เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2554 โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเพชรบุรี ได้รับรางวัลที่เป็นความภาคภูมิของทุกคนในโรงเรียน นั่นคือได้รับมอบพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครุย จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในฐานะโรงเรียนที่รับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาขับเคลื่อนให้กับครู นักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนได้สัมฤทธิผลจนขณะนี้กลายเป็นต้นแบบหรือแม่ข่ายให้กับโรงเรียนอื่นๆ
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2554 โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี ได้รับรางวัลที่เป็นความภาคภูมิของทุกคนในโรงเรียน นั่นคือ ได้รับมอบพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครุย จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในฐานะโรงเรียนที่รับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาขับเคลื่อนให้กับครู นักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนได้สัมฤทธิผล จนขณะนี้กลายเป็นต้นแบบหรือแม่ข่ายให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ในวันนั้นพวกเรา ผู้บริหาร ตัวแทนคณะครู และนักเรียน ได้เข้าร่วมรับพระบรมรูป ณ ห้องเทเวศร์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยมีท่านดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นประธานมอบพระบรมรูป
หลังจากรับมอบพระบรมรูปมาแล้ว ขณะที่นั่งรถตู้กลับโรงเรียน พวกเราทั้งครูและศิษย์ได้สนทนาพูดคุยกันอย่างมีความสุขในรางวัลที่พวกเราได้ รับ ซึ่งมีเพียง 8 โรงเรียนขั้นพื้นฐานเท่านั้น ที่ได้รับรางวัลนี้ และเมื่อถึงโรงเรียนแล้ว พวกเราทั้งโรงเรียนได้ร่วมกันชื่นชม นักเรียนตัวแทนที่ไปรับมอบออกไปเล่าเรื่องราวให้พี่ๆน้องชาวจุฬาภรณฯ เพชรบุรีทั้งโรงเรียนที่ไม่มีโอกาสไปร่วมงานรับมอบครั้งนี้ได้รับทราบถึง บรรยากาศ ณ ห้องเทเวศร์ ในช่วงภาคกลางคืนที่พวกเราขึ้นไปบนหอประชุมร่วมกัน
เมื่อได้รับมอบพระบรมรูปฯ ผู้บริหารและคณะบุคลากรของโรงเรียนร่วมกันคิด ว่าจะตั้งพระบรมรูปที่ไหนดี ให้เหมาะสมสง่างาม สุดท้ายได้ข้อยุติว่า จะจัดทำเป็นซุ้มประดิษฐานพระบรมรูปด้านหน้าของอาคารสำนักงาน และจะจัดพิธีเปิดซุ้มประดิษฐานในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา การจัดทำซุ้มประดิษฐานพระบรมรูปและการจัดงานในครั้งนั้น มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
- เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ได้รับมอบมาจากสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
- เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราชมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา
- เพื่อใช้เป็นที่ฝึกหัดถวายความเคารพของกุลบุตรกุลธิดา และบุคลากร จนกลายเป็นวัฒนธรรม ของโรงเรียน
ในการจัดทำซุ้มประดิษฐานพระบรมรูปนั้น โรงเรียนใช้หลักความพอเพียงตามคำสอนของพระองค์ท่าน นั่นคือ พอประมาณในศักยภาพของตน ตั้งอยู่เหตุบนเหตุและผล อย่างมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี บนเงื่อนไขของความรู้และคุณธรรม กล่าวคือ
การจัดทำซุ้มใช้ความรู้ความสามารถของบุคลากรของโรงเรียน โดยมี นายจิรธัช อรุณรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานงบประมาณและหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ เป็นผู้ออกแบบซุ้ม ออกแบบตกแต่ง พร้อมทั้งจัดทำพวงระย้าตกแต่ง และมีนายระนอง วัดแก้ว พนักงานขับรถของโรงเรียน ผู้ซึ่งมีฝีมือในงานช่างเป็นผู้สร้างซุ้ม มีนายเชี่ยวชาญ เขียวชอุ่ม คนสวนและนายมาตร ศิริพันธ์ นักการฯ เป็นผู้ช่วยในการทาสีซุ้มประดิษฐาน สำหรับเวลาในการสร้างซุ้มจะใช้เวลาที่นายระนองว่างจากการขับรถให้ผู้บริหาร หรือคณะครูไปราชการ แต่เรามีข้อกำหนดเวลาว่า ซุ้มนี้จะต้องสร้างเสร็จเรียบร้อยภายในเดือนพฤศจิกายน 2554 ซึ่งซุ้มนี้ก็สำเร็จตามกำหนดเวลา
และเมื่อถึงวันทำพิธีเปิดซุ้ม ประดิษฐาน เป็นหน้าที่ของพวกเราชาวจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรีทุกคนที่จะร่วมกันจัดงานให้สมพระเกียรติ โดยพวกเราแบ่งหน้าที่ตามความสามารถและศักยภาพของแต่ละบุคคล นักเรียนทุกห้องทุกระดับชั้น ออกแบบและจัดบอร์ดงานในพระราชกรณียะกิจของพระองค์ท่าน พร้อมคำกล่าวถวายพระพรของแต่ละห้องเรียน โดยครูหัวหน้างานกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน แบ่งหมวดหมู่การจัดบอร์ดให้นักเรียน เพื่อที่จะไม่ได้จัดบอร์ดซ้ำซ้อนกัน ซึ่งมีนักเรียน 22 ห้องเรียน ก็มีบอร์ดความรู้ทั้งหมด 22 บอร์ด การทำงานวันนั้นพวกเราก็ใช้หลักความพอเพียงเป็นหลักคิดในการวางแผนและ ตัดสินใจในการทำงานในแต่ละกลุ่มงานและคณะที่รับผิดชอบ ...ซึ่งผลของงานออกมาเป็นที่น่าพอใจ
นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 รับผิดชอบจัดงานกิจกรรมและนำน้องๆเข้าถวายความเคารพ งานนี้สร้างความภาคภูมิใจให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นอย่างยิ่ง เพราะพวกเขาทราบว่างานเฉลิมฉลอง 84 พรรษา มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และพวกเขาได้รับเกียรติในการจัดกิจกรรมของงานในครั้งนั้น
ในวันนั้นเกิดสิ่งมหัศจรรย์ ที่ติดตรึงใจพวกเรา คือช่วงทำพิธีสงฆ์ ท้องฟ้ามืดครึม ลมพัดเย็นสบาย แต่เมื่อพิธีสงฆ์เสร็จเรียบร้อย ฟ้าก็เปิดสว่าง เป็นที่อัศจรรย์ใจยิ่งนัก
สำหรับความเป็นมาของพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราช นั้น ขอสรุปโดยสังเขป ดังนี้
ด้วยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษา ที่ได้รับการสถาปนาขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยในขณะนั้น พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสให้จัดตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรที่มีส่วน ร่วมในการพัฒนาประเทศขึ้น
เนื่องในวาระครบ 43 ปี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พ.ศ. 2552 และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ อันอเนกอนันต์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อประเทศชาติ แนวพระราชดำรัสล้วนแล้วแต่นำไปสู่การปฏิบัติที่ยังประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ ชาติและพสกนิกรชาวไทย จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จัดสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระบรมรูปดังกล่าว ออกแบบและปั้นโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความตั้งใจอย่างยิ่งในการที่จะสร้างให้มีความพิเศษและสมบูรณ์ที่สุด อาทิ นายสุนทร วิไล จากกรมศิลปากร และยังมีผู้เชี่ยวชาญท่านอื่น ๆ ที่กรุณาเป็นที่ปรึกษา และให้คำแนะนำ เพื่อให้เป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉลองพระองค์ครุยดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และได้ผ่านพิธีมังคลาภิเษก ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งพระบรมรูปหล่อด้วยโลหะสำริดนอก มีความสูง 49 ซ.ม. พระบรมรูปประทับยืน พระหัตถ์ขวาพระราชทานหนังสือ มีตราพระบรมราชโองการ และข้อความบางตอนจากพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของ สถาบัน (วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513) จารึกอยู่บนปกหนังสือ ความว่า
“...ท่านทั้งหลายที่ สำเร็จการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ เป็นผู้ที่เชื่อได้ว่ามีความรู้ ความสามารถสูง จึงเป็นที่หวังของคนไทยทั้งชาติ รวมทั้งข้าพเจ้าด้วย ที่จะได้อาศัยความรู้ ความคิด สติปัญญาและความสามารถในอันที่จะนำพาประเทศชาติให้ก้าวไปสู่ความมั่นคง และความสมบูรณ์พูนสุข...”
ผลที่เกิดขึ้น
- ความภาคภูมิใจของบุคลากร คนออกแบบและสร้างซุ้ม ภาคภูมิใจได้แสดงผลงานเชิงประจักษ์ สร้างสิ่งดีๆ ทิ้งไว้ให้โรงเรียน
- นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสจัดกิจกรรมให้กับโรงเรียน
- ความภาคภูมิใจของโรงเรียนที่ได้รับของมีค่าและได้โอกาสเพิ่มคุณค่า