เพื่อให้การทำงานร่วมกับโรงเรียนเครือข่ายภาคใต้มีประสิทธิภาพขึ้น มูลนิธิสยามกัมมาจลจึงได้แบ่งพื้นที่ขับเคลื่อนโครงการ 4 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วยตรัง กระบี่ นครศรีธรรมราช และพัทลุง และได้เชิญคุณทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) อาจารย์นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ และทีมงาน มาร่วมทำงานกับโรงเรียนในพื้นที่ดังกล่าว
มูลนิธิสยามกัมมาจลร่วมกับทีมงานสรส.ได้จัดให้มีการประชุมผู้บริหารและครูแกนนำขับเคลื่อนโรงเรียนเครือข่ายเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา 4 จังหวัดภาคใต้ขึ้น ในวันพุธที่ 23 พฤษภาคม 2555 ที่โรงเรียนห้วยยอด จังหวัดตรัง เพื่อร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาของแต่ละโรงเรียน และวางบทบาทหน้าที่ในการขับเคลื่อนเครือข่าย ตลอดจนการสนับสนุนโรงเรียน และโรงเรียนเครือข่ายเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว
โรงเรียนเครือข่ายในพื้นที่ดังกล่าวประกอบด้วย 8 โรงเรียน
- โรงเรียนห้วยยอด จ.ตรัง*
- โรงเรียนรัษฎา จ.ตรัง
- โรงเรียนวชิรธรรมสถิต จ.พัทลุง
- โรงเรียนบ้านคลองไคร จ.กระบี่*
- โรงเรียนบ้านคลองยาง จ.กระบี่*
- โรงเรียนบ้านทรายขาว จ.กระบี่
- โรงเรียนบ้านขอนหาด จ.นครศรีธรรมราช
- โรงเรียนวัดโพธิ์ทอง จ.นครศรีธรรมราช
* คือ ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา
23/5/54
คุณทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข ชวนผู้บริหารและครูแกนนำแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงเป้าหมายและทิศทางการทำงานในประเด็นต่างๆ เช่น
- ภาพเป้าหมายปลายทางที่อยากจะเห็น
- ทุนทางสังคมของโรงเรียน
- กลยุทธ์และขั้นตอนการขับเคลื่อน (เห็นหมากทั้งกระดานและเดินหมากอย่างมีกลยุทธ์)
- เรื่องสำคัญๆ ที่ต้องทำเพื่อขับเคลื่อนเป็นศูนย์การเรียนรู้ เช่น
- ผู้บริหาร
- ครู
- นักเรียน (เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการจัดการเรียนรู้)
- วัสดุอุปกรณ์ สื่อ สถานที่
- แหล่งเรียนรู้ (ภายในและนอกโรงเรียน) ต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าแหล่งเรียนรู้จะฝึกเด็กเรื่องอะไร
- คณะกรรมการสถานศึกษา
- ชุมชน
- สิ่งที่โรงเรียนทำได้เอง
- สิ่งที่อยากให้มูลนิธิสนับสนุน
สรุปความเห็นของผู้บริหารโรงเรียนเพื่อพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ฯ
สิ่งที่โรงเรียนควรทำให้เกิดขึ้น
- ผู้บริหารให้ความสำคัญ และสามารถสร้างบรรยากาศสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้
- ครูตระหนักถึงความสำคัญของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระเพิ่ม และนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน
- ผู้บริหารและครูเป็นแบบอย่างแก่นักเรียนได้
- บุคลากรในโรงเรียนเกิดการเรียนรู้และเกิดอุปนิสัยพอเพียงก่อนให้คนอื่นมาเรียนรู้ เพื่อสามารถสื่อความให้ผู้มาเรียนรู้ดูงานเข้าใจและนำไปปรับใช้ต่อได้
- มีทีมหรือแกนนำขับเคลื่อน และสามารถขยายผลภายในและภายนอกโรงเรียนได้
- นักเรียนได้รับการบ่มเพาะจนเกิดเป็นนิสัย เพราะปัจจุบันนักเรียนมีพฤติกรรมที่โรงเรียนและที่บ้านต่างกัน นักเรียนเรียนรู้แต่ไม่นำกลับไปใช้ที่บ้าน
- เครือข่ายขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคใต้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่โรงเรียนทำได้เอง
- สนับสนุนการพัฒนาครู เช่น ส่งครูไปเรียนรู้การออกแบบแผนการสอนที่กระทรวงศึกษาจัด/จากศูนย์การเรียนรู้ฯ แล้วให้ครูช่วยกันพัฒนาการออกแบบการเรียนรู้ของตนเอง
- จัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจหลักปรัชญาฯ ให้นักเรียน เช่น จัดเวทีถอดบทเรียนนักเรียนผ่านการทำโครงงานจิตอาสา โดยทำความเข้าใจกับผู้ปกครองก่อน
- พัฒนาแหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียน
- สร้างเครือข่ายขยายผลสู่ชุมชน
สิ่งที่ต้องการสนับสนุนจากมูลนิธิ/ต้นสังกัด
- ทีมวิทยากรสรส.จัดอบรมครูในโรงเรียนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจครู และกระตุ้นให้ครูออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่เสริมสร้างอุปนิสัยพอเพียงแก่นักเรียน
- จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และสร้างเครือข่ายของภาคใต้
- ต้นสังกัดให้ความสำคัญและเข้ามาดูแลโรงเรียนมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ศึกษานิเทศก์ที่เข้ามาช่วยด้านวิชาการ
- สิ่งสำคัญต้องเริ่มจากความอยากรู้ของเด็กเอง ไม่ใช่ครูเคี่ยวเข็ญให้เด็กทำ เพราะถ้าเด็กไม่สนใจอยากรู้เอง เด็กก็จะไม่รับผิดชอบงาน
- เมื่อเด็กลงมือทำ สมรรถนะสำคัญ 5 ด้านที่กระทรวงกำหนดไว้จะเกิดได้ แต่ครูต้องออกแบบกิจกรรมที่สอดแทรกเข้าไป
- ครูต้องคลี่ให้ได้ว่า แต่ละขั้นตอนในการทำโครงงาน เด็กใช้เศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร
- ครูทำวิจัยในชั้นเรียน เพื่อเห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนักเรียน แล้วปรับปรุงเพิ่มขึ้น ยกระดับความรู้ พัฒนาต่อยอดการจัดการเรียนรู้ให้ดีขึ้น
ทั้งนี้ ครูต้องมีความชัดเจนว่าคุณลักษณะนิสัยพอเพียงเป็นอย่างไร แล้วให้เด็กเลือกว่าจากนิสัยที่ไม่ดีของตัวเอง เด็กอยากปรับเปลี่ยนนิสัยอะไร และเด็กควรเข้าฐานอะไรหรือใช้โครงงานอะไรเพื่อฝึกให้เกิดนิสัยนั้นๆ
โครงการจะขับเคลื่อนเครือข่ายเชิงพื้นที่ เป็น 3 เครือข่าย
- กระบี่ มี 3 โรงเรียน (บ้านคลองไคร บ้านคลองยาง และบ้านทรายขาว)
- นครศรีธรรมราช มี 2 โรงเรียน (บ้านขอนหาด และวัดโพธิ์ทอง)
- ตรังและพัทลุง มี 3 โรงเรียน (ห้วยยอด รัษฎา วชิรธรรมสถิต)
โดยแบ่งบทบาท ดังนี้
- ทีม สรส.จะเป็นวิทยากรจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
- ทีมโรงเรียนห้วยยอด นำโดยอ.สุทธิรัตน์ เสนีย์ชัย จะช่วยเรื่องการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการควบคู่กับการทำโครงงาน
- ทีมโรงเรียนห้วยยอด นำโดยอ.จรวยพรรณ เย่าเฉื้อง จะช่วยเรื่องการเขียนแผนการสอนของครู
การทำแผนการพัฒนาร่วมกับโรงเรียนเครือข่าย (กำหนดภาพความสำเร็จที่อยากเห็น ตัวชี้วัดความสำเร็จ วิธีการขั้นตอน ระยะเวลา งบประมาณ ผู้รับผิดชอบ)
- ผู้บริหารต้องมีแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนว่าต้องทำอะไรบ้าง (สรส.เสนอให้ผู้บริหารทำวิจัย/เก็บข้อมูลหลักฐานเป็นร่องรอย เพื่อให้การอธิบายน่าเชื่อถือ ทีมเสริมจะช่วยแนะนำประเด็นได้)
- ผู้บริหารต้องทำความเข้าใจกับครูว่าการทำงานนี้ไม่เป็นภาระ แต่เป็นการต่อยอดสิ่งที่ทำอยู่แล้ว ผู้บริหารดูว่าทีมครูควรมีกี่คน ผู้บริหารทำให้ครูเห็นว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องนอกตัว
- ครูควรมีกลุ่มเป้าหมายว่าจะทำโครงงานกับนักเรียนกลุ่มไหน ครูควรจะมาเล่าให้ฟังเป็นรายโครงการ (อาจเป็นครูทำคนเดียวหรือทำร่วมกับหลายคน) ลงปฏิทินการเข้าประชุม ทุกครั้งต้องมีความก้าวหน้า ผู้บริหารต้องเอื้อเวลาให้ครูพัฒนาการสอนและมาเข้าร่วมประชุม
- จัดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประมาณ 4 ครั้ง โดยแยกวงผู้บริหารและครู (ผู้บริหารมีโจทย์แลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้เศรษฐกิจพอเพียงในการบริหารจัดการ การเป็นคุณอำนวยในการจัดวงคุยกับครู ว่าครูใช้เศรษฐกิจพอเพียงในชีวิตและงานอย่างไร เพื่อให้เห็นสภาพความจริง และดึงศักยภาพครูออกมา) ครูมีใจต่อเด็กหรือไม่ อย่างไร อะไรเป็นจุดติดขัดของครู ครูสอนเด็กอย่างไร และควรต้องมีการปรับอย่างไร
- ทีมงานเป็นเพียงผู้จัดกระบวนการ ความสำเร็จขึ้นอยู่กับผู้บริหารและครูที่เป็นผู้ทำเอง โดยผอ เป็นผู้กำกับติดตาม