จัดทำโดย
นางสาวศรีสุดา โรจน์เสถียร
“หนูใช้เวลาเกือบปี กว่าจะคิดโครงงานที่มีประโยชน์ต่อท้องถิ่นของตัวเองได้ และอีกกว่าครึ่งปีกับความอดทน
ในการออกเดินทางไปเก็บตัวอย่างน้ำ
เพื่อสืบค้นเรื่องราวของแพลงก์ตอนจากแหลมแม่รำพึงไปสู่ป่าพรุแม่รำพึง
และการวิเคราะห์ชนิดของแพลงก์ตอนในห้องทดลอง”
นางสาวศรีสุดา โรจน์เสถียร นักวิจัยรุ่นเยาว์ที่ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักคิดหลักปฏิบัติในการตัดสินใจเลือกหัวข้อและวางแผนทำโครงงานวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานสำคัญอันนำไปสู่การอนุรักษ์ป่าพรุแม่รำพึง แหล่งวางไข่ปลาทูอันขึ้นชื่อของแหลมแม่รำพึงที่ชุมชนบ้านเกิด “ความหลากหลายทางชีวภาพของแพลงก์ตอนพืชที่เป็นอาหารของลูกปลาทู ณ แหลมแม่รำพึง จ.ประจวบคีรีขันธ์” เป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ชิ้นใหญ่ของศรีสุดา เพื่อศึกษาและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างแพลงก์ตอนพืชในป่าพรุแม่รำพึงกับแพลงก์ตอนพืชที่เป็นอาหารของลูกปลาทู |
ศรีสุดาต้องฝังตัวอยู่ภายในห้องชีววิทยาเป็นเวลาครึ่งปี เพื่อใช้กล้องจุลทรรศน์ตรวจหาแพลงก์ตอนพืช ซึ่งเป็นอาหารของตัวอ่อนปลาทูที่เก็บตัวอย่างมาจากป่าพรุแม่รำพึง เธอเล่าว่ากว่าโครงงานจะเป็นรูปเป็นร่างต้องใช้เวลาสืบค้นทั้งจากการอ่านหนังสือ จากการศึกษายังแหล่งเรียนรู้ จากการฟังเรื่องเล่าของคุณป้า ที่เล่าถึงวิถีชีวิตปลาทูว่ามักจะมาวางไข่กันอย่างหนาแน่นภายในแหลมแม่รำพึง แต่ “แพลงก์ตอน” ชนิดใดกันแน่ที่เป็นอาหารของ “ตัวอ่อนปลาทู” ในบริเวณนั้น
นอกจากนี้เธอยังต้องผ่าท้องปลาทูเพื่อตรวจทางเดินหาอาหารของมันเพื่อหาแพลงก์ตอนพืชที่หลงเหลืออยู่ภายใน แล้วนำมาตรวจวิเคราะห์กับแพลงก์ตอนที่เธอเก็บตัวอย่างมาว่าเป็นชนิดเดียวกันหรือไม่
ในที่สุด เมื่อกลางเดือนสิงหาคม ปีพ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา เธอได้ตรวจพบแพลงก์ตอนซึ่งไม่เคยตรวจพบจากที่ไหนมาก่อนชนิดหนึ่ง ด้วยความตื่นเต้นดีใจ เธอจึงไม่รีรอที่จะส่งแพลงก์ตอนชนิดนี้ไปตรวจที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
ทำไมจึงกล้าพูดว่า...แพลงก์ตอนชนิดดังกล่าวไม่เคยตรวจพบจากที่ไหนมาก่อน...?
เธอยืนยันด้วยเสียงหนักแน่นว่า จากการสืบค้นประวัติจากหนังสือเล่มหนาที่เธอมีอยู่ในมือ หรือแม้แต่เอกสารที่เธอได้มาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร จ.นครปฐม ยังไม่มีแพลงก์ตอนลักษณะเช่นนี้ปรากฏอยู่ ซึ่งเธอเชื่อเหลือเกินว่า มันอาจเป็นอาหารลูกปลาทูตามที่เธอกำลังสืบค้นก็เป็นได้
ศรีสุดาเล่าถึงกระบวนการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ว่า เป็นงานค่อนข้างหนักมากสำหรับตนเอง หากไม่ได้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในโครงงานนี้ ชีวิตมัธยมศึกษาตอนปลายของเธออาจสะดุดและไม่ประสบความสำเร็จเลยก็เป็นได้
เธอต้องใช้ทั้งความพยายาม ความอดทน ที่มี “เหตุผล” ของการกระทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามหลักสูตรการเรียนที่จะต้องทำโครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อนำเสนอกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เพื่อขอจบหลักสูตรชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความ “พอประมาณ” ในการแบ่งเวลาระหว่างเรียน เล่น ทำกิจกรรม และการทำโครงงานฯ
เวลาที่เธอใช้ในการทำโครงงานฯ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนแรก คือ การลงพื้นที่ป่าพรุเพื่อเก็บตัวอย่างแพลงก์ตอนพืช เดือนละ 1 ครั้ง โดยเธอเริ่มเก็บตัวอย่างมาตั้งแต่เดือนเมษายน – สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ปลาทูวางไข่ โดยทุกขั้นตอนการทำงาน จะจดบันทึกไว้ในสมุดทุกครั้งเพื่อป้องกันความผิดพลาด
ส่วนที่ 2 คือการทำงานในห้องทดลองที่เธอจะเริ่มงานตั้งแต่ช่วงหลังเลิกเรียน ไปจนถึง 3 ทุ่มของทุกวัน แต่ก็มีบางวันที่เธอยังต้องแบ่งปันห้องและอุปกรณ์ในส่วนนี้ให้กับเพื่อนนักเรียนคนอื่นเข้าใช้ประโยชน์ด้วย เธอจึงเลือกที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยการพกกล้องดิจิตอลถ่ายภาพแพลงก์ตอนจากกล้องจุลทรรศน์เพื่อเก็บไว้ดูในคราวต่อไป
ศรีสุดาให้ “เหตุผล” ว่า ตัวอย่างแพลงก์ตอนที่เก็บมานั้นจะมีอายุเพียง 2-3 วัน ก่อนที่สีของแพลงก์ตอนและน้ำจะเปลี่ยนไป ทำให้ยากต่อการแยกเซลล์ เธอจึงเลือกวิธีนี้ถ่ายภาพเก็บไว้ เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดเวลาได้แล้ว ยังช่วยให้เธอทำงานได้เร็วขึ้น และมีเวลาพอที่จะไปร่วมกิจกรรมอื่นๆ กับเพื่อน หรือทำกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้น ถือเป็น “ภูมิคุ้มกัน” ที่เธอต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่ตลอดเวลาด้วยการคิดวางแผนไว้ล่วงหน้า
ปกติแล้วเธอจะดำเนินชีวิตอย่างเรียบร้อย มีระบบ ระเบียบมาตลอด แต่สิ่งที่เห็นได้ว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนคือเรื่องการเรียนหลังจากที่นำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ก็คือ ก่อนหน้านี้เธอมักจะโหมอ่านหนังสืออย่างหนัก โดยไม่คำนึงถึง “ความพอดี” หรือ “ความพอเหมาะ” กับตัวเอง ทำให้คะแนนสอบบางวิชาของเธอต่ำลง
“หนูเป็นคนทำอะไรสุดโต่งเสมอ มักจะอ่านหนังสือหามรุ่งหามค่ำ ไม่พอดี อ่านไปสมองมันเบลอไม่รับ แต่ก็ยังตะบี้ตะบันอ่าน เรียกว่าอ่านหนังสือเกือบจะตลอดเวลา กระทั่งผลการเรียนออกมาไม่เป็นไปตามคาด ทำให้รู้ว่าวิธีการเรียนเช่นนี้ไม่มีประสิทธิภาพพอ เพราะนอกจากเกรดเฉลี่ยจะไม่ดีแล้ว ยังเสียสุขภาพ เสียเวลา และเหนื่อยโดยเปล่าประโยชน์”
ศรีสุดายืนยันว่าการเรียนให้ดีไม่ใช่แค่อ่านหนังสืออย่างเดียว แต่เรายังมีเรื่องให้ทำอีกมากมาย เช่นเดียวกันกับโครงงานวิทยาศาสตร์ที่เธอยืนยันว่ามีประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในบ้านเกิดของเธอ เพราะวันหนึ่งหากมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นอีกในพื้นที่อำเภอบางสะพาน ก็จะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของชุมชนทั้งทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งจะทำให้วิถีชีวิตของคนในชุมชนเปลี่ยนไปจนไม่อาจฟื้นคืนกลับมาได้ โครงงานชิ้นนี้จึงเป็นผลงานเล็กๆ ที่เธอภูมิใจว่าอาจจะเป็นหลักฐานที่นำสู่การอนุรักษ์ป่าพรุแม่รำพึง ชุมชนบ้านเกิดของเธอ