทาง
4) เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง
5) การเดินทางต่อของเราจากนี้ควรเป็นอย่างไร
กระบวนการสองวัน แบ่งเป็น 4 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1ทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมา ช่วงที่ 2 การสร้างบทเรียนร่วมกัน ช่วงที่ 3 เติมมุมมองชุมชนบริหารจัดการตนเอง และช่วงที่ 4 ภาพฝันชุมชนที่อยากเห็น
ทีมวิจัยจาก 3 จังหวัด จำนวน 9 โครงการ + 1 ชุมชนที่เข้ามาร่วมใหม่อย่างชุมชนมดตะนอย จ.ตรัง ได้ทบทวนสรุปสิ่งที่ได้ทำมาผ่านกระบวนการเรียนรู้ใน 2 ลักษณะ คือ การทบทวนภายในทีมพื้นที่ของตนเอง และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพื้นที่อื่น
การ Check in วันแรก ให้แต่ละชุมชนได้หันกลับไปมองชุมชนว ภายใต้โจทย์ “สถานการณ์ของชุมชนบ้านเราเป็นอย่างไร หรือ เราทำอะไรร่วมกันมาบ้างในชุมชน หรือ ชุมชนมีความสุข/ทุกข์อย่างไรบ้าง” ซึ่งทุกพื้นที่มองเห็นสถานการณ์ปัญหา และต้นทุนที่มีอยู่ทั้งในเรื่องของกลุ่มคน วิถีชีวิต และทรัพยากร
ช่วงที่ 1 การทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมา ทุกโครงการได้ทบทวนว่า 1)ทำอะไรมาบ้าง 2)เกิดอะไรขึ้นบ้าง (การพัฒนาคน / การคลี่คลายปัญหา / ฯลฯ) และ3)หน้าตาและบทบาทของ “กลไก” เป็นอย่างไร มีใครบ้าง มีวิธีการทำงานอย่างไร ซึ่งมีการนำเสนอแบบ world cafe โดยมีการให้ข้อเสนอแนะต่อโครงการที่ได้แลกเปลี่ยนกัน จากการนำเสนอข้อมูลของทุกโครงการ พบว่าผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ชุมชนเปลี่ยนสถานะจาก “ผู้ถูกจัดการ” มาเป็น “ผู้จัดการตนเอง”(เราสามารถจัดการตนเองได้กี่เรื่อง จัดการอย่างไรบ้าง) และเปลี่ยนจาก “คิดเอง ทำเอง” มาเป็น “คิดหลายเรื่อง ทำหลายคน”
ช่วงที่ 2 การสร้างบทเรียนร่วมกัน เป็นการเรียนรู้คละพื้นที่ ภายใต้โจทย์ สิ่งที่ทำได้ดี และสิ่งที่ต้องปรับปรุง แล้วแลกเปลี่ยนให้เพื่อนในกลุ่มใหญ่ได้ฟัง 1 เรื่องถึงประเด็นที่เลือก เหตุผล และจะมีวิธีการอย่างไร ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ "คน" และ "กระบวนการมีส่วนร่วม" ซึ่งมีทั้งที่ทำได้ดีแล้วและยังต้องปรับปรุงต่อไป
ช่วงที่ 3 เติมมุมมองการบริหารจัดการตนเอง โดย รศ.ปาริชาติ วลัยเสถียร ได้ให้มุมมองต่อการสร้างชุมชนบริหารจัดการตนเอง ไว้ว่า ตัวชี้วัดของการสร้างชุมชนบริหารจัดการตนเอง คือ คนเก่งขึ้น ปัญหาคลี่คลายและมีกลไกชุมชนที่สามารถบริหารจัดการตนเองได้ โดยประเด็นสำคัญที่อยากฝากไว้ มี 4 ประเด็น คือ 1) กลไก “คนสำราญ งานสำเร็จ” การจัดทัพคนทำงาน การจัดสมดุลงานส่วนตัวและงานส่วนรวม ต้องทำให้เป็นการทำงานที่ “มากคน ไม่มากเรื่อง” ที่สำคัญ กลไกต้องมีความยืดหยุ่น ต้องใช้ความสัมพันธ์แนวราบ และมีมิตรภาพเอื้ออารีต่อกัน รวมทั้งการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจเมื่อเกิดกรณีเห็นต่าง 2) ต้องรู้ทันสมัย ต้องทันสถานการณ์ และสามารถเชื่อมโยงไปสู่กลุ่มที่เกี่ยวข้องได้ 3) เชื่อมต่อ “เจ้าภาพตัวจริง” ต้องผลักดันงานให้เข้าสู่โครงสร้างปกติของเจ้าภาพตัวจริง 4) คุณค่า สามารถสร้างพื้นที่ให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น แสดงให้เห็นพลเมืองที่เข้มแข็งและกระตือรือร้น (Active Citizens) ทำให้เห็นว่าการทำงานที่ผ่านมาไม่มีใครผูกขาดอำนาจการตัดสินใจ ประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วม รับฟังความเห็นต่าง ธรรมาภิบาล และพลังความสามารถ หรือพลังอำนาจของภาคประชาชน อาจารย์ได้เน้นย้ำว่า "การจัดการตนเอง" ต้องมี 3 คำนี้ ได้แก่ ความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ และความภาคภูมิใจ ซึ่งคุณค่าของการเรียนรู้ร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญที่ประเทศชาติต้องการ
ช่วงที่ 4 ภาพฝันที่ชุมชนอยากเห็นใน 3 ปีต่อจากนี้ ภายใต้โจทย์ 1)อนาคตความเป็นกลไกของพื้นที่เป็นอย่างไร 2) เป้าหมายการทำงาน คืออะไร 4) วิธีที่ใช้ คืออะไรบ้าง ส่วนใหญ่อยากเห็นการสร้างคนรุ่นต่อไปให้เคลื่อนงานในพื้นที่ต่อไป
ในช่วงท้าย คุณจักรกริช ติงหวัง พี่เลี้ยงจ.สตูล สรุปไว้ว่าหากจะเคลื่อนชุมชนบริหารจัดการตนเองไปข้างหน้าได้ ต้องมอง 3 ส่วน คือ
ตนเอง: เราคือใคร เราต้องตอบให้ได้
จัดการ: เราจะบริหารสมองของเราอย่างไรเพื่อให้เรือนร่างเคลื่อนไปได้
ความสุข: เราต้องหาความสุขให้ได้ การทำงานต้องอาศัยความสุข