กิจกรรมค่ายภายในโรงเรียนจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 14-16 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 เพื่อปลุกกระแสปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในวงกว้าง โดยมีจุดประสงค์ให้นักเรียนชั้น ม.4 และ ม.5 เป็นแกนนำในการถ่ายทอดความรู้สู่รุ่นน้องต่อไป และมีครูทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง”
กิจกรรมวันแรกเป็นกิจกรรมที่สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งความหมาย และหลักคิด ส่วนกลางคืนจะให้รุ่นพี่ที่เป็นพี่เลี้ยงแสดงละคร เดินตามแนวคิดของพ่อ อยู่อย่างพอเพียง เพื่อตอกย้ำความหมายหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้ชัดเจนมากขึ้น วันต่อมาให้นักเรียนลงมือปฏิบัติผ่านการเรียนรู้จากฐานกิจกรรม 5 ฐานคือ ฐานกัดกระจก ฐานตุ๊กตาป่านศรนารายณ์ ฐานทำเทียนหอม ฐานทำขนมเค้กจากเห็ดเป่าฮื้อ และฐานลงรักปิดทอง
กิจกรรมดังกล่าวทำให้นักเรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น เช่น ฐานกิจกรรมกัดกระจกที่วิทยากรจะมีลายให้นักเรียนเลือกหลายแบบ และนักเรียนแต่ละคนมีเหตุผลในการเลือกลวดลายแตกต่างกันไป บางคนเลือกลายที่ยาก โดยให้เหตุผลว่าสวยดี ชอบ หรือคิดว่าตนเองมีฝีมือพอที่จะทำได้ วิทยากรจะคอยตั้งคำถามให้ผู้เรียนได้คิด ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจด้านปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่อง “เหตุผล”เช่นบางคนเลือกลายที่ไม่ยาก ด้วยเหตุผลเพราะตนเองไม่เก่ง บางคนเลือกลายเล็กๆ วางไว้ตรงมุมของกระจกด้วยเหตุผลว่า หากกัดลายไว้ตรงกลางเมื่อนำไปใช้ส่องหน้า อาจทำให้เห็นหน้าไม่ชัดเจน ล้วนเป็นหลักของเหตุผลที่เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้ว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือหลักคิดและหลักปฏิบัตินั่นเอง แต่หากวิทยากรสังเกตเห็นว่านักเรียนคนใดเลือกลวดลายที่ยาก แต่ไม่สามารถทำสำเร็จ “เพราะไม่มีความพอประมาณ” ก็เป็นโอกาสที่วิทยากรจะตั้งคำถามเพื่อให้นักเรียนหันมาตระหนักในเรื่องความ “มีเหตุผล”
หรือ “ฐานการจักสานจากใบตาล” (จัดในปี พ.ศ. 2550) ซึ่งเป็นวัสดุที่มีอยู่มากจังหวัดเพชรบุรีสามารถนำมาสานเป็นของเล่นจากธรรมชาติได้หลากหลายรูปแบบ อาทิ นก ปลาตะเพียน กุ้ง กบ เป็นต้น เงื่อนไขคือให้ใช้อุปกรณ์ ได้แก่ กรรไกร คัตเตอร์ กับนักเรียนเพียงกลุ่มละ 1 ชิ้น ซึ่งสมาชิกในกลุ่มจะต้องวางแผนแบ่งงานกันให้สามารถกระจายงานกันได้อย่างทั่วถึง และเป็นไปตามความถนัดของแต่ละบุคคล เมื่อนักเรียนปฏิบัติภารกิจเสร็จสิ้น วิทยากรประจำฐานจะทำหน้าที่สรุปโดยการตั้งคำถามถึงเหตุผลในการแบ่งงานของแต่ละคนว่าได้ใช้หลักของความพอประมาณให้เหมาะสมกับศักยภาพของตนเองอย่างไร และมีภูมิคุ้มกันความผิดพลาดของกลุ่มอย่างไร นักเรียนมีความรู้ในการทำงานหรือไม่ ใช้คุณธรรมข้อไหนในการทำงานเป็นต้น
ส่วนการแสดงละครช่วงกลางคืนของรุ่นพี่ ในประเด็น“เดินตามแนวคิดของพ่อ อยู่อย่างพอเพียงนั้นเป็นการตอกย้ำความหมายหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ช่วยให้นักเรียนเกิดความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างเป็นรูปธรรมด้วยวิธีการสื่อสารที่น่าสนใจและยังทำให้นักเรียนชั้นอื่นๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมได้เข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจากการชมการแสดงร่วมกัน ทำให้เกิดกระแสความอยากรู้อยากเข้าใจเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทั้งโรงเรียน
ต่อมาในปีพ.ศ. 2550 โรงเรียนได้มอบหมายให้รุ่นพี่ ม.6 ทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแก่รุ่นน้อง ม.1 และ ม.4 ที่เข้าใหม่
กิจกรรมใน “ค่ายส่งเสริมการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง” มีกิจกรรมดังนี้ ในตอนเช้าของวันศุกร์จะให้รุ่นน้องชมวิดีทัศน์เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อนักเรียนชมจบตอนที่ 1 จะให้นักเรียนบันทึกว่าได้เรียนรู้อะไรจากการชมวีดีทัศน์ประมาณ 3-4 บรรทัด จากนั้นจึงเปิดวีดีทัศน์ต่อ แล้วให้นักเรียนเขียนอีกครั้งว่าได้เรียนรู้อะไร
ในช่วงบ่ายเป็นการเรียนรู้ตามฐานกิจกรรมต่างๆ โดยรุ่นพี่ ม.6 เป็นผู้คิดกิจกรรมแต่ละฐาน วันเสาร์ให้นักเรียนสานใบตาล ตำส้มตำ โดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตอนบ่ายให้น้องออกไปนำเสนอ และวันอาทิตย์จะพาน้องๆ ไปเที่ยวชมสถานที่สำคัญในจังหวัดเพชรบุรี
นางสาวปรีญาภรณ์ อุ่นพิชัย นักเรียนชั้น ม.6 เล่าถึงฐานกิจกรรม “กว้างคูณยาวจะไหวไหมเนี่ย!..” ว่าเป็นตัวอย่างฐานกิจกรรม เพื่อเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ตนและเพื่อนอีก 3 คนช่วยกันออกแบบด้วยการให้น้องที่เวียนกันเข้ามาในฐานเป็นผู้เลือกหนังสือพิมพ์มา 1 แผ่น แล้วให้สมาชิกในกลุ่มของรุ่นน้องทุกคนยืนรวมกันบนแผ่นกระดาษหนังสือพิมพ์ให้ได้โดยหนังสือพิมพ์ต้องไม่ขาด ซึ่งฐานกิจกรรมนี้รุ่นพี่จะให้น้องได้ใช้ความพอประมาณของตนเองว่า สมาชิกในกลุ่มมีเท่าใด และต้องการใช้หนังสือพิมพ์กี่แผ่นจึงจะยืนร่วมกันได้ครบทุกคน ซึ่งบางกลุ่มหยิบหนังสือพิมพ์ 2 แผ่น แล้วสามารถยืนได้หมดทุกคนก็ได้คะแนนไปแม้จะไม่ได้คะแนนเต็ม 10 แต่หากบางกลุ่มไม่มีความพอประมาณ มีสมาชิกหลายคนแต่หยิบหนังสือพิมพ์เพียง 1 แผ่น แต่สุดท้ายแล้วยืนรวมกันได้ไม่ครบ ก็ได้ 0 คะแนนไป เท่ากับว่าฐานนี้จะให้น้องๆ ได้เรียนรู้เรื่องความพอดี พอประมาณ ไม่โลภ เพื่อป้องกันความเสี่ยง ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันก็ได้ อีกอย่างน้องๆ ต้องประเมินกลุ่มของตนเองให้ได้ว่า มีกี่คนและต้องใช้หนังสือพิมพ์ทั้งหมดกี่แผ่นจึงจะยืนได้ และได้คะแนนไปด้วย