ความเป็นมา
มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมเป็นภาคีขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ทั้งด้านการสนับสนุนการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ในการกำหนดเป้าหมาย และร่วมพัฒนาการจัดการศึกษาของจังหวัด และด้านการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน และด้านการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารการศึกษา ซึ่งได้ดำเนินการร่วมกับโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ โรงเรียนต้นแบบในด้านการใช้นวัตกรรมเชิงระบบ โดยมุ่งเน้นในการจัดการเรียนรู้ที่อาศัยนวัตกรรมจิตศึกษา Problem–based Learning (PBL) และ PLC (Professional Learning Community)
ประเด็นในด้านการจัดการเรียนรู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงภายในโรงเรียน จากการจัดการเรียนการสอนรูปแบบเดิม มุ่งสู่การจัดการเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning ครูผู้สอนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างความเข้าใจ องค์ความรู้ และวิธีการในการจัดการเรียนการสอนโดยอาศัยนวัตกรรมจิตศึกษา และ PBL ซึ่งในส่วนของการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยอาศัยปัญหาเป็นพื้นฐานในการสร้างการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน(Problem–based Learning : PBL) ที่มุ่นเน้นสู่สมรรถนะผู้เรียน ตามการออกแบบหลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยการจัดการศึกษาในโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมได้มีการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนรูปแบบด้านการออกแบบหลักสูตรสถานศึกษา ประจำปีการศึกษา 2564 ที่มุ่งเน้นสมรรถนะให้เกิดแก่ผู้เรียน กำหนดสมรรถนะหลัก (Core Competency) ไว้ 5 ประการ เพื่อเป็นเป้าหมายในการพัฒนาความสามารถที่จำเป็นของผู้เรียนต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบันและอนาคต อันได้แก่
1. สมรรถนะการจัดการตนเอง
2. สมรรถนะการสื่อสาร
3. สมรรถนะการรวมพลังทำงานเป็นทีม
4. สมรรถนะการคิดขั้นสูง
5. สมรรถนะการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง
มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญนวัตกรรม โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา และคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดศรีสะเกษ จึงได้ดำเนิน การจัดการอบรมหลักสูตร PBL Advance online ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 โดยมุ่งเน้นต่อการเชื่อมโยงการจัดการเรียนรู้บนฐานสมรรถนะ
วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนากระบวนการในการจัดการเรียนรู้รูปแบบบูรณาการโดยใช้ Problem–based Learning (PBL) ต่อการส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนบนฐานสมรรถนะ
2. เพื่อให้โรงเรียนสามารถเชื่อมโยงการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้ Problem–based Learning (PBL) ต่อหลักสูตรฐานสมรรถนะของโรงเรียนได้
3. เพื่อออกแบบหน่วยการเรียนรู้และการวัดประเมินผลผู้เรียนบนฐานสมรรถนะได้