เป็นกิจกรรมที่โรงเรียนนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปสอดแทรกพร้อมกับบูรณาการทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้เข้ามาไว้ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ที่จัดขึ้นทุกๆ ปี โดยในปี พ.ศ. 2551 ใช้ชื่อว่า “สร้างหลักคิด พิชิตโลกร้อน ใส่ใจเอื้ออาทร ทุกขั้นตอนพอเพียง” ซึ่งเป็นการเรียนนอกห้องเรียนแบบแรลลี่ ที่ให้ 8 กลุ่มสาระสอนไปตามธรรมชาติของแต่ละวิชา เพียงแต่เน้นให้นักเรียนตระหนักเรื่องภาวะโลกร้อน ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง โดยแบ่งกิจกรรม 8สาระการเรียนรู้เป็น 12 ฐานการเรียนรู้ (คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อย่างละ 2 ฐานสาระอื่นๆ อย่างละ 1 ฐาน) และมอบหมายให้รุ่นพี่ ม.6 ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงช่วยอาจารย์ในแต่ละฐาน ให้นักเรียนชั้น ม.5 เป็นหัวหน้าทีมนำน้องๆ (ม.1-ม.4) เข้าฐาน ซึ่งแต่ละกลุ่มจะได้สมุด 1 เล่ม เพื่อบันทึกกิจกรรมการเรียนรู้ในแต่ละฐานว่า ได้เรียนรู้อะไร และประทับใจในเรื่องใด กลุ่มใดเขียนได้ดีที่สุดสมบูรณ์ที่สุดจะได้รับรางวัล โดยมีข้อแม้ว่าเมื่อคณะกรรมการตรวจสมุด สมาชิกในกลุ่มต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่า กลุ่มของตนใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร
ทั้ง 8 กลุ่มสาระจะสอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงพร้อมไปกับการสร้างความตระหนักในภาวะโลกร้อนอย่างง่ายๆ อาทิ วิชาภาษาไทยสอนให้นักเรียนเห่เรือบก ซึ่งเป็นการสืบสานศิลปวัฒนธรรมของคนไทย โดยเฉพาะจังหวัดเพชรบุรีที่มีแม่น้ำเพชรบุรีไหลผ่าน แต่ภายหลังมีการสร้างเขื่อนทำให้การแข่งขันเรือลดน้อยลง จึงประยุกต์เอาเพลงมาเห่กันบนบก ซึ่งเป็นที่มาของการเห่เรือบก โดยมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการไม่ตัดไม้ทำลายป่า
กลุ่มการงานอาชีพ ซึ่งมีชื่อฐานกิจกรรมว่า “การปรุงอาหารโดยไม่ผ่านพลังงาน”เพื่อให้นักเรียนหันมากินผักกันมากขึ้น เกิดทัศนคติที่ดีต่อผักที่มีรสชาติขมเช่นมะระ เมื่อนำมาหั่นบางๆ นำไปแช่น้ำแข็งแล้วให้นักเรียนชิมพบว่า ไม่มีรสขม เกิดความเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อมะระในทางที่ดีขึ้น และนำไปสู่การค้นหาคำตอบว่าเหตุใดความเย็นจึงทำให้รสขมของมะระหมดไปได้ นอกจากนี้ยังมีการนำเครื่องส้มตำ และอุปกรณ์ มาให้นักเรียนปรุงเอง โดยให้สมาชิกในกลุ่มผลัดกันปรุงส้มตำคนละ 1 ครั้ง เช่น คนแรกนำเครื่องปรุงใดก็ได้ใส่ลงไป คนต่อไปวิ่งไปตำ คนถัดมาใส่เครื่องปรุง อีกคนต้องใส่เครื่องปรุงเพิ่มอีกอย่าง จนกระทั่งถึงหน้าที่ของคนตำที่ต้องมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วให้คนสุดท้ายมาชิม แต่คนสุดท้ายไม่มีสิทธิ์แก้ไขรสชาติ ต้องวิ่งกลับไปบอกสมาชิกในกลุ่มคนอื่นมาช่วยแก้ไขรสชาติได้ 1 ครั้ง จากนั้นก็ให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มทุกคนต้องช่วยกันรับประทานส้มตำให้หมด
กิจกรรมตำส้มตำนี้ได้นำไปสู่การสอดแทรกปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยการหยิบยกสถานการณ์จริงเพื่ออธิบายถึงหลักการให้นักเรียนเข้าใจ อาทิ เรื่องการวางแผน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน หากสมาชิกกลุ่มคนที่๑ ได้วางแผนกับเพื่อนๆ ก่อนที่จะหยิบเครื่องปรุงใส่ในครก จะทำให้เกิดความสะดวกสบายต่อคนถัดไป เช่น หากคนแรกใส่น้ำปลาก่อนคนถัดไปที่จะต้องตำจะเกิดความลำบากเพราะน้ำปลาจะกระเด็น หรือหากมีสมาชิกในกลุ่มไม่ทานพริกก็จะได้ทราบก่อนว่าไม่ควรใส่พริกมากเกินไปสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของการคิดอย่างเป็นเหตุผล รอบคอบและความพอดีนั้นยังอยู่ในเรื่องของรสชาติที่ต้องไม่เผ็ดมาก หวานมาก หรือเค็มมากจนเพื่อนคนอื่นๆ รับประทานไม่ได้ อยู่ในเงื่อนไขของความพอประมาณว่าไม่ควรใส่พริกมากเกินไป โดยเอาตนเองเป็นที่ตั้ง ไม่คิดถึงเพื่อนในกลุ่ม ถือว่าไม่มีคุณธรรมเพราะไม่คำนึงถึงผู้อื่นในการทำงานร่วมกัน เป็นต้น