กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
การจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเยาวชนและคณะทำงาน
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

โครงการพลังพลเมือง เยาวชนสงขลา โดยสงขลาฟอรั่ม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจลร่วมกับคณะอนุกรรมการศึกษาและประเมินรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและมาตรการการแก้ไขในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หน่วยงานราชการในพื้นที่จังหวัดสงขลา และเครือข่ายพลเมืองสงขลา จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างกระบวนการเรียนรู้ทักษะชีวิตและจิตสำนึกความเป็นพลเมือง ผ่านกรณีศึกษาการพังทลายของหาดสงขลาขึ้น โดยมุ่งหวังว่าห้องเรียนดังกล่าวจะเป็นสื่อกลางในการสร้างความรู้และความเข้าใจกระบวนการเรียนรู้จากปัญหาให้กับเจ้าหน้าที่ สงขลาฟอรั่ม เด็กและเยาวชนแกนนำที่ได้รับการสรรหาจากครูและผู้นำชุมชน ประชาชนทั่วไปให้มีความตระหนักรู้ เห็นคุณค่าและมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นการเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสสร้างสรรค์โครงการต่างๆ ขึ้นมาเพื่อต่อยอดความคิดในการพัฒนาสังคมหรือชุมชนบ้านเกิดของตนเอง รวมทั้งยังเป็นการทดสอบและพัฒนาคุณภาพของเครื่องมือที่ใช้ประเมินประสิทธิภาพของโครงการพลังพลเมือง เยาวชนสงขลาในการดำเนินงานครั้งต่อไป

เป้าหมาย


  1. เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้จากปัญหา กรณีการพังทลายของหาดสงขลาให้กับเด็กและเยาวชนที่ได้รับการสรรหาจากครูและผู้นำชุมชน
  2. เพื่อสื่อสารสาธารณะกับเครือข่าย เด็กและเยาวชน และประชาชนทั่วไปในจังหวัดสงขลาและสร้างความเข้าใจในการดำเนินงานของโครงการพลังพลเมือง เยาวชนสงขลา
  3. เพื่อพัฒนาศักยภาพและกระบวนการเรียนรู้ของเจ้าหน้าที่สงขลาฟอรั่มผ่านกระบวนการเรียนรู้จากปัญหา
  4. เพื่อทดสอบและพัฒนาคุณภาพของเครื่องมือที่ใช้ในการทักษะชีวิตและจิตสำนึกความเป็นพลเมืองของแกนนำเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม

กำหนดการและรายงานผล
31
พฤษภาคม
2012
กำหนดการของวันที่ 31 พฤษภาคม 2012
09.00 น.
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ประชุมเชิงปฏิบัติการเยาวชนอาสาอนุรักษ์หาดทราย
01
มิถุนายน
2012
กำหนดการของวันที่ 01 มิถุนายน 2012
09.00 น.
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ประชุมเชิงปฏิบัติการเยาวชนอาสาอนุรักษ์หาดทราย
02
มิถุนายน
2012
กำหนดการของวันที่ 02 มิถุนายน 2012
09.00 - 18.00 น.
สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจ.สงขลา สำนักงานเทศบาลนครสงขลา สงขลาฟอรั่ม มอ.หาดใหญ่ มทร. และจัดแสดงนิทรรศการ การเสวนาเรื่องการพัฒนาหาดสงขลาที่ยั่งยืน การแสดงของกลุ่มละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ณ บริเวณถนนคนเดิน (สงขลาแต่แรก)
03
มิถุนายน
2012
กำหนดการของวันที่ 03 มิถุนายน 2012
09.00 น.
สงขลาฟอรั่ม มูลนิธิสยามกัมมาจล และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เยาวชนแกนนำโรงเรียนและเยาวชนกลุ่มต่างๆในจังหวัดสงขลา ณ ห้องประชุมและหาดชลาทัศน์บริเวณมทร.
04
มิถุนายน
2012
กำหนดการของวันที่ 04 มิถุนายน 2012
09.00 น.
สงขลาฟอรั่ม มูลนิธิสยามกัมมาจล และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เยาวชนแกนนำโรงเรียนและเยาวชนกลุ่มต่างๆในจังหวัดสงขลา ณ ห้องประชุมและหาดชลาทัศน์บริเวณมทร.
05
มิถุนายน
2012
The world Beach Day แลเล แลหาด ครั้งที่ ๒ เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก
09.00 - 10.00 น.
ตัวแทนเจ้าภาพหลักงาน แลเล แลหาด ไปร่วมพิธีเปิดวันสิ่งแวดล้อมโลก
จัดโดยเทศบาลนครสงขลา เครือข่ายรักษ์สมิหลา
- ทีมเยาวชนแกนนำและคณะทำงานแลเล แลหาด : ร่วมเก็บขยะบนหาดทราย
โดยชักชวนร้านค้าริมหาด /โรงแรม /คนเมืองสงขลา-คนรักหาดทราย และกลุ่ม
อนุรักษ์ต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรม
-เยาวชนแกนนำแลเล แลหาด ทำพิธี “เติมทราย เติมใจให้หาดสงขลาอยู่อย่าง
ยั่งยืน
10.00 - 12.00 น.
เยาวชนแกนนำร่วมเตรียมงานพิธีฏรรมขอขมาคารวะร่วม/จัดนิทรรศการ
12.00 - 13.00 น.
พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.00 - 15.00 น.
เยาวชนแกนนำร่วมเตรียมงานพิธีกรรม/ การจัดขบวนแห่เพื่อสื่อสารกับคนเมือง
15.00 - 00.00 น.
- ขบวนแห่จากหน้ามทร. –ไปถ.ทะเลหลวง- หน้าวิทยาลัยอาชีวะศึกษา –ตัดเข้าหน้า
วัดชัยมงคล – ไปสู่บริเวณพิธีหาดหน้ามทร.
(เดินเท้าโดยเยาวชนพลเมืองสงขลา/คนเมืองสงขลา และมีรถรางของเทศบาลนคร
สงขลา /ขบวนจิ๊ป/รถบิ้กไบ้ท์เพื่อสังคมนำขบวน)

- ดนตรีและบทเพลงของกลุ่มนักดนตรีเมืองสงขลา

- การเสวนาเรื่อง การพังทลายของหาดสงขลา :ผลกระทบต่อชีวิตคนเมือง

- พิธีกรรม การนั่งภาวนาสมาธิเพื่อหาดสงขลายั่งยืน ต่อเนื่องไปกับการอ่านบทกวี และการขอมาคารวะหาดทรายและทะเล

- สิ้นสุดงาน
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

1. การจัดกระบวนการเรียนรู้จากปัญหา กรณีการพังทลายของหาดสงขลาให้กับเด็กและเยาวชนที่ได้รับการสรรหาจากครูและผู้นำชุมชน

จากการดำเนินงานเยาวชนที่ได้รับการสรรหาจากครูและผู้นำชุมชนจำนวน 34 คน เป็นเยาวชนแกนนำซึ่งทำกิจกรรมของทางโรงเรียนหรือชุมชนมาแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่งมีจิตอาสาและความรับผิดชอบในการทำงาน สามารถพัฒนาต่อยอดจากสิ่งที่เขาเรียนรู้ได้ครูและผู้นำชุมชนจึงทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนและประสานงานในบางเรื่องที่เยาวชนไม่สามารถทำเองได้เท่านั้นนอกจากนั้นสังเกตุพบว่าในระหว่างการจัดกระบวนการเรียนรู้ เยาวชนส่วนใหญ่อยู่ในระยะวัยรุ่นที่มีอายุ 14-17 ปีและเป็นเยาวชนในชุมชนเมือง ไม่ค่อยมีสมาธิในลักษณะการแบ่งกลุ่มย่อยแสดงความคิดเห็นกันมากนัก แต่ในทางกลับกัน การให้เยาวชนได้เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริงทำให้พวกเขามีความกระตือรือร้นและมีความรับผิดชอบในภาระหน้าที่ของตนเองมากขึ้นทั้งในช่วงกิจกรรม 6 Station และกิจกรรมการสื่อสารอย่างมีพลัง

การประเมินผลด้วยแบบสอบถามปลายเปิดทั้งก่อน-หลัง การเข้าร่วมกิจกรรมชี้ให้เห็นว่าเยาวชนเกิดการเรียนรู้เรื่องการพังทลายของชายหาดและมีความตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นดังความรู้สึกของเยาวชนคนหนึ่งที่ว่า “ได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของหาดทรายที่ยังหลงเหลืออยู่และยังรู้สาเหตุที่เกิดการพังทลายของหาด และจะนำไปเผยแพร่ให้ชุมชนได้รับทราบและตระหนักในเรื่องนี้ให้มาก”ในด้านทักษะชีวิต เยาวชนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องนี้มากนักแต่มีพื้นฐานอยู่บ้าง ดังนี้

  • ทักษะการคิดวิเคราะห์คิดสร้างสรรค์พอสมควรและสามารถคิดเชื่อมโยงสิ่งที่เขาเรียนรู้กับสังคม/ชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ได้เช่นความรู้สึกของเยาวชนที่ว่า “เนื่องจากเป็นคนจังหวัดตรังที่ได้มารับรู้และมองเห็นถึงปัญหาของจังหวัดสงขลาทำให้ย้อนคิดเป็นห่วงบ้านของตนเอง กลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับบ้านเรา...”
  • ทักษะด้านความตระหนักรู้ในตนเองและเข้าใจผู้อื่น เยาวชนมีความเข้าใจตนเองระดับหนึ่งคือ สามารถบอกได้ว่าตนเป็นคนเช่นไร มองเห็นข้อดีและข้อเสียของตนเอง แต่ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าเขาสามารถเข้าใจผู้อื่นได้อย่างไร
  • ทักษะด้านการจัดการกับอารมณ์และความเครียด เยาวชนสามารถเข้าใจลักษณะการทำงานเป็นทีมที่จะต้องปรับตัวเข้ากับผู้อื่น เคารพความเห็นในเสียงข้างมาก และมีความสุขที่ได้ทำงานร่วมกับคนอื่นพอสมควรซึ่งเห็นได้จากผลงานของแต่ละกลุ่มที่ทำออกมาได้สำเร็จทันเวลาและเยาวชนส่วนใหญ่สามารถควบคุมอารมณ์และความเครียดของตนเองได้ดีแม้ว่าจะต้องทำงานในเวลาที่จำกัด
  • ทักษะด้านการสื่อสารเพื่อสร้างสัมพันธภาพเยาวชนยังต้องพัฒนาในด้านนี้พอสมควร เนื่องจากการสื่อสารของพวกเขายังเป็นการสื่อสารแบบตรงไปตรงมาซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดความขัดแย้งได้ง่าย แต่พวกเขาจะมีวิธีการแก้ปัญหาโดยการขอโทษและปรับความเข้าใจกับเพื่อนและเยาวชนส่วนใหญ่ยังขาดความมั่นใจในตนเองและไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมใหญ่
  • ทักษะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและจิตสำนึกความเป็นพลเมือง เยาวชนรู้ว่าตนเองจะต้องปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อใช้ชีวิตอยู่ในสังคม เช่น ไม่ทิ้งขยะในที่สาธารณะ ปฏิบัติตามกฎหมาย สร้างความสามัคคีปรองดอง เป็นต้นและมีความตระหนักรู้ว่าตนเองจะต้องช่วยสอดส่องดูแลชุมชนและพยายามสื่อสารให้ชุมชน/สังคมเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นจากตัวเองในการเห็นคุณค่าของสิ่งรอบตัวและนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาชุมชนของตนต่อไปซึ่งผลสะท้อนจากการเข้าร่วมกิจกรรมวันสิ่งแวดล้อมโลกแสดงให้เห็นว่าเยาวชนมีความรับผิดชอบต่อบทบาทที่ตนเองได้รับมอบหมายเป็นอย่างดี


2. สื่อสารสาธารณะกับเครือข่าย เด็กและเยาวชน และประชาชนทั่วไปในจังหวัดสงขลาและสร้างความเข้าใจในการดำเนินงานของโครงการพลังพลเมือง เยาวชนสงขลา


จากการจัดนิทรรศการ ณ ถนนคนเดิน วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2555 และการจัดงานแลเล แลหาด ครั้งที่ 2 วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2555 ได้รับความสนใจจากเครือข่ายพอสมควรและอาจมีการต่อยอดเพื่อแก้ปัญหาอื่นๆในจังหวัดสงขลาต่อไป เด็กและเยาวชน และประชาชนทั่วไป เดินเข้ามาอ่านและให้ความสนใจกับนิทรรศการของโครงการพลังพลเมือง เยาวชนสงขลา และปัญหาหาดพังทลาย ประชาชนบางกลุ่มประมาณ 40-50 คนซักถามเกี่ยวกับการดำเนินงานของโครงการและร่วมฟังการเสวนา กรณีการพังทลายของหาดสงขลา

เยาวชนที่เข้าร่วมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการฯ วันที่ 3-5 มิถุนายน พ.ศ.2555 กลับมาร่วมเดินรณรงค์การอนุรักษ์หาดสงขลาในช่วงภาคค่ำเกือบครบทุกคนและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และมีความตั้งใจว่าจะเขียนโครงการเสนอขอทุนเพื่อใช้พัฒนาหรือแก้ปัญหาในชุมชน/สังคมของตน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการสื่อสารกับสาธารณะครั้งนี้สามารถสร้างความเข้าใจในการดำเนินงานของโครงการได้ในระดับหนึ่ง กล่าวคือ ผู้ที่สนใจส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเครือข่ายที่ทำงานร่วมกัน เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมการฝึกอบรมฯ และประชาชนบางกลุ่มที่มีความสนใจและรู้จักกับสงขลาฟอรั่มเป็นทุนเดิม ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจในการดำเนินงานของโครงการให้กับประชาชนทั่วไปได้รับทราบมากขึ้นจึงควรมีการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นๆ ร่วมด้วย


3. พัฒนาศักยภาพและกระบวนการเรียนรู้ของเจ้าหน้าที่สงขลาฟอรั่มผ่านกระบวนการเรียนรู้ PBL


การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ วันที่ 31 พ.ค. 2555-1 มิ.ย. พ.ค. 2555 วิทยากรกระบวนการนำโดยรศ.กัลยาณี พรพิเนตพงศ์จากคณะเศรษฐศาสตร์มอ.หาดใหญ่ ได้นำกระบวนการ PBL มาจัดกระบวนการเรียนรู้ กรณีการพังทลายของหาดสงขลา ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ได้มีโอกาสเรียนรู้กระบวนการ PBL เพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาโครงการของเยาวชน ทั้งในเรื่องของการออกแบบกระบวนการเรียนรู้การเตรียมงาน/อุปกรณ์ การประสานงานภายใน/นอก การประเมินผลกิจกรรม และความรับผิดชอบร่วมกันของทีมในโอกาสต่อไปได้

หมายเหตุ: หลังจากเสร็จสิ้นงานแลเล แลหาด ในวันที่ 8 มิย. 55 อาจารย์พรรณิภา โสตถิพันธุ์ ได้ไปร่วมสัมมนาเรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ PBL กับคณะเศรษศาสตร์ มอ.หาดใหญ่ จึงได้มาสรุปสาระสำคัญและแนวคิดหลักๆ ของเรื่องนี้ให้เจ้าหน้าทีได้เห็นภาพ PBL ชัดขึ้นพร้อมด้วย power point แนะนำหนังสือและเวปไซด์ที่อธิบายเรื่องนี้ด้วย


4. ทดสอบและพัฒนาคุณภาพของเครื่องมือที่ใช้ในการทักษะชีวิตและจิตสำนึกความเป็นพลเมืองของแกนนำเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม


แบบประเมินผลที่นำมาใช้แบ่งออกเป็น 3 ตอนคือ ตอนที่ 1 ข้อมูลส่วนตัว ตอนที่ 2 แบบทดสอบความรู้เรื่องทักษะชีวิต และตอนที่ 3 แบบสอบถามด้านพฤติกรรมความเป็นพลเมืองซึ่งใช้วัดทักษะชีวิตและจิตสำนึกความเป็นพลเมืองของเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการเพื่อทดสอบคุณภาพของแบบประเมินและความเข้าใจของเยาวชนต่อคำถามปลายเปิดตอนที่ 2 และ 3รวมทั้งสิ้น 10 ข้อ ซึ่งปรากฏว่าเยาวชนสามารถตอบแบบประเมินผลได้บางส่วนและยังไม่ค่อยเข้าใจคำถามเท่าที่ควรโดยให้เหตุผลว่ามีข้อคำถามเยอะเกินไป ดังนั้นฝ่ายวิชาการจะดำเนินการปรับปรุงแบบประเมินผลให้มีความกระชับและเข้าใจง่ายขึ้น และใช้แบบประเมินผลดังกล่าวสำหรับวิเคราะห์ผลสำเร็จในภาพรวมของโครงการ

"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ