สรุปผลโครงการหมอกควัน มหัตภัยเงียบ
สภาเด็กและเยาวชนตำบลบ้านดู่ จ.เชียงราย
สภาเด็กและเยาวชนตำบลบ้านดู่เกิดจากการรวมตัวของเด็กๆ ในตำบลบ้านดู่ เพื่อทำกิจกรรมเกี่ยวกับชุมชนและเยาวชน ที่ผ่านมาอาจารย์เดียร์ (กันย์ธนัญ สุชิน) อาจารย์ประจำวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย เคยทำโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนในเทศบาลตำบลบ้านดู่ เห็นว่ากิจกรรมส่วนใหญ่จะเป็นการทำค่าย การนำสันทนาการให้กับเด็กๆ ในชุมชน จึงได้ชวนเด็กๆ มาทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม โดยอาจารย์เดียร์รับอาสาเป็นที่ปรึกษาการทำโครงการ
มิ้น (สุดาพร สุทธลูน) หนึ่งในแกนนำเยาวชนเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของโครงการว่า “อาจารย์เดียร์ส่งแบบฟอร์มโครงการมาให้ดู เห็นว่าเป็นสิ่งที่ท้าทาย ซึ่งสภาเด็กฯยังไม่เคยทำเรื่องสิ่งแวดล้อมจะมีบ้างคือไปทำฝาย”
และจากการพูดคุยกันเห็นว่าปัญหาหมอกควันได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ซึ่งตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ประสบปัญหาหมอกควันเช่นกันเพราะชาวบ้านมีอาชีพทำนาและทำไร่สัปปะรด หลังจากเก็บเกี่ยวพืชแล้วจะทำการถางไร่ ถางนาและกำจัดวัชพืชด้วยการเผาเช่นกัน จึงเกิดเป็น “โครงการหมอกควันมหันตภัยเงียบ” ขึ้น
“เป้าหมายของโครงการคือรณรงค์ให้คนในชุมชนลดการเผาขยะ เศษใบไม้ในครัวเรือน ซึ่งการเผาใบไม้เหล่านั้นก่อให้เกิดควันหรือหมอกควัน แม้ว่าจะเป็นสาเหตุเล็กๆ แต่คนทั้งประเทศก็คงมีไม่น้อยที่เผากัน ยิ่งเผามากก็ยิ่งเป็นสาเหตุให้เกิดหมอกควันมากขึ้น”ทีม (กรกช ไกรสอน) พูดเสริมถึงเป้าหมายของโครงการ
นอกจากนี้เยาวชนต้องการสะท้อนให้คนในชุมชนตระหนักรู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องสำคัญและมีผลกระทบต่อชาวบ้านโดยตรง และหวังว่ากิจกรรมครั้งนี้จะเชื่อมโยงไปถึงการลดการเผาตอซังในการเพาะปลูกซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดหมอกควัน
สรุปผลโครงการหมอกควัน มหัตภัยเงียบ
สภาเด็กและเยาวชนตำบลบ้านดู่ จ.เชียงราย
เมื่อถึงฤดูกาลเตรียมดินในการเพาะปลูก หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนต้องประสบปัญหาหมอกควันปกคลุมไปทั่ว เนื่องจากชุมชนมีอาชีพหลัก คือ ปลูกข้าว ปลูกสับปะรด และปลูกข้าวโพด หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จะเตรียมหน้าดิน เพื่อทำการเกษตรในครั้งต่อไป ด้วยการเผาตอซังของพืชที่เหลืออยู่หน้าดินในทุกไร่นาทุกแปลง อีกทั้งการกำจัดขยะตามวิถีของคนในชุมชน เช่น การเผาขยะ เศษใบไม้ กิ่งไม้ ใบหญ้า เมื่อรวมๆ กันจึงกลายเป็นปัญหาหมอกควันที่รุนแรงในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของกรมควบคุมมลพิษพบว่าสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองในภาคเหนือสูงเกินมาตรฐานและอยู่ในระดับที่มีผลต่อสุขภาพ เช่น ผลต่อระบบทางเดินหายใจทำให้ระคายเคืองหรือแสบตา บดบังทัศนวิสัยในการจราจรเป็นอุปสรรคในการคมนาคมและการขนส่ง นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตอีกด้วย
สภาเด็กและเยาวชนตำบลบ้านดู่เกิดจากการรวมตัวของเด็กๆ ในตำบลบ้านดู่ เพื่อทำกิจกรรมเกี่ยวกับชุมชนและเยาวชน ที่ผ่านมาอาจารย์เดียร์ (กันย์ธนัญ สุชิน) อาจารย์ประจำวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย เคยทำโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนในเทศบาลตำบลบ้านดู่ เห็นว่ากิจกรรมส่วนใหญ่จะเป็นการทำค่าย การนำสันทนาการให้กับเด็กๆ ในชุมชน จึงได้ชวนเด็กๆ มาทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม โดยอาจารย์เดียร์รับอาสาเป็นที่ปรึกษาการทำโครงการ มิ้น (สุดาพร สุทธลูน) หนึ่งในแกนนำเยาวชนเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของโครงการว่า “อาจารย์เดียร์ส่งแบบฟอร์มโครงการมาให้ดู เห็นว่าเป็นสิ่งที่ท้าทาย ซึ่งสภาเด็กฯยังไม่เคยทำเรื่องสิ่งแวดล้อมจะมีบ้างคือไปทำฝาย” และจากการพูดคุยกันเห็นว่าปัญหาหมอกควันได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ซึ่งตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ประสบปัญหาหมอกควันเช่นกันเพราะชาวบ้านมีอาชีพทำนาและทำไร่สัปปะรด หลังจากเก็บเกี่ยวพืชแล้วจะทำการถางไร่ ถางนาและกำจัดวัชพืชด้วยการเผาเช่นกัน จึงเกิดเป็น “โครงการหมอกควันมหันตภัยเงียบ” ขึ้น “เป้าหมายของโครงการคือรณรงค์ให้คนในชุมชนลดการเผาขยะ เศษใบไม้ในครัวเรือน ซึ่งการเผาใบไม้เหล่านั้นก่อให้เกิดควันหรือหมอกควัน แม้ว่าจะเป็นสาเหตุเล็กๆ แต่คนทั้งประเทศก็คงมีไม่น้อยที่เผากัน ยิ่งเผามากก็ยิ่งเป็นสาเหตุให้เกิดหมอกควันมากขึ้น”ทีม (กรกช ไกรสอน) พูดเสริมถึงเป้าหมายของโครงการ นอกจากนี้เยาวชนต้องการสะท้อนให้คนในชุมชนตระหนักรู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องสำคัญและมีผลกระทบต่อชาวบ้านโดยตรง และหวังว่ากิจกรรมครั้งนี้จะเชื่อมโยงไปถึงการลดการเผาตอซังในการเพาะปลูกซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดหมอกควัน
สร้างความร่วมมือผ่านเวทีชาวบ้าน
แกนนำเยาวชนสภาเด็กและเยาวชนตำบลบ้านดู่เห็นว่าปัญหาหมอกควันเป็นปัญหาที่ชาวบ้านน่าจะรับรู้และทำความเข้าใจ พวกเขาจึงคิดจัดเวทีชาวบ้านขึ้นเพื่อชวนผู้ใหญ่ให้ตะหนักถึงปัญหาและโทษที่ร้ายแรงของหมอกควันที่เกิดจากการเผาเศษใบไม้ในช่วงที่ไม้ผลัดใบร่วงหล่นเกลื่อนพื้นและซากพืชที่เหลือจากเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรในไร่นาของชาวบ้านในหมู่บ้านนั่นเอง
สภาเด็กและเยาวชนฯ เริ่มต้นงานอย่างกล้าๆ กลัวๆ เพราะไม่เคยทำงานร่วมกับชาวบ้าน และครั้งนี้พวกเขาจะต้องติดต่อประสานงานกับชาวบ้าน ทำให้พวกเขาไม่ค่อยมั่นใจสักเท่าไหร่ พวกเขาได้ประชุมเพื่อแบ่งหน้าที่กันทำงานออกเป็น 3 งานด้วยกัน คือ งานติดต่อประสานงาน โดยเริ่มหารือและประสานความร่วมมือกับผู้ใหญ่ราชันย์ ไชยฟู ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านโป่งน้ำตก เรื่องการจัดเวทีชาวบ้านซึ่ง ผู้ใหญ่บ้านก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีและอาสาช่วยประกาศออกทางเสียงตามสายในหมู่บ้าน แจ้งให้ชาวบ้านเข้าร่วมเวทีพูดคุยในครั้งนี้ด้วย งานหาข้อมูล เพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับพูดคุยกับชาวบ้านโดยมีสมาชิกของสภาเด็กฯ ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ผลที่ได้คือ ปัญหาของหมอกควันส่วนใหญ่เกิดจากการเผาเศษใบไม้ ขยะ และตอซังพืช ซึ่งผลกระทบส่วนใหญ่เป็นปัญหาสุขภาพของคนในชุมชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุในหมู่บ้านเกิดอาการหอบหืดในช่วงที่เกิดปัญหาหมอกควัน หรือบางรายส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยเป็นโรคความดันได้ง่าย และงานจัดเตรียมเอกสารและเตรียมสถานที่
“สวัสดีพ่อแม่พี่น้องหมู่ 7 บ้านโป่งน้ำตกทุกท่าน มีข่าวประชาสัมพันธ์จะแจ้งให้ทราบดังนี้ ในวันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม 2556 นี้ ทางกลุ่มสภาเด็กและเยาวชนตำบลบ้านดู่จะมาจัดกิจกรรมเวทีชาวบ้านเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้น ขอให้พี่น้องที่สนใจมาเข้าร่วมประชุมที่ศาลาเอนกประสงค์โดยพร้อมเพียงกัน”
เสียงประกาศประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งให้ชาวบ้านเข้าร่วมกิจกรรมเวทีชาวบ้านจากผู้ใหญ่บ้านซึ่งทำหน้าที่พูดผ่านเสียงตามสายประจำหมู่บ้าน เมื่อถึงวันจัดกิจกรรม มีชาวบ้านให้ความร่วมมือเข้าร่วมเวทีชาวบ้านจำนวนมาก เด็กๆ เริ่มเปิดเวทีชาวบ้าน ด้วยคำถาม ว่า “หมอกควันที่เกิดขึ้นมีผลกระทบอะไรบ้าง?” เพื่อให้ชาวบ้านแสดงความคิดเห็นและรวบรวมผลกระทบที่ชาวบ้านนำเสนอ เขียนเป็น Flow Chart เพื่อให้ชาวบ้านเห็นเป็นภาพเดียวกัน
จากนั้นก็ตั้งคำถามหาสาเหตุ ว่า “หมอกควันเกิดจากใคร? เกิดจากอะไร? และช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหาอย่างไรเมื่อเกิดปัญหาแบบนี้ มีแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างไร?” เมื่อชาวบ้านช่วยกันระดมความคิด จนทราบถึงผลกระทบ สาเหตุของปัญหาและแนวทางการแก้ไข จึงเกิดข้อตกลงระหว่างชาวบ้านในชุมชนขึ้น สองข้อ คือ หนึ่ง จะช่วยกันรณรงค์สร้างความตระหนักถึงปัญหาจากหมอกควัน และ สอง ลดการเผาเศษใบไม้ในครัวเรือนของตน
หลังจากจบเวทีชาวบ้านเด็กๆ ดีใจมากที่ได้รับความร่วมมือจากผู้ใหญ่บ้าน สามารถทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทีม เล่าถึงงานแรกของสภาเด็กและเยาวชนตำบลบ้านดู่ ว่า “ไม่เคยทำงานร่วมกับชุมชนเลย พอได้ทำแล้ว ทำให้เห็นจุดบกพร่องในการทำงานกับชุมชน ว่า การทำงานโดยการลงพื้นที่ร่วมกับคนในชุมชน พวกเราต้องรู้จักการคิดแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยความสามัคคีของสมาชิกภายในกลุ่ม เพื่อให้ชาวบ้านเกิดความเชื่อถือที่จะร่วมกิจกรรมของโครงการที่เรากำลังทำอยู่ และชาวบ้านก็จะให้ความร่วมมือกับโครงการเป็นอย่างดี”
วอยด์ (สัญญา จันทรวงศ์) ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า“พอได้ทำงานกับชุมชน ทำให้รู้สึกเข้าถึงกลุ่มคนได้ง่ายขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาหมอกควัน ถือเป็นปัญหาที่ใหญ่มากขนาดรัฐบาลยังแก้ไม่ได้ เพราะรัฐอาจจะแก้จากภายนอกเข้าไปภายในพื้นที่ ผมคิดว่าพวกเราน่าจะแก้จากภายในมาสู่ภายนอกมากกว่า นั้นคือ พวกเราเริ่มแก้หน่วยเล็กๆ จากภายในชุมชน”
การเริ่มต้นทำงานร่วมกับชุมชนครั้งแรกผ่านการจัดเวทีชาวบ้าน เด็กๆ ได้ข้อสรุปเป็นบทเรียนว่า “ต้องทำให้ชุมชนเข้าใจว่าพวกเราทำอะไร เพื่ออะไร แล้วทำแล้วได้อะไรกับชุมชน พยายามทำให้ชาวบ้านมาเป็นคนร่วมทำกิจกรรมของเราด้วยความสมัครใจแล้วเราจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี” นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้จากปัญหาว่าสถานที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวยสำหรับทำกิจกรรม อีกทั้งไม่ได้เตรียมเอกสารหรือสื่อต่างๆ เพื่อสร้างเข้าใจให้ชาวบ้านเห็นถึงปัญหาและผลกระทบจากหมอกควันได้
เดินรณรงค์สร้างความเข้าใจไม่เผาขยะ
เสร็จจากเวทีชาวบ้าน ชาวบ้านหลายคนเห็นปัญหาตรงกันว่าหมอกควันเกิดมาจาการเผาเศษใบไม้ และจากข้อตกลงร่วมกันของชุมชนที่จะใช้แนวทางแก้ไขปัญหา ด้วยช่วยกันรณรงค์สร้างความตระหนักถึงปัญหาจากหมอกควัน สมาชิกสภาเด็กและเยาวชนตำบลบ้านดู่จึงรวมตัวกันในวันหยุดตอนเย็น ของวันเสาร์หรืออาทิตย์ ออกเดินรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ตามบ้าน เพื่อย้ำกับชาวบ้านที่เข้าร่วมเวทีชาวบ้าน และบอกต่อกับชาวบ้านอีกหลายครัวเรือน ว่า ให้พยายามช่วยลดการเผาใบไม้ในครัวเรือน และหาสมาชิกที่สมัครใจ ร่วมนำใบไม้มาทำปุ๋ยหมัก โดยแจกถุงดำให้กับชาวบ้านที่ลงชื่อสมัครเป็นสมาชิกทำปุ๋ยหมักเพื่อใส่เศษใบไม้ กิ่งไม้ และในการรณรงค์ก็ได้สมาชิกเข้าร่วม 30 ครอบครัว
มิ้น เล่าถึงความประทับใจกับการเดินรณรงค์ในครั้งนี้ ว่า “ตอนจะเริ่มเดินรณรงค์ คุยกับเพื่อนๆ ว่าจะทำยังไงบ้าง ไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร แต่พอได้ทำแล้ว เจอชาวบ้านที่เขาเห็นว่าเราทำเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็ชวนให้เราเข้าไปในบ้าน ให้การต้อนรับอย่างดี และบอกว่ามีอะไรให้ช่วยเหลือก็บอก ทำให้กลุ่มเราได้กำลังใจเพิ่มขึ้น ประทับใจมากๆ” และจากความประทับใจครั้งนี้ ทำให้มิ้นไม่กลัวที่จะเข้าไปคุยกับชุมชน ได้ทัศนคติและมุมมองที่เปลี่ยนไปจากเดิม เมื่อก่อนอาจจะมีทิฐิมากเกินไปจึงทำให้การทำงานที่ผ่านมาติดขัด เปิดโลกในมุมมองใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น ทั้งทางด้านบวกและลบ และสามารถปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ได้ เปิดรับความคิดเห็นของผู้อื่นมากขึ้น เปิดใจยอมรับในสิ่งที่แตกต่างมากขึ้น
การเปิดมุมมองใหม่ของสภาเด็กและเยาวชนตำบลบ้านดู่ ผ่านการทำกิจกรรมเดินรณรงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ในโครงการหมอกควันมหัตภัยเงียบ เป็นการเปิดโลกอีกใบให้กับเด็กๆ ในโครงการ ได้พบปะกับชาวบ้านอย่างใกล้ชิดขึ้น ทำให้ได้เรียนรู้ชุมชนและปัญหาไปด้วยกัน
เปลี่ยนใบไม้ให้เป็นปุ๋ย
ภารกิจสุดท้ายที่เด็กๆ ตั้งใจทำคือ นำขยะที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ มาทำเป็นปุ๋ยหมัก เพราะเห็นประโยชน์ของขยะธรรมชาติที่สามารถนำไปใช้ในการเกษตรได้อีก จึงได้ชวนชาวบ้านให้เห็นประโยชน์ร่วมกันและลดการเผาลงได้ โดยมีผู้เข้าร่วมเก็บเศษใบไม้ไม่เผา ได้ 30 ครอบครัว กิจกรรมเก็บเศษใบไม้มาทำปุ๋ยนี้ เป็นกิจกรรมที่เยาวชนจะรวมตัวทำกันเอง โดยพวกเขาจะใช้เวลาว่างในวันเสาร์ – อาทิตย์ รวมตัวกันและช่วยกันเก็บเศษใบไม้จากสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยมีท๊อป (ทักษ์ดนัย เรือนสังข์) เป็นฝ่ายออกแรงจึงขันอาสานำเพื่อนๆ ไปเก็บทุกครั้ง เมื่อได้จำนวนใบไม้เพียงพอแล้ว พวกเขาช่วยกันขุดหลุม นำใบไม้ไปใส่และหมักเป็นปุ๋ย ท๊อป เล่าว่า “พอถึงวันนัด ใครไม่มา ผมก็จะมา เพื่อที่จะเก็บใบไม้ตามบ้าน และมีกลุ่มนักศึกษา อาสาสมัคร มาช่วยงานเรา ผมก็จะเป็นคนพาพวกเขาไปช่วยเก็บใบไม้ด้วยกัน สิ่งที่ผมได้จาการทำแบบนี้ ผมว่าผมได้กับตัวเองนะ คือ ผมได้ทำหน้าที่ที่ผมรับผิดชอบ และผมเห็นว่าการมาช่วยกันแบบนี้เป็นประโยชน์เรื่องสุขภาพทั้งกับตัวเองและส่วนรวม อย่างน้อยๆ ชาวบ้านก็ลดการเผาลงได้บ้าง อากาศที่สูดเข้าไปก็ไม่มีควันพิษ เพราะเวลาเผาครั้งหนึ่ง เวลาลมพัดไปทางไหน ก็เดือดร้อนทางนั้น” ขยะใบไม้ถูกใส่ไว้ในหลุมที่ขุดเอาไว้และรอเวลาให้กลายเป็นปุ๋ย แต่ต้องใช้ระยะเวลามากพอที่จะย่อยสลายใบไม้ ถึงแม้ตอนนี้เวลาในการทำโครงการใกล้จะหมดลงและยังไม่ได้ปุ๋ยเด็กๆ จึงไม่ได้แจกปุ๋ยหมักให้กับชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการอย่างที่ตั้งใจไว้ จึงได้ลงพื้นที่เพื่อแนะนำวิธีทำปุ๋ยหมักให้กับชาวบ้านแทนเพื่อให้ชาวบ้านสามารถทำปุ๋ยหมักได้ด้วยตนเอง
เรียนรู้จากปัญหา เรียนรู้จากการลงมือทำ
จากการได้ทำโครงการหมอกควันมหันตภัยเงียบ สมาชิกสภาเด็กและเยาวชนตำบลบ้านดู่ ได้เรียนรู้ประสบการณ์จากการทำงานในแต่ละกิจกรรม ได้พบกับปัญหาและอุปสรรคในการทำงานถือเป็นบทเรียนที่ดีให้กับทีมงานด้วยเช่นกัน
อุปสรรคในการทำงานของพวกเขา คือ เวลาว่างที่ไม่ตรงกัน ทำให้การนัดหมายในการทำกิจกรรมคาดเคลื่อน หรือบ้างครั้งล่มไปก็มี ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมาก มิ้น เล่าว่า “บางครั้งนัดกันไว้แล้ว เตรียมงานไว้บ้างแล้ว แต่ทุกคนต่างไม่ว่างก็ต้องยกเลิกนัดนั้นไป จะนัดกันทำกิจกรรมได้อีกทีก็เสียเวลาไป” บทเรียนครั้งนี้ทำให้เรียนรู้ว่าการแบ่งเวลาเพื่อทำงานในโครงการนี้ก็มีส่วนสำคัญมาก เพราะการทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งที่เด็กๆ ทุกคนอยากออกมาใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน หากพวกเขามัวคิดถึงแต่ภาระหน้าที่ของตัวเอง ไม่ว่าจะเรียนหนังสือ ซ้อมกีฬา ทำงานบ้าน และอื่นๆ พวกเขาก็จะไม่สามารถรวมตัวกันมาทำกิจกรรมของโครงการได้ มิ้น เล่าเสริมอีกว่า “ท๊อป เป็นคนที่ทำให้มิ้นท์เห็นว่า การลงมือทำโดยไม่สนใจว่าใครจะมาหรือไม่มา เป็นตัวอย่างที่พวกเราต้องทำตาม เพราะถ้าเรามัวแต่คิดว่ามาให้ครบทุกคนถึงจะลงมือทำ หรือทำไมคนนี้ไม่ทำ คนนั้นไม่ทำ ก็จะไม่ได้ทำงานเลย”
บี (สุนิสา กันทะเตียน) เป็นคนหนึ่งที่ยากต่อการแบ่งเวลามาร่วมกิจกรรมพร้อมกับเพื่อนๆ บีเล่าว่า “เมื่อบีไม่ว่างเข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อน เช่น ไม่ได้ไปเดินรณรงค์ด้วย ไม่ได้ไปเก็บขยะ เพื่อนๆ ก็จะบอกให้บี ช่วยเตรียมเอกสารแทน ซึ่งบีก็รู้สึกว่า บีได้ทำงานเสร็จอย่างเต็มที่ บีมีความรับผิดชอบต่องานที่มี เป็นผู้ช่วยอยู่เบื้องหลัง” บีรู้สึกผิดกับการไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อนๆ ทุกครั้ง แต่บีก็ได้เรียนรู้ ว่า “บีได้ฝึกความรับผิดชอบต่อตัวเองนะคะ และเมื่อเห็นว่าเพื่อนบางคนทำงานกัน และได้ยินเสียงตอบรับจากชาวบ้านอย่างดี บีก็รู้ว่า การลงมือปฏิบัติงานจริง และการมีความรับผิดชอบกับงานของตัวเองและกลุ่ม จะช่วยให้งานสำเร็จดีขึ้น บีจะก้าวเดินในการทำงานไปพร้อมๆกับกลุ่ม”
สภาเด็กและเยาวชนบ้านดู่ ต่างก็เรียนรู้ซึ่งกันและกันในการทำงานเป็นทีม ผ่านอุปสรรคเรื่องของการสละเวลาเพื่อทำงาน ความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่เกิดจากการที่ทุกคน รู้จักหน้าที่ของตน และรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเอง ทีม สรุปว่า “การนำความรู้และประสบการณ์ร่วมถึงแนวทางการแก้ปัญหาของเพื่อนมาปรับให้กับโครงการเราในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น การรู้จักแบ่งเวลาในการทำงาน จะไม่ทำให้งานคั่งค้าง อย่าสะสมเพื่อจะทำครั้งเดียวทำที่ละนิดแล้วสุดท้ายตอนรวบรวมข้อมูลจะไม่ลำบาก”
“การทำโครงการเหมือนฤดูกาลทั้ง 4 ฤดู เพราะมันมีความแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าทั้ง 4 ฤดู นี้มันทำให้น้องๆ ได้เรียนรู้”
ถึงแม้จะเป็นกิจกรรมเพียงสั้นๆ เป็นการแก้ปัญหาจุดเล็กๆที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ในภาพใหญ่ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เยาวชนเห็นความสำคัญของปัญหาและลงมือทำ ชาวบ้านโป่งน้ำตกเองก็ได้รับรู้และเข้าใจปัญหา สาเหตุจากหมอกควัน ได้ร่วมกันหาข้อตกลงในการลดการเผาเศษใบไม้ ขยะในครัวเรือน นำเศษใบไม้ กิ่งไม้มาทำปุ๋ยหมัก ทีม สะท้อนผลที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการอีกว่า “หลังจากทำโครงการแล้วทำให้ชาวบ้านมีความเชื่อและเปลี่ยนแปลงความคิดในเรื่องการเผาตอซังข้าว จากเมื่อก่อนที่ชาวบ้านเชื่อว่าขี้เถ้าที่เกิดจากการเผาตอซังจะเป็นปุ๋ยแต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่ แถมเมื่อเผาซังข้าวแล้วหน้าดิน สัตว์ที่อยู่อาศัย ก็ถูกทำลายไป ตอนนี้ก็ทำให้ชาวบ้านหันมาเชื่อสิ่งที่เราทำและลดการเผาเศษใบไม้ ตอซัง”
ประสบการณ์จากการทำโครงการฯครั้งนี้ ทำให้สภาเด็กและเยาวชนตำบลบ้านดู่ ตั้งใจว่าถ้ามีโอกาสได้ทำอีกก็อยากจะทำ เพราะอยากจะถ่ายทอดให้คนอื่นรักธรรมชาติ ถึงแม้ว่าจะไม่มีกำลังทรัพย์ แต่ถ้ามีกำลังคน ก็อยากทำกันต่อไปซึ่งน้องทีมก็ได้เปรียบเทียบการทำโครงการครั้งนี้เหมือนเมล็ดพืชว่า“เพราะว่าโครงการที่เราทำ เป็นโครงการนำร่องเพียงหมู่บ้านเดียว เราทำเพื่อทดสอบครับว่าเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าเกิดผลดีเราก็จะขยายไปสู่ชุมชนรอบข้าง เหมือนเมล็ดพืชที่เราจะลองปลูกดู ถ้ามันเจริญเติบโตสวยงามก็จะทำให้คนอื่นไปปลูกต่อครับ”
แกนนำเยาวชนสภาเด็กและเยาวชนตำบลบ้านดู่
กรกช ไกรสอน (ทีม) ประธานสภาเด็กและเยาวชนตำบลบ้านดู่ กำลังศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปีที่ 2 วิทยาลัยอาชีวศีกษาเชียงราย จ.เชียงราย
มีความถนัดเป็นประชาสัมพันธ์หรือพิธีกร จัดเตรียมข้อมูล เป็นคนที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะทำงาน
แรงบันดาลใจในการทำโครงการ “อยากทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับชุมชน”
โครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการแรกที่ทีมได้ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน “ก่อนทำโครงการผมไม่รู้ว่าจะเริ่มทำอย่างไร กลัวปัญหาว่าเราจะแก้ปัญหาได้ไหม ไม่กล้าที่จะพูดคุยกับชาวบ้านเพราะไม่มั่นใจว่าชาวบ้านจะเชื่อในสิ่งที่เราทำหรือเปล่า”
แต่เมื่อได้เข้าร่วมอบรมการพัฒนาโครงการและทักษะต่างๆ จากโครงการปลูกใจรักษ์โลกทำให้รู้จักการเขียนโครงการที่ชัดเจนยิ่งขึ้น รู้จักการที่จะทำให้โครงการของเราให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่เราตั้งไว้ กล้าที่จะแสดงออก เมื่อถึงเวลาทำงานจริงๆ ได้เห็นปัญหาในการทำงานของตัวเองว่า เวลาทำงานไม่มีการวางแผนทำให้มีปัญหาเกิดขึ้น เมื่อจะทำงานในครั้งต่อไป ต้องรู้จักการวางแผนการทำงาน มีการประชุมทั้งก่อนการทำงานและหลังการทำงาน เพื่อวางแผนก่อนการทำกิจกรรม และการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำกิจรรมแต่ละครั้ง รู้จักความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ตนเองได้รับและช่วยเหลือเพื่อนที่ลำบาก ต้องมีการสื่อสารที่ดีในการทำงานเพื่อให้เกิดความชัดเจนและจะทำให้การสื่อสารแต่ละครั้งไม่เกิดความผิดพลาด การรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันโดยอยู่ภายใต้เหตุผลที่เหมาะสม
ส่วนการทำงานร่วมกับเพื่อนๆ ในกลุ่มทำให้เราได้ฝึกทักษะในการทำงานเป็นทีม กระบวนการคิดกระบวนการทำงานและรู้กระบวนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น การทำโครงการยังทำให้เรารู้จักการเข้าหาผู้ใหญ่ และได้รับคำแนะนำ “บางครั้งทำไปโดยไม่รู้” เมื่อผู้ใหญ่แนะนำเราก็สามารถทำงานได้บรรลุผลมากขึ้น ก็เลยได้เข้าไปปรึกษาพ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) และให้พ่อหลวงช่วยประกาศประชาสัมพันธ์สิ่งที่พวกเราทำ พอชาวบ้านได้ยินพ่อหลวงประกาศ ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สิ่งที่ได้จากการทำงาน คือ ได้ฝึกเรื่องการเข้าหาผู้ใหญ่ การประสานงานกับผู้ใหญ่ เราต้องพยายามบอกให้ผู้ใหญ่เข้าใจและหาที่ปรึกษามาเพื่อช่วยสนับสนุนโครงการฯ เราจะทำอะไรต้องรู้จักระมัดระวังหลายๆ เรื่อง เรียนรู้การถ่ายทอดให้คนอื่นรับรู้ว่าการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม รักธรรมชาติ ทำอย่างไร
สุดาพร สุทธลูน (มิ้น) เลขานุการสภาเด็กและเยาวชนตำบลบ้านดู่กำลังศึกษาปริญญาตรี คณะสังคมศาสตร์ เอกวิชาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย มีความสามารถในการติดต่อประสานงานและร้องเพลง เล่นดนตรี
แรงบันดาลใจในการทำโครงการ “สร้างประสบการณ์ให้กับชีวิต พบปะกับผู้คนหลากหลาย”
หลังจากลงทำโครงการนี้จริงๆ ทัศนคติมุมค่อนข้างที่จะเปลี่ยนแปลงไปมาก เราลงชุมชนทำงานร่วมกับชาวบ้าน เรารู้ว่าสังคมที่นั้นเป็นอย่างไร คือ หมู่บ้านที่มิ้นทำงานอยู่ กับหมู่บ้านที่มิ้นอยู่ นับถือคนละศาสนา หมู่บ้านที่เราลงไปทำงานนับถือศาสนาคริสต์ เราได้เห็นเลยจริงๆ ว่าบ้านเขามีความรักซึ่งกันและกัน คนในหมู่บ้านให้ความร่วมมือดีมาก เมื่อก่อนมิ้นเป็นคนมีทิฐิมาก “ทำไมคิดไม่เหมือนฉัน” แต่ตอนนี้เริ่มเข้าใจแล้วว่าคนเราความคิดอาจจะไม่เหมือนกันแค่พ่อแม่ก็ไม่ใช่คนเดียวกันแล้ว มาอยู่รวมกันหลายคนก็หลายมุมมอง หลายความคิด หลายแง่คิด ทำให้ตัวเองเปิดใจยอมรับฟังในสิ่งที่คนอื่นพูดในสิ่งที่คนอื่นเป็นแล้วกลับมามองตัวเองว่าเราจะรับเขาได้ในสิ่งที่เขาเป็นหรือไม่ เป็นคนที่มองโลกในแง่บวก ตอนลงชุมชนยังทำให้เราเห็นสภาพจริงๆ ของคนในชุมชน ทำให้เรารู้ว่าในที่แต่ละที่มีความแตกต่างกัน และคนแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน ประสบการณ์ที่นำไปใช้ได้จากการทำงานกับคนที่นับถือศาสนาคริสต์ เกิดการยอมรับความแตกต่างของคน
การทำโครงการที่เกิดผลดีกับตัวเองอีกเรื่องคือ การควบคุมอารมณ์ เพราะว่าการทำโครงการนี้ ทำให้เราได้พบปะกับคนเยอะขึ้น มีการติดต่อประสานงานกับหลายฝ่าย ใช้คำพูดมากขึ้น ต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ จะไปต่อว่าเขาก็ทำไม่ได้ นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องการฝึกความรับผิดชอบให้มากขึ้น
“รู้จักที่จะรักและหวงแหนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตอบแทนสิ่งที่ได้รับมาคืนสู่ธรรมชาติ เป็นผู้ให้บ้าง”
พี่เลี้ยงโครงการ
กันย์ธนัญ สุชิน (เดียร์)
อาจารย์สำนักวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย
แรงบันดาลใจในการทำโครงการ “จากที่เคยเรียนเกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อมมา ก็เกิดความประทับใจและอยากเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแม้จะเป็นเพียงหนึ่งกำลัง แต่อย่างน้อยก็อาจช่วยสิ่งแวดล้อมได้”
ที่ผ่านมาการคิด ออกแบบกิจกรรมต่างๆจะมาจากเยาวชน อาจารย์เดียร์จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาหรือแนะนำวิธีการทำงานต่างๆ เช่น การลงไปพูดคุยกับชาวบ้าน อาจารย์ก็แนะนำให้มีเอกสารไปแจกชาวบ้านด้วยเพื่อเป็นการทำให้ชาวบ้านเชื่อว่าสิ่งที่เยาวชนพูด บอกวิธีการเข้าไปพูดคุยกับผู้ใหญ่ว่าเยาวชนต้องรู้ถึงปัญหาของชาวบ้านก่อน แล้วให้ชาวบ้านช่วยกันหาแนวทางการแก้ไขร่วมกัน แทนการที่เยาวชนจะไปบอกว่าควรทำอย่างนั้นอย่างนี้
โครงการหมอกควัน มหัตภัยเงียบ
สภาเด็กและเยาวชนตำบลบ้านดู่ จ.เชียงราย
ผู้ประสานงาน กรกช ไกรสอน (ทีม) โทรศัพท์ 08-2614-0804 อีเมล์ Kraisorn_theme@hotmail.com
กลุ่มเป้าหมาย/พื้นที่ดำเนินการ ชุมชนหมู่ที่ 7 (บ้านโป่งน้ำตก) ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย