อบรมเชิงปฏิบัติการเสริมศักยภาพ ครูแกนนำ ภาคกลาง เพื่อพัฒนาศักยภาพครูให้มีความรู้ความเข้าใจ ในการออกแบบการเรียนการสอนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดย ทีมวิทยากรจากมหาวิทยาลัยมหิดล
“โครงการเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา” เป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และมูลนิธิสยามกัมมาจล เพื่อสนับสนุนให้สถานศึกษาพอเพียงได้พัฒนาตนเองเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา” และมีความพร้อมที่จะเป็นแกนนำสำคัญในการขยายผลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่โรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศ ตามยุทธศาสตร์หลักของกระทรวงศึกษาธิการ
ดังนั้น มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเป็นผู้ดำเนินการสนับสนุนด้านวิชาการและการจัดกระบวนการเสริมศักยภาพให้กับครูแกนนำของโรงเรียนในภาคกลาง ระหว่างวันที่ 16-18 ตุลาคม 2554 ณ ณ โรงแรม เอส.ดี.อเวนิว ถนนบรมราชชนนี กรุงเทพมหานคร มีจำนวนโรงเรียนที่เข้าร่วมทั้งหมด 9 โรงเรียน มีครูแกนนำเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 90 คน ซึ่งดำเนินกระบวนการโดยทีมวิทยากรจากมหาวิทยาลัยมหิดล
วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการออกแบบการเรียนรู้ในสถานศึกษาภาคกลาง ดังนี้
1. เพื่อเสริมสร้างครูแกนนำในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน
2. เพื่อให้ครูแกนนำในโรงเรียนมีความรู้ความเข้าใจและความสามารถออกแบบกิจกรรมในการเรียนรู้เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในแต่ละกลุ่มสาระและกิจกรรม
3. เพื่อปรับมโนทัศน์ของการจัดการเรียนรู้เรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เข้าถึงนักเรียน
16/10/54 | |
|
17/10/54 | |
|
18/10/54 | |
|
ผลที่ได้รับจากการอบรมเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาภาคกลาง
- บรรยายพิเศษ ปรับมโนทัศน์แนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของครูตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผู้เข้าร่วมอบรมมีความรู้ความเข้าใจในบทบาทของครูแกนนำ ในการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปบูรณาการออกแบบหน่วยการเรียนรู้ในสถานศึกษาให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน และสามารถถ่ายทอดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ตัวผู้เรียนได้อย่างเหมาะสมตามช่วงวัยในแต่ละช่วงชั้น โดยไม่มุ่งเน้นการสร้างฐานเรียนรู้แบบต่างๆ อาทิเช่น ฐานด้านการเกษตร การออมทรัพย์ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็น "หลุมดำ" ของการดำเนินงานโครงการ
- กิจกรรมเล่นเกมส์ผู้นำพอเพียง (The Leader) ครูแกนนำในแต่ละโรงเรียนที่ได้เข้าร่วมอบรม มีความรู้และเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น นอกจากนี้ยังส่งเสริมทำให้เกิดการทำงานเป็นทีม การเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี มีเหตุผล รู้จักช่วยเหลือแบ่งปันซึ่งกันและกัน เพื่อทำให้ภาระกิจต่างๆ บรรลุเป้าหมาย
- กิจกรรมสานสัมพันธ์มุ่งมั่นสู่ศูนย์การเรียนรู้พอเพียง (จิตปัญญา) Deep listening, Get together สร้างความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดการผ่อนคลาย ทลายกำแพงระหว่างบุคคลให้เกิดการเปิดใจเปิดกายเตรียมพร้อมที่จะรับการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้เกิดแนวคิดในการสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข
- ตลาดนัดความรู้ ครูแกนนำแต่ละกลุ่มสาระและกิจกรรมจากโรงเรียนต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการจัดการการออกแบบการเรียนการสอนร่วมกัน ตลอดจนขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน และได้เรียนรู้ถึงบริบทของโรงเรียนต่างๆ ต้นทุนที่ส่งเสริมและสนับสนุน กระบวนการ ปัญหาและอุปสรรค และการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน และได้เรียนรู้จากเรื่องเล่าเด่นๆ ของกลุ่มสาระหรือกิจกรรมในแต่ละโรงเรียน
- กิจกรรมการออกแบบการเรียนรู้เชิงบูรณาการตามกลุ่มสาระและกิจกรรมครูแกนนำแต่กลุ่มสาระหรือกิจกรรมสามารถเข้าใจและออกแบบการเรียนรู้ตามแผนการสอนโดยใช้แนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
- กิจกรรมการออกแบบหน่วยการเรียนการสอนเชิงบูรณาการของแต่ละโรงเรียน แต่ละโรงเรียนมีความเข้าใจและสามารถออกแบบหน่วยการเรียนการสอนเชิงบูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน และได้โครงงานตัวอย่างในการออกแบบหน่วยการเรียนรู้ เพื่อทำให้เด็กเกิดกระบวนการคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงรายวิชาต่างๆ ได้
- กิจกรรมการนำเสนอแผนการเรียนการสอนแบบบูรณาการตามกลุ่มสาระ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะร่วมกันระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิและครูแกนนำแต่ละโรงเรียน เพื่อพัฒนาแผนการเรียนการสอนแบบบูรณาการในโครงงานตัวอย่างให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างความสำเร็จ
กลุ่มสาระศิลปะ
ครูผู้สอนกลุ่มสาระวิชาศิลปะให้คำนิยามของการเรียนการสอนวิชาศิลปะตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไว้ว่า คือ การจัดการเรียนการสอนให้ครูและนักเรียนเรียนรู้วิชาศิลปะอย่างมีความสุข โดยอาจมีการตั้งคำถามในการเรียนรู้ร่วมกันจากสถานการณ์จริงในชีวิตประจำวัน เหตุการณ์สมมุติ และการจำลองสถานการณ์ เพื่อให้นักเรียนคิดวิเคราะห์ในสิ่งเรียนรู้ว่าตนเองมีความรู้เดิมอย่างไร และต้องการที่จะเรียนรู้เรื่องอะไร หรือมีอะไรที่ต้องค้นคว้าเพิ่มเติมอีก ซึ่งศิลปกรรมการออกแบบหน่วยการเรียนรู้กลุ่มวิชาศิลปะตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายหลังจากการได้รับการฝึกอบรมสามารถดำเนินการได้ ดังนี้
- การออกแบบหน่วยการเรียนวิชาศิลปะโดยการใช้ Backward Design
- การออกแบบหน่วยการเรียนวิชาศิลปะแบบ Project Based Learning (PBL)
- การประเมินผลการเรียนรู้แบบ Project Based Learning (PBL)
- การสรุปหรือการถอดบทเรียนหลังการเรียนรู้ Reflection
โดยครั้งนี้ในกลุ่มสาระวิชาศิลปะมีครูแกนนำ ดังนี้
- นายณรงค์เดช สุขสามชล โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษานนทบุรี
- นางลัดดา จุลวงศ์ โรงเรียนสัตยาไส จ.ลพบุรี
- นางสาวศศิกานต์ วีระวัฒน์โยธิน โรงเรียนอวังนนทบุรี