โครงการเยาวชนรักษ์ท่าชนะพาน้องเรียนรู้ดูแลป่าพรุ
กลุ่มเยาวชนรักษ์ท่าชนะ โรงเรียนท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี
“ป่าพรุคันธุลี” ป่าทรงคุณค่าทั้งในด้านระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพที่น้อยคนจะเห็นคุณค่าหากแต่ยังมีเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งในโรงเรียนท่าชนะที่ยังคงให้ความสนใจ อยากรู้จัก อยากเข้าใจสิ่งแวดล้อมรอบบ้านตนเองรวมกลุ่มตั้งเป็นชุมนุมขึ้นในโรงเรียน
ปัจจุบันป่าพรุคันธุลีถูกบุกรุกทำลายจากหลายสาเหตุ เช่น บุกรุกเพื่อใช้เป็นที่ดินทำกิน ปลูกปาล์มซึ่งชาวบ้านจะดึงน้ำจากป่าพรุมาใช้รดต้นปาล์ม จากการบุกรุกเข้ามาของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ 100 กว่าไร่ และถูกไฟไหม้อีกประมาณ 300 กว่าไร่ ทำให้จากเดิมที่มีพื้นที่ป่าพรุอยู่ทั้งหมด 875 ไร่ ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงประมาณ 387 ไร่
“ชุมนุมเยาวชนรักษ์ท่าชนะ” เกิดจากเด็กๆ ในโรงเรียนท่าชนะที่มีความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมของอำเภอท่าชนะ และเป็นเพียงชุมนุมเดียวที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของนักเรียนเพื่อขอตั้งชุมชนขึ้นมา เริ่มต้นจากการจัดกิจกรรมต่างๆ กันเอง เช่น ปลูกป่า ไปร่วมกิจกรรมพัฒนาต่างๆ จัดกิจกรรมไปเรียนรู้ตามศูนย์ต่างๆ และถ่ายทอดองค์ความรู้จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง โดยรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 10 มีสมาชิก ตั้งแต่ม.1- ม.6 รวม 80 คน
โครงการเยาวชนรักษ์ท่าชนะพาน้องเรียนรู้ดูแลป่าพรุ
กลุ่มเยาวชนรักษ์ท่าชนะ โรงเรียนท่าชนะ จ.สุราษฎธานี
“ป่าพรุคันธุลี” ป่าทรงคุณค่าทั้งในด้านระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพที่น้อยคนจะเห็นคุณค่าหากแต่ยังมีเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งในโรงเรียนท่าชนะที่ยังคงให้ความสนใจ อยากรู้จัก อยากเข้าใจสิ่งแวดล้อมรอบบ้านตนเองรวมกลุ่มตั้งเป็นชุมนุมขึ้นในโรงเรียน ด้วยความคิดที่ว่า “ธรรมชาติของบ้านเรา ถ้าเราไม่ดูแลรักษาไว้ แล้วใครจะมาดูแลให้เรา”
“พรุ” เป็นคำเรียกชื่อบริเวณที่เป็นลุ่มน้ำขังหรือป่าบึง (Swamp Forest) ของคนปักษ์ใต้ เป็นระบบนิเวศประเภทพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) ที่สำคัญอีกระบบหนึ่งของพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนอย่างประเทศไทย “พรุคันธุลี” เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งอยู่ระหว่างเขตรอยต่อของพื้นที่น้ำจืดกับพื้นที่น้ำกร่อยในเขตตำบลคันธุลี อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นป่าพรุขนาดเล็กที่มีพื้นที่เพียง 875 ไร่ พืชพันธุ์ในพรุคันธุลีมีระบบรากที่แผ่กว้างเพื่อเสริมการทรงตัวของลำต้นที่เรียกว่า “รากค้ำยัน” หรือ “รากช่วยหายใจ” ซึ่งโผล่พ้นระดับผิวดินและผิวน้ำ ผืนดินที่มีอินทรีย์สารที่เกิดจากการทับถมของซากพืชนานๆ จากการสำรวจเบื้องต้นพบพืช 36 ชนิด ปลา 29 ชนิด สัตว์ป่า 98 ชนิด และยังพบหอยทาก 2 ชนิด ที่ไม่มีรายงานพบในประเทศไทยมาก่อน ถือว่าเป็นป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างสูง จากสภาพอากาศของภาคใต้ที่มีฝนตกชุกนานถึง 8 เดือน ประกอบกับพรุคันธุลีมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ จึงสามารถอุ้มน้ำได้จำนวนมาก เป็นพื้นที่รับน้ำในช่วงน้ำหลากโดยวิธีธรรมชาติให้กับคนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการอพยพย้ายถิ่นจากชุมชนใกล้เคียงรวมทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดในภาคกลาง เข้ามาตั้งชุมชนรอบพรุคันธุลี มีอาชีพหลักคือทำการเกษตร เช่น ทำสวนยางพารา ปาล์ม มะพร้าว เงาะ ทุเรียน กาแฟ ลองกอง มังคุด สละ ทำให้ระบบการผลิตของชุมชนต้องอาศัยแหล่งน้ำจากป่าพรุ นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์ทั้งเพื่อการบริโภคในครัวเรือนและเป็นรายได้
ก่อนจะเหลือเพียงตำนาน ป่าพรุคันธุลีอันอุดม
ความอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพของพรุคันธุลีกำลังถูกคุกคาม ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่มีการสัมปทานทำไม้หมอนและไม้ฟืนรถไฟ ในช่วงปี พ.ศ. 2470 - 2495 การเริ่มต้นตั้งชุมชนรอบป่าพรุที่ทำให้เกิดการจับจองเพื่อทำการเกษตรจนเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ ชาวบ้านจึงหันมาขุดบ่อน้ำรอบๆ ชายขอบป่าพรุทำให้เกิดการดูดน้ำป่าพรุมาใช้ในการเกษตร ในปี พ.ศ. 2525 เกิดไฟไหม้พรุคันธุลี สร้างความเสียหายกว่า 50% ที่มิอาจทราบถึงสาเหตุของไฟไหม้ครั้งนี้ได้ อีก 2 ปีต่อมาได้เกิดไฟไหม้อีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ชาวบ้านเชื่อกันว่าเกิดจากการสร้างคลองส่งน้ำเพื่อชลประทานผ่านชายขอบป่าพรุทางด้านตะวันออก ทำให้น้ำในป่าพรุไหลซึมลงคลองส่งน้ำจนป่าพรุแห้งและง่ายต่อการติดไฟ
ปัจจุบันป่าพรุคันธุลีถูกบุกรุกทำลายจากหลายสาเหตุ เช่น บุกรุกเพื่อใช้เป็นที่ดินทำกิน ปลูกปาล์มซึ่งชาวบ้านจะดึงน้ำจากป่าพรุมาใช้รดต้นปาล์ม จากการบุกรุกเข้ามาของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ 100 กว่าไร่ และถูกไฟไหม้อีกประมาณ 300 กว่าไร่ ทำให้จากเดิมที่มีพื้นที่ป่าพรุอยู่ทั้งหมด 875 ไร่ ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงประมาณ 387 ไร่ แบ่งสภาพป่าออกเป็น 3 โซน โซนที่ 1 คือโซนที่สภาพป่าถูกบุกรุกจากชาวบ้านผู้มีอิทธิพลในพื้นที่เข้ามาปลูกปาล์ม ทำให้ยังมีต้นปาล์มเหลืออยู่ โซนที่ 2 เป็นสภาพป่ากำลังฟื้นตัว โดยมีต้นเสม็ดเป็นไม้เบิกนำ และโซนที่ 3 เป็นพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้สภาพป่ายังคงสมบูรณ์ แต่สภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ทั้งด้านความหลากหลายทางชีวภาพและทางกายภาพ น้ำในป่าพรุเริ่มลดน้อยลง ไม้ยืนต้นบางชนิดถูกตัดทำลาย ส่วนไม้ชั้นกลางบางชนิด เช่น หลุมพี เตย หวาย ถูกตัดลำต้นเพียงเพื่อเอาผลหรือใบมาใช้ประโยชน์ สัตว์บางชนิด เช่น ลิงกัง นก ปลาดุกรำพัน(ปลามัด) มีจำนวนลดน้อยลง
จากปัญหาที่เกิดขึ้นทางกลุ่มอนุรักษ์ในจังหวัด ได้พยายามยื่นเรื่องต่อจังหวัดผ่านทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อให้มีการทำแนวเขตพื้นที่ป่า แต่ อบต.ก็ไม่มีศักยภาพเท่าที่ควร จึงมีการร้องเรียนเรื่องนี้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ทำให้ ณ วันนี้ทาง DSI ลงมาดูพื้นที่ นำไปสู่การทำแนวเขตที่ชัดเจนขึ้น
เยาวชนสร้างสรรค์ความคิด เรียนรู้ ดูแลทรัพยากรรอบบ้าน
“ชุมนุมเยาวชนรักษ์ท่าชนะ” เกิดจากเด็กๆ ในโรงเรียนท่าชนะที่มีความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมของอำเภอท่าชนะ และเป็นเพียงชุมนุมเดียวที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของนักเรียนเพื่อขอตั้งชุมชนขึ้นมา เริ่มต้นจากการจัดกิจกรรมต่างๆ กันเอง เช่น ปลูกป่า ไปร่วมกิจกรรมพัฒนาต่างๆ จัดกิจกรรมไปเรียนรู้ตามศูนย์ต่างๆ และถ่ายทอดองค์ความรู้จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง โดยรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 10 มีสมาชิก ตั้งแต่ม.1- ม.6 รวม 80 คน มี เหมียว (วรรณนิภา หนูขวัญ)เป็นประธานชุมนุมและ ฟาง (พิไลวรรณ ภักดีเรือง) เป็นเลขานุการชุมนุม ปัจจุบันชุมชนได้รับการสนับสนุนจากรุ่นพี่ที่จบไปแล้ว เช่น หากมีการจัดค่ายหรือกิจกรรมอื่นๆ ก็จะเข้ามาช่วยเหลือให้คำปรึกษาบ้าง ช่วยทำอาหารบ้าง และมีครูภูมิปัญญาที่คอยให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมที่เด็กๆ ในชุมนุมสนใจเสมอมา นอกจากนี้ยังมีกลุ่มยุวชนสร้างสรรค์ที่คอยเชื่อมประสานและสร้างการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ กับพื้นที่อื่นๆ อีกด้วย จากการทำกิจกรรมที่ผ่านมาทำให้เด็กๆ ในชุมนุมเกิดทักษะการจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของค่ายสิ่งแวดล้อม ที่เด็กๆ สามารถวางแผน จัดการในการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้กับคนอื่นๆ ได้
เยาวชนรักษ์ท่าชนะพาน้อง...เรียนรู้ดูแลป่าพรุ
จากความรู้ที่ถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นจึงพบว่าทรัพยากร น้องๆ รู้สึกว่าตนเองเป็นคนตำบลคันธุลี ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับป่าพรุคันธุลี นั่นหมายถึง “นี่คือป่าพรุของคนที่นี่ ถ้าคนที่นี่ไม่ดูแลไว้แล้วใครจะมาดูแลให้กับคนรุ่นหลัง ให้ได้มาศึกษาเรียนรู้”กลุ่มเยาวชนรักษ์ท่าชนะ จึงมีความสนใจในการดูแลรักษาป่าพรุคันธุลีให้คงสภาพความสมบูรณ์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของกลุ่มเยาวชนและคนทั่วไป รวมถึงการร่วมดูแลรักษาป่าพรุให้คงอยู่อย่างยั่งยืนคู่ชุมชนต่อไปจึงจัดทำโครงการ “พาน้องเรียนรู้ ดูแลป่าพรุ” ขึ้น
เรียนรู้....ให้เข้าใจ...ก่อนถ่ายทอดให้ผู้อื่นดังนั้นกิจกรรมที่กลุ่มเยาวชนเลือกทำเป็นอันดับแรก คือ การสำรวจศึกษาเก็บข้อมูลเกี่ยวกับป่าพรุ เพื่อเก็บข้อมูลสำหรับจัดทำเป็นแหล่งเรียนรู้ ทั้งป้ายชื่อพันธุ์ไม้ อาณาเขตพื้นที่ในทางกายภาพ โดย เหมียว ทำหน้าที่ประสานงานเชิญวิทยากรครูภูมิปัญญาในชุมชน คือ ลุงเจือ (เจือ ศิวายพราหมณ์) และ ลุงโชติ (จันทร์โชติ ภูศิลป์) มาเป็นผู้ให้ความรู้ โดยมีพี่อี๊ด (รัตนา ชูแสง) มาช่วยดูแลเรื่องการเดินทางและให้คำปรึกษา ในครั้งนี้มีแกนนำและสมาชิกชุมนุม เข้าร่วมทั้งหมด 10 คน ซึ่งแต่ละคนมีหน้าที่เก็บข้อมูล จดบันทึก และคอยซักถามจากวิทยากร “กิจกรรมในครั้งนี้เรามีการเดินเก็บข้อมูลในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เป็นระยะทาง 500 เมตร ทำให้ได้รับรู้ข้อมูลในเรื่องของชื่อ ชนิด และประโยชน์ของพันธุ์ไม้แต่ละชนิดว่าชนิดไหนใช้ทำอะไร ชนิดไหนเป็นสมุนไพร ได้รู้ถึงความแตกต่างจากอดีตถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร สภาพพื้นที่จริงๆ เป็นอย่างไร ได้รู้ถึงอายุของต้นไม้ในป่าพรุและสำรวจการดำรงชีวิตของสัตว์และพืชในป่าพรุ” ฟางได้เล่าถึงวิธีการสำรวจ และน้องๆ สมาชิกในกลุ่มบางคนยังเล่าว่า “ถ้าไม่ทำโครงการนี้ก็ไม่มีโอกาสได้เข้ามาในป่าพรุคันธุลีแห่งนี้ ทั้งๆ ที่เป็นคนที่นี่แท้ๆ”
การเข้าป่าพรุเพื่อเก็บข้อมูลในครั้งนี้เข้าไปหลังฝนตก อากาศค่อนข้างชื้น ทางเดินลื่นมาก มีกิ่งไม้ต่างๆ ขวางทางเดินทำให้การเดินสำรวจเป็นไปอย่างยากลำบากพอสมควร อีกทั้งกลุ่มเยาวชนยังเป็นนักเก็บข้อมูลมือใหม่ จึงทำให้เก็บข้อมูลได้ไม่ละเอียดเพราะจดข้อมูลจากวิทยากรไม่ทัน ไม่ได้เตรียมเครื่องบันทึกเสียงไป ในการเดินสำรวจเส้นทางค่อนข้างเล็กและเดินได้เป็นแถวทำให้คนที่อยู่ห่างจากวิทยากร จะไม่ได้ยินเสียงของวิทยากรเลย อีกทั้งเพื่อนสมาชิกส่งเสียงดังอีกด้วย จึงทำให้พวกสัตว์ต่างๆ หนีไป ทำให้พบสัตว์ค่อนข้างน้อย ซึ่งข้อผิดพลาดเหล่านี้กลุ่มเยาวชนก็จะนำมาปรับปรุงในการลงสำรวจครั้งต่อไป
เหมียว เล่าถึงประสบการณ์ครั้งแรกที่เข้ามาในป่าพรุให้ฟังว่า “ครั้งแรกได้ลงไปในป่ารู้สึกว่ามีอะไรสถิตอยู่ในบริเวณนั้น ตอนแรกที่ลงไปก็ได้ยินแต่เสียงโหวกเหวกโวยวาย แต่หนูหยุดและนั่งใต้ต้นไม้สักพักเหมือนได้รับรู้ถึงสิ่งที่สถิตอยู่ในต้นไม้ ขนลุก มันทำให้จิตใจเราสงบมากขึ้นจากที่เครียด และเมื่อเดินไปรอบๆ ก็ได้เห็นสิ่งมีชีวิตมากมายอยู่ในนั้น มีสัตว์ที่อาศัยอยู่ในนั้นมี 90 กว่าชนิด แต่ตอนนี้สูญพันธุ์ไปเยอะเพราะป่าถูกบุกรุก คิดว่าถ้าคนบุกรุกไปมากกว่านี้ หรือเกิดไฟไหม้ สัตว์เหล่านี้จะอยู่ที่ไหน คิดถึงตัวเราถ้ามีคนมาบุกรุกบ้านเรามาเผาบ้านเราแล้วเราจะไปอยู่ยังไง”
นอกจากนี้กลุ่มเยาวชนยังมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลและตรวจวัดปริมาณคาร์บอนในป่าพรุ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากโครงการปลูกใจรักษ์โลกของมูลนิธิกองทุนไทย ที่ให้ พี่บี (สุภาภรณ์ ปันวารี) จากศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) มาเป็นวิทยากรในการพาน้องๆสำรวจ ก่อนเริ่มสำรวจพี่บีได้ชวนน้องๆ วางแผนการสำรวจ โดยการวางแปลงขนาด 10X10 เมตร จำนวน 5 แปลง เพื่อเก็บข้อมูลความสูง ขนาดเส้นรอบวงของต้นไม้ ดูชั้นเรือนยอด พืชคุลมดิน สัตว์และพันธุ์พืชที่พบในบริเวณแปลงสำรวจ หลังจากนั้นจะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อประเมินสภาพป่าและคำนวณหาปริมาณการดูดซับคาร์บอน “จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ทำให้เราได้ข้อมูลในเรื่อง ของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ทราบถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าโดยดูจากชั้นดินและเรือนยอด และทราบถึงปริมาณการดูดซับคาร์บอน ในป่าพรุว่ามีค่าเท่าไหร่”หนึ่งในสมาชิกทีมสำรวจสะท้อนให้ฟัง
พี่อี๊ด พี่เลี้ยงในพื้นที่เล่าให้ฟังว่า “รุ่นนี้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน อย่างการวัดปริมาณการกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ การทำแปลงสำรวจความอุดมสมบูรณ์ของป่า ซึ่งเดิมที่เคยทำเป็นเรื่องอาหารจากป่าพรุ สำรวจสมุนไพร สัตว์ป่า นก ทำให้ได้ข้อมูลเพื่อทำเส้นทางการเรียนรู้ที่สามารถรู้ได้ว่าจะไปเรียนรู้จุดไหนได้บ้าง เช่น โซนนี้เรียนรู้เรื่องความลึกของน้ำ โซนนี้เรียนรู้เรื่องพันธุ์ไม้ ระดับชั้นดิน ระดับเรือนยอด ซึ่งเด็กๆสามารถเรียนรู้ได้ โดยมีป้ายข้อมูลให้เรียนรู้ และกำลังทำแผ่นพับสื่อความรู้”
เหมียว เสริมถึงการทำกิจกรรมครั้งนี้ว่า “พอได้รู้ว่าต้นไม้ต้นหนึ่งสามารถดูดซับปริมาณคาร์บอนได้เท่าไหร่ ก็ชวนให้คิดถึงหลังบ้าน ที่เมื่อก่อนรกเป็นป่า แล้วพ่อก็ไถ ตัดต้นไม้ออกเพื่อปลูกปาล์ม ถ้ายังไม่ตัดไถออก ต้นไม้ต้นใหญ่ๆ ตรงนั้นจะสามารดูดซับคาร์บอน ได้เท่าไหร่”
ในการลงสำรวจครั้งนี้ มีคนเข้าร่วมกิจกรรมเยอะ จึงทำให้เกิดความชุลมุนขึ้น ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยเพราะมีเถาวัลย์ รากไม้ กิ่งไม้ต่างๆ ทำให้ทำกิจกรรมได้อย่างยากลำบาก อีกทั้งการแต่งตัวของเด็กๆ ก็ไม่พร้อมสำหรับทำกิจกรรมด้วยจึงเกิดความล่าช้าขึ้นในการทำงาน
แม้จะมีอุปสรรคปัญหาสำหรับนักสำรวจมือใหม่อยู่บ้าง แต่ด้วยความตั้งใจ ก็ยังทำให้เด็กๆ ได้ข้อมูลเรื่องระบบนิเวศ เห็นการเปลี่ยนแปลงของป่าพรุจากอดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งสามารถนำมาบอกต่อ นำไปผลิตสื่อต่างๆ เพื่อเผยแพร่ได้
จัดทำแหล่งเรียนรู้...ห้องเรียนธรรมชาติ “พรุคันธุลี” จากการลงพื้นที่และหาข้อมูลเพิ่มเติม เยาวชนแกนนำรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาผลิตสื่อความรู้ต่างๆ เช่น ทำป้ายชื่อพันธุ์ไม้ ป้ายไวนิล สื่อแผ่นพับเพื่อให้ความรู้เรื่องพันธุ์ไม้ สมุนไพร และแผนที่ โดยแบ่งบทบาทหน้าที่กันในทีมออกเป็น ฝ่ายอุปกรณ์ ฝ่ายข้อมูล และฝ่ายปฏิบัติลงมือทำป้าย งานนี้ได้ ครูเก่ง ครูศิลปะของโรงเรียนมาช่วยดูแลด้วยอีกแรง นอกจากนี้ยังมีลุงโชติและลุงเจือ ที่ยังมาคอยดูแลให้ข้อมูลอีกด้วย
แต่เนื่องจากแกนนำและสมาชิกบางคนติดเรียนพิเศษทำให้ขาดกำลังคน อีกทั้งสมาชิกซึ่งล้วนแต่เป็นผู้หญิงไม่ถนัดงานช่าง เช่น งานเลื่อยไม้ทำให้เกิดอุบัติเหตุโดนเลื่อยบาดจากความไม่ระมัดระวังบ้าง และจากการหาข้อมูลเพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ตทำให้ได้ชื่อพันธุ์ไม้เพิ่มขึ้นมา ซึ่งบางชนิดไม่ได้มีอยู่ในพื้นที่ ทำให้ป้ายที่ทำมาเหลือ “จากประสบการณ์นี้ทำให้เด็กๆ เรียนรู้และเข้าใจความสำคัญของการลงพื้นที่สำรวจมากขึ้น ว่าการเก็บข้อมูลควรมีทั้งจากผู้รู้ แหล่งความรู้ต่างๆ ซึ่งทั้งหมดต้องสัมพันธ์กับข้อมูลที่มีอยู่จริงในพื้นที่ด้วย”
เผยแพร่ข้อมูล...สื่อสารทางวิทยุ เยาวชนได้รับโอกาสจากทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดสุราษฎร์ธานี (สวท.) ให้ไปบอกเล่าเรื่องราวของป่าพรุและกิจกรรมที่น้องๆได้ร่วมกันทำ ในระหว่างออกรายการ ด้วยความตื่นเต้น น้องๆ หลายคนเล่าผิดเล่าถูก บวกกับการเตรียมตัวที่ไม่ดี ไม่ได้เตรียมข้อมูลมา จึงทำให้หลายคนพูดตะกุกตะกัก วกไปวนมาบ้าง ฟาง เล่าว่า “การไปออกรายการวิทยุครั้งนี้ได้ฝึกความกล้าแสดงออกมากๆ เพราะตื่นเต้นมากจนพูดไม่ออก นอกจากนี้ยังต้องใช้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอีกด้วย แปลกใจที่เห็นเหมียวทำได้ดี รู้สึกว่าเพื่อนพัฒนาตัวเองขึ้นมาก”การออกรายการวิทยุครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นโอกาสที่เด็กๆ จะได้ประชาสัมพันธ์สิ่งที่เด็กๆ ได้ทำกิจกรรม เพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้กับผู้ฟังซึ่งก็อาจมีหลายคนที่ไม่เคยรู้เรื่องราวของป่าพรุคันธุลีมาก่อน ให้เกิดสนใจ อยากศึกษาขึ้นมาได้
ค่ายพาน้องเรียนรู้ดูแลป่าพรุ จากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลมาสู่การเผยแพร่แก่เยาวชนในพื้นที่โดยรอบ ผ่านกระบวนการค่ายเรียนรู้ซึ่งเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กได้เข้าไปเรียนรู้ สัมผัสกับของจริงเหมือนที่พี่ๆ แกนนำได้ปฏิบัติมาแล้ว โดยพาน้องๆ 8 โรงเรียนเครือข่าย จำนวน 25 คน มาร่วมเรียนรู้ ศึกษาพันธุ์ไม้ พันธุ์สัตว์ และสมุนไพรในป่าพรุใช้เวลา 2 วัน ซึ่งเยาวชนแกนนำต้องทำหน้าที่ทุกอย่าง ทั้งติดต่อประสานงาน สวัสดิการ เป็นพี่เลี้ยง นำสันทนาการ ในช่วงการเดินสำรวจเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทาง 500 เมตร ก็ต้องคอยให้ความรู้กับน้องๆ ด้วย
กิจกรรมครั้งนี้ทีมงานน้อย เนื่องจากเพื่อนแกนนำไม่ว่าง ทำให้บางคนต้องรับงานเพิ่มขึ้น รู้สึกเหนื่อยเมื่อแกนนำในกลุ่มไม่มาร่วมงานกันครบ ทำให้ขาดกำลังใจ เกิดการประสานงานที่ไม่เข้าใจ การเตรียมงานที่ไม่พร้อม มีความขัดแย้งกัน อีกทั้งสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย มีฝนตกในวันที่ทำกิจกรรม ทำให้ไม่ได้พาเด็กๆ ไปวัดปริมาณการดูดซับคาร์บอน ของต้นไม้ในป่าพรุ
เหมียว เล่าให้ฟังว่า “กิจกรรมครั้งนี้ต้องทำเองทั้งหมด ซึ่งต่างกับกิจกรรมที่ผ่านมา ทำให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เพราะต้องรับผิดชอบหลายๆ อย่างมากขึ้น”
การเรียนรู้ของเด็กๆ จากการลงมือทำ ทั้งการประสานงาน วางแผนกิจกรรม การนำกระบวนการเรียนรู้ เป็นประสบการณ์ที่มีค่าที่จะเติบโตในการสร้างสรรค์กิจกรรมในการดูแลทรัพยากรรอบบ้านตนเองสำหรับข้อมูลที่ได้มาคงจะสูญเปล่าหากไม่มีการเผยแพร่ หรือบอกต่อ ซึ่งเด็กๆ ได้ต่อยอดความรู้ที่มีในการเผยแพร่แก่เยาวชนในพื้นที่ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เห็นความสำคัญ เพื่อจะเกิดแนวร่วมในการอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรของบ้านเกิดต่อไป
พลังหนุนเสริมการเรียนรู้...เสียงสะท้อนจากพื้นที่
การสร้างการเรียนรู้ให้กับเยาวชนจำเป็นต้องมีทั้งโอกาส ความรู้ คำแนะนำ ให้เด็กได้ทดลอง พาเด็กๆ คิดวิเคราะห์ เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการเรียนรู้ของเยาวชนทั้งสิน การเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่สามารถแยกขาดจากชุมชนได้ โดยเฉพาะป่าพรุคันธุลีที่มีชุมชนอาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำกินอยู่โดยรอบ การดึงชุมชนเข้ามาให้ความรู้กับเยาวชนในฐานะครูภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้งในเรื่องพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และประวัติศาสตร์การดำรงอยู่ร่วมกันของชุมชนและป่า จึงเป็นส่วนช่วยสร้างความเข้าใจให้กับเยาวชนเป็นอย่างดี ซึ่งเด็กๆ ได้รับโอกาสความรู้จากลุงเจือและลุงโชติในการพาเด็กๆ เรียนรู้เป็นอย่างดี
ลุงเจือหนึ่งในแกนนำ กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมภูเขาคันธุลี เล่าให้ฟังถึงการหนุนเสริมกิจกรรมของกลุ่มเยาวชนว่า “ได้เข้ามาช่วยชมรมเยาวชนรักษ์ท่าชนะในเรื่องชื่อพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ เรื่องระบบนิเวศ ลุงรู้สึกภูมิใจที่ได้มาให้ความรู้กับเด็กๆ และได้ร่วมทำกับชุมนุมเยาวชนรักษ์ท่าชนะ ถ้าหากไม่มีการถ่ายทอดรุ่นต่อรุ่น ต่อไปธรรมชาติคงหายไปหมด จะไม่มีคนสืบสาน ลุงอยากให้หน่วยงานต่างๆ เห็นความสำคัญของทรัพยากรในท้องถิ่นมากกว่านี้ ทุกวันนี้สิ่งที่ทำอยู่ ชาวบ้านต้องพึ่งตนเอง ปัจจุบันคนที่รุกล้ำเริ่มไม่ค่อยกล้กเพราะชุมชนเริ่มตื่นตัว หากเราไม่ปลุกกระแสให้เยาวชนรัก มันก็ไม่มีประโยชน์ เป็นการสร้างแนวร่วมจึงจะเกิดพลัง การที่เด็กๆ ไปสะท้อนปัญหากับผู้ใหญ่ทำให้ผู้ใหญ่หันมาคิดว่าเยาวชนยังเห็นความสำคัญของป่าพรุ จึงเป็นผลทำให้ขอคืนพื้นที่ป่าพรุกลับมาได้ทั้งหมด อันที่จริงถ้าเราไม่ทำลายเพิ่ม ปล่อยไว้ 3-4 ปี มันก็จะกลับมาเอง ไม่ต้องไปเสียแรงปลูกหรอก”
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มยุวชนสร้างสรรค์เป็นอีกหนึ่งภาคีเครือข่ายที่ลงมาทำงานร่วมกับชุมชนเยาวชนรักษ์ท่าชนะมาประมาณ 5 ปี ในเรื่องหลักสูตรท้องถิ่น โดยใช้ฐานทรัพยากรในการออกแบบเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูกับเด็กและครูภูมิปัญญา พี่อี๊ดเล่าให้ฟังว่า “เราเน้นใช้ฐานทรัพยากรในพื้นที่เป็นตัวออกแบบปฏิบัติการ เช่น ป่าพรุ อ่าว ป่าเขา มี โดยเด็กๆ แต่ละรุ่นก็จะมีความสนใจที่ต่างกัน กลุ่มยุวชนสร้างสรรค์จะเข้ามาหนุนเสริมในเรื่องการถอดบทเรียนและสรุปข้อมูล กิจกรรม การทำงานทักษะกระบวนการคิด และงานเขียนเพื่อการสื่อสาร โดยมีอาจารย์ลงมาสอน ให้เขียนผ่านสื่อที่เด็กๆ สนใจ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้เครือข่ายของทางกลุ่มยุวชนสร้างสรรค์มาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และชวนชุมชนรักษ์ท่าชนะทำกิจกรรมร่วมกัน”
การทำกิจกรรมของชุมนุมรักษ์ท่าชนะจะทำกับเยาวชนที่อยู่รอบป่าพรุคันธุลี ย่อมส่งผลกระทบต่อชุมชนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม พี่อี๊ด เล่าถึงผลกระทบกับชุมชนให้เราฟังว่า “ชุมชนมองว่ากลุ่มยุวชนสร้างสรรค์มาชวนเด็กๆ เข้าป่าทำให้เด็กไม่ค่อยไปเรียนหนังสือ มาปลุกระดมเด็กๆ ให้ต่อต้านกลุ่มชาวบ้านที่มีอิทธิพลในพื้นที่ ทำให้เกิดความไม่พอใจและมีปัญหากับผู้ปกครอง ครูภูมิปัญญาและชาวบ้านบางส่วนที่เข้าใจจะช่วยเข้าไปทำความเข้าใจกับผู้ใหญ่หรือชาวบ้านคนอื่นๆ ว่าสิ่งที่เด็กๆ ทำอยู่เป็นส่วนหนึ่งของการเรียน เพราะเด็กๆ ได้ลงพื้นที่ เก็บข้อมูล โดยมีโรงเรียนรับรองว่านี่คือผลส่วนหนึ่งของการเรียน ซึ่งครูก็นำสิ่งเหล่านี้ไปแปรเป็นคะแนนทำให้เด็กๆ ได้ทั้งการเรียนและได้ทำกิจกรรมที่สนใจด้วย”
ลุงเจือเสริมถึงผลของการทำกิจกรรมของเด็กๆ ให้ฟังว่า “จากที่ชุมชนไม่รู้ว่าทรัพยากรต่างๆ จะหมดไป เมื่อเยาวชนลงไปพูดคุยเป็นการไปกระตุ้นผู้ใหญ่ ให้คืนป่ามาให้เด็ก เมื่อเด็กลงไปเห็นของจริง เห็นต้นไม้ถูกตัดก็จะได้รู้ว่าทรัพยากรในบ้านเรากำลังถูกทำลาย แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อจะทวงคืนกลับมา สิ่งที่เด็กสะท้อนก็จะกลับไปถึงผู้นำท้องถิ่นทำให้ผู้นำต้องกระตือรือร้นให้ช่วยกันฟื้นคืนกลับมา”
การเรียนรู้ของเยาวชนไม่ควรจำกัดอยู่เพียงในห้องเรียน แม้จะบอกว่าสามารถหาข้อมูลได้จากอินเตอร์เน็ต แต่ในการเรียนรู้ของชุมนุมเยาวชนรักษ์ท่าชนะเป็นการเรียนรู้ที่ต้องลงมือปฏิบัติและเรียนรู้ผ่านองค์ความรู้ของชุมชน เป็นการประสานการเรียนรู้ที่เกิดจากความสนใจของเยาวชน โดยมีโรงเรียน ชุมชน ครูภูมิปัญญา และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ร่วมมือกัน ส่งเสริมให้เด็กๆ เกิดการเรียนรู้ที่มีระบบ อิงกับทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น เป็นหลักสูตรท้องถิ่นที่ทำให้เด็กๆ ไม่ลืมรากฐานของชุมชนตนเอง เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่จะดูแลหวงแหนทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเอง
เยาวชนเรียนรู้ เยาวชนพัฒนา จากการทำกิจกรรมในโครงการทำให้ได้ฝึกการทำงานร่วมกันของสมาชิกในชุมนุม ได้ทำงานกับชุมชนและวิทยากรจากที่ต่างๆ ได้ฝึกการเก็บข้อมูล น้องๆ รู้จักเปิดใจเรียนรู้สิ่งต่างๆ ทำให้ได้ความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน เกิดความเข้าใจและรู้จักกับป่าพรุคันธุลีมากขึ้น ซึ่งตลอดการทำงานน้องๆ ต้องฝึกแบ่งเวลา ทั้งเวลาในการเรียนและการทำกิจกรรม นอกจากนี้ยังได้ฝึกการคิดกระบวนการที่ทำให้น้องๆ เยาวชนจากโรงเรียนรอบๆ สนใจมาเป็นนักอนุรักษ์ตัวน้อยกับพวกเขา ซึ่งเกิดจากการใช้ทักษะการสื่อสารที่ชัดเจนขึ้น จากความรู้ที่ได้ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตได้ ทำให้รู้จักใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้มากยิ่งขึ้น เกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำ เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ทรัพยากร อย่างเช่น การลดการใช้ถุงพลาสติก
เยาวชนเรียนรู้ ชุมชนพัฒนาน้องๆ ได้นำข้อมูลระบบนิเวศป่าพรุไปจัดทำแหล่งเรียนรู้ เพื่อเป็นสื่อให้น้องๆ รุ่นต่อไปได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรชุมชนประกอบกับเมื่อครั้งที่ DSI ลงพื้นที่ยิ่งทำให้ชาวบ้านมีความเข้าใจในการทำกิจกรรมของเยาวชนมากขึ้น และเกิดความสนใจในการร่วมดูแลและให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์ป่าพรุคันธุลีมากขึ้น
เยาวชนเรียนรู้ สิ่งแวดล้อมพัฒนาจากการที่เด็กๆ ลงพื้นที่ทำกิจกรรม สำรวจศึกษาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องพบว่าพื้นที่ป่ามีการฟื้นตัวมากขึ้น ปลาดุกรำพันซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าพรุ จาก 3 ปีที่แล้วพบน้อยมาก แต่ 2 ปีมานี้ มีปริมาณเพิ่มขึ้น การให้คุณค่าป่าพรุของชาวบ้านจากเดิมที่ให้คุณค่าเป็นแหล่งน้ำ แหล่งหาของป่า ได้ถูกเพิ่มคุณค่าในฐานะแหล่งเรียนรู้ของลูกหลาน เด็กนักเรียนและผู้สนใจ สามารถมาศึกษาหาความรู้ เพื่อความเข้าใจในทรัพยากรของท้องถิ่นอันทรงคุณค่า อีกทั้งข้อมูลป่าพรุที่เด็กสำรวจได้ส่งต่อให้ DSI เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประกอบกำหนดแนวเขตพื้นที่ป่าอีกด้วย
การเรียนรู้ เป็นตัวช่วยสร้างความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การดูแลและพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยอาศัยองค์ความรู้ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ดูแลพื้นที่ป่าอันทรงคุณค่าอย่างถูกวิธี อีกทั้งยังสามารถบอกต่อข้อมูล ความสำคัญทั้งต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้แก่ผู้สนใจ อย่างภาคภูมิใจในฐานะป่าพรุของคนตำบลคันธุลี
แกนนำเยาวชนกลุ่มรักษ์ท่าชนะ
วรรณนิภา หนูขวัญ (เหมียว) กำลังศึกษาชั้น ม. 5 โรงเรียนท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ทำหน้าที่เป็นประธานชุมนุมรักษ์ท่าชนะ มีประสบการณ์สามารถจัดค่ายและวางแผนการทำงานในการจัดค่ายได้
แรงบันดาลใจในการทำโครงการ “จากที่ได้ทำกิจกรรมกับชุมนุมอย่างต่อเนื่องมาตลอด ทำให้ได้เห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในชุมชน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จึงสนใจอยากจะเรียนรู้การจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในชุมชนตนเอง เพื่อการรู้จักที่จะอยู่ร่วมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชนให้คงอยู่ยั่งยืนต่อไป อยากให้เยาวชนชาวบ้านรอบป่าพรุช่วยกันอนุรักษ์ผืนป่าแห่งนี้ไว้”
นอกจากนั้นเหมียวยังเล่าถึงสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากทำโครงการ ว่า “ความเชื่อที่มีเริ่มเปลี่ยนไป”แต่เดิมไม่ได้สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก่อนเข้าชุมนุมนี้เพราะชุมนุมอื่นเต็ม อ่านข้อมูลสิ่งแวดล้อมก็อ่านผ่านๆ ไม่ได้สนใจมาก ช่วงแรกเข้าไปทำกิจกรรมก็เหนื่อยก็ร้อน ไม่ได้สนุก แต่พอทำไปเรื่อยๆ เริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้แลกกับความเหนื่อยของเรามันคุ้ม ความรู้มันมีค่ามากๆ ยิ่งได้เข้าไปลุยๆ ในป่าซึ่งเราชอบลุยอยู่แล้วกลายเป็นยิ่งสนุก มาถึงตอนนี้แนวคิดจึงเปลี่ยนไป “เรารักที่จะทำ กล้าที่จะอนุรักษ์” มันอยู่ที่จิตใจมากกว่า ถ้าใจไม่รักแม้อาจารย์สั่งเราทำไปก็ไม่ได้อะไรเลย จากการทำงานร่วมกันกับเพื่อนๆ ทักษะความสามารถของเราก็เริ่มเปลี่ยนแปลง จากที่ชอบอยู่คนเดียวไม่พูดจากับใคร เมื่อไปเข้าค่ายเป็นรุ่นน้องมีคนจัดค่ายให้เรา เมื่อเขาบังคับให้เราพูดบังคับให้เรากล้าแสดงออก เราจะโกรธเขาไปเลย แต่เมื่อได้ร่วมกันทำกิจกรรมไป ก็กล้าพูด กล้าแสดงออก อยากรู้อะไรเราก็ถามทำให้จากเป็นคนเงียบๆ กลายเป็นคนเฮฮา กล้าพูดมากกว่าเดิม ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหากับเพื่อนได้ทำงานเป็นหมู่คณะ รู้จักการเก็บข้อมูลได้ดีขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนเก็บข้อมูลไม่เป็น บางครั้งเก็บมาแต่ก็ใช้อะไรไม่ได้เลย แต่เดี๋ยวนี้รู้วิธีที่จะวางแผนในการสำรวจได้แล้ว นอกจากนี้พฤติกรรมก็เปลี่ยนแปลงไปจากคนที่ไม่คิดอะไรมาก คิดว่าป่าพรุเป็นของทุกคนมันไม่ใช่ของเราคนเดียวเราทำคนเดียวแต่คนอื่นๆไม่ทำเราจะทำเพื่ออะไร แต่ตอนนี้แม้คนอื่นไม่ทำเราก็พยายามทำ หาเพื่อนมาทำกับเราค่อยๆ ช่วยกันแก้ปัญหาไปทีละนิด ด้วยเชื่อว่าปัญหาทุกอย่างมีทางแก้เสมอมันอยู่ที่ว่าจะช้าหรือเร็วแต่อย่างไรก็ต้องแก้ไขได้ เป็นคนรักความสะดวกสบายใช้กล่องโฟม ใช้ถุงพลาสติก แต่เมื่อมาทำโครงการได้รู้ว่ากล่องโฟมกว่าจะย่อยสลายก็ต้องใช้เวลานาน เมื่อเราจัดค่ายให้พ่อแม่ช่วยหุงข้าวมา เอาใส่หม้อมา ตักใส่จานกิน